ถึงคราวนิติวิทยาศาสตร์ถูกสอบสวน

เรื่อง เวโรนีก กรีนวูด
ถ่ายภาพ แม็กซ์ อกีเลรา-เฮลล์เวก

เช้าวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2009

นักปั่นจักรยานใกล้เมืองเลกชาร์ลส์ รัฐลุยเซียนา พบร่างหญิงสาวคนหนึ่งนอนอยู่บนพื้นใกล้ถนนในชนบท ใบหน้าของเธอถูกทุบตีจนเละ แต่รอยสักที่ไม่เหมือนใครทำให้ตำรวจระบุได้ว่า  เธอคือเซียรา บูซิการ์ด วัย 19 ปี นักสืบจากสำนักงานนายอำเภอที่มีนายอำเภอโทนี แมนคูโซ เป็นหัวหน้า ครุ่นคิดถึงเหตุการณ์ในชั่วโมงสุดท้ายของเธอทันที คนกลุ่มสุดท้ายที่พบเห็นบูซิการ์ดขณะยังมีชีวิตให้เธอยืมใช้โทรศัพท์ หมายเลขที่เธอกดหาให้เงื่อนงำแก่ตำรวจ คนที่ทำร้ายบูซิการ์ดทิ้งเบาะแสที่เป็นประโยชน์ไว้เช่นกัน นักสืบได้ตัวอย่างดีเอ็นเอที่ชัดเจนจากเนื้อเยื่อที่ติดอยู่ในซอกเล็บของเธอระหว่างการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด สิ่งที่พวกเขาต้องทำคือการเปรียบเทียบและจับคู่ดีเอ็นเอเพื่อหาตัวฆาตกรให้ได้ หมายเลขโทรศัพท์ที่เธอกดนำตำรวจไปถึงตัวคนงานต่างด้าวผิดกฎหมายชาวเม็กซิกัน “เราจึงขอหมายศาลเพื่อเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอด้วยการป้าย หาล่ามมาช่วยสื่อสาร และประสานงานกับหน่วยตรวจคนเข้าเมือง” แมนคูโซเล่า

แต่ไม่มีดีเอ็นเอของชาวเม็กซิกันคนใดตรงกับตัวอย่างที่ได้จากสถานที่เกิดเหตุเลย อีกทั้งตัวอย่างที่ได้มายังไม่ตรงกับดีเอ็นเอในฐานข้อมูลของเอฟบีไอที่เรียกว่าโคดิสหรือระบบดัชนีดีเอ็นเอแบบรวม (Combined DNA Index System: CODIS) ไม่ว่าจะของอาชญากร บุคคลสาบสูญ หรือผู้ต้องหา

ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015 มอนิกา ควอล หัวหน้านักวิเคราะห์ดีเอ็นเอที่ห้องปฏิบัติการ ซึ่งทำงานให้สำนักงานนายอำเภอ ได้ยินมาว่ามีวิธีการใหม่ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างดีเอ็นเอ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ดีเอ็นเอของผู้ต้องสงสัย หรือการจับคู่กับดีเอ็นเอในฐานข้อมูล วิธีนี้เรียกว่า การแสดงรูปแบบปรากฏด้วยดีเอ็นเอ หรือดีเอ็นเอฟีโนไทป์ (DNA phenotyping) เป็นวิธีที่สร้างลักษณะทางกายภาพของบุคคลขึ้นมา รวมถึงลักษณะเฉพาะอย่างพื้นเพของบรรพบุรุษ สีตากับสีผมตามธรรมชาติ และอาจรวมถึงเค้าโครงหน้า  ควอลนึกถึงคดีของบูซิการ์ดขึ้นมาทันที เพราะคดีนี้แทบจะมีเบาะแสเดียว นั่นคือดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุ  เธอติดต่อแมนคูโซและร้อยโทเลส แบลนชาร์ด ผู้รับผิดชอบคดีนี้ จากนั้นพวกเขาก็ส่งตัวอย่างไปให้เอลเลน เกรย์แทก หัวหน้าแผนกข้อมูลชีวสารสนเทศศาสตร์ (Bioinformatics) ที่พาราบอนนาโนแล็บส์ บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแสดงรูปแบบปรากฏด้วยดีเอ็นเอโดยเฉพาะ

นักศึกษาปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียคอมมอนเวลท์ในริชมอนด์กำลังตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุของสถานการณ์จำลองในห้องพักโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อเรียนรู้การบันทึกพยานหลักฐานอย่างละเอียดลออ

ณ จุดนี้เองที่การสืบสวนคดีพลิกผัน จากหลักฐานที่มีอยู่ นักสืบยังเชื่อว่าฆาตกรน่าจะมีเชื้อสายละตินอเมริกา แต่ภาพบุคคลที่พาราบอนสร้างขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากดีเอ็นเอกลับมีผิวซีดขาวและตกกระ ผมสีน้ำตาล ตาสีเขียวหรือไม่ก็ฟ้า และผลการวิเคราะห์ยังบ่งชี้ว่า เขาน่าจะมีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรปเหนือ

“เราคงต้องถอยหลังมาหนึ่งก้าว และยอมรับว่าเราหลงทางมาตลอด” แมนคูโซบอก ทว่าหลักฐานใหม่ก็ทำให้เขามีความหวัง ดังที่เขาบอกว่า “ผมว่าเราจะคลี่คลายคดีนี้ได้ในที่สุด เพราะเรามีตัวอย่างดีเอ็นเอที่ชัดเจนและเค้าโครงหน้า เรารู้ว่าฆาตกรมีหน้าตาอย่างไรแล้ว เราแค่ยังไม่รู้ว่าเขาเป็น ใคร

การแสดงรูปแบบปรากฏด้วยดีเอ็นเอเพิ่งเข้ามามีบทบาทในงานนิติวิทยาศาสตร์เมื่อไม่นานมานี้ และนักวิจารณ์บางคนก็ตั้งคำถามว่าศาสตร์นี้มีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน  ภาพประกอบ (ภาพคอมโพสิต) ใบหน้าที่สร้างขึ้นเกิดจากการคาดคะเนด้วยพันธุกรรม ไม่ใช่ภาพถ่าย รูปลักษณ์หลายอย่างของแต่ละคนไม่ได้ใส่รหัสไว้ในดีเอ็นเอ  จึงไม่มีทางตรวจพบจากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ เป็นต้นว่า คนคนนี้มีเคราหรือย้อมสีผมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทพาราบอนตั้งชื่อบริการประกอบใบหน้าของตนว่า   สแนปช็อต (SnapShot) มีหน่วยงานด้านกฎหมายกว่า 40 แห่งเป็นลูกค้า

ขณะเดียวกัน วิธีการด้านนิติวิทยาศาสตร์อันทันสมัยอื่นๆกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาและมีการนำมาใช้ในการสืบสวนมากขึ้น เครื่องซีทีสแกนเอื้อให้แพทย์ทำการชันสูตรเสมือนจริงได้ โดยสามารถมองเข้าไปในร่างกายเพื่อหาร่องรอยการฆาตกรรม ซึ่งการชันสูตรทั่วไปทำไม่ได้ นักวิจัยกำลังศึกษาว่า แบคทีเรียบนร่างผู้ตายใช้เป็นนาฬิกาบอกเวลาเสียชีวิตได้หรือไม่ ทั้งยังสืบหาว่า นอกเหนือจากดีเอ็นเอแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะระบุตัวผู้ก่อเหตุโดยใช้ลักษณะเฉพาะทางจุลินทรีย์ (microbial signature) ของแบคทีเรียที่ผู้ต้องสงสัยทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.