ฉลามแห่งตำนานเรืออัปปาง

เรื่อง เกลนน์ ฮอดเจส
ภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี

ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่า ฉลามครีบด่างเป็นฉลามในทะเลเปิดที่มีจำนวนมากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก หนังสือที่ได้รับการยอมรับชื่อ ธรรมชาติวิทยาของฉลาม (The Natural History of Sharks) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1969 ยังบรรยายว่า  พวกมัน “อาจเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก  คำว่าขนาดใหญ่หมายถึงมีน้ำหนักมากกว่า 45 กิโลกรัม” ฉลามครีบด่างปัจจุบันแทบสูญพันธุ์ไปเพราะการประมงเชิงพาณิชย์และการค้าหูฉลาม ขณะที่วงการวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจพวกมันน้อยอย่างน่าประหลาด ซ้ำร้ายสาธารณชนยังห่วงใยฉลามชนิดนี้น้อยกว่าเสียอีก

“เราทำลายล้างฉลามชนิดนี้ทั่วโลกเลยครับ” เดเมียน แชปแมน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนที่ศึกษาฉลามชนิดนี้ กล่าว “แต่พอผมเอ่ยถึง ‘ฉลามครีบด่าง’ คนจำนวนมากกลับไม่รู้ว่าผมพูดถึงอะไร”

ถ้าคุณเคยชมภาพยนตร์เรื่อง จอว์ส คุณจะรู้จักฉลามครีบด่างอยู่บ้าง มันน่าจะเป็นฉลามชนิดหลักที่โจมตีลูกเรือ ยู.เอส.เอส. อินเดียแนโพลิส หลังจากถูกเรือดำน้ำญี่ปุ่นโจมตีจนอับปางในช่วงท้ายๆของสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างภาพเชิงลบในสายตาคนรุ่นหลังผ่านคำพูดของตัวละครอย่างกัปตันควินต์  ผู้บอกเล่าประสบการณ์การรอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น คำบอกเล่าช่วงท้ายๆสรุปว่า “มีคน 1,100 คนลอยคออยู่ในน้ำ ในจำนวนนี้รอดชีวิตมาได้ 316 คน ที่เหลือตกเป็นเหยื่อฉลาม”

ฉลามครีบด่างที่มีแถบระบุอัตลักษณ์และอุปกรณ์ติดตามตัวผ่านดาวเทียมว่ายน้ำใกล้เกาะแคต ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท้ายๆที่ยังพบเห็นฉลามชนิดนี้ ก่อนจะมีการศึกษาด้วยการติดแถบติดตาม นักวิทยาศาสตร์แทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับฉลามชนิดนี้

อย่างไรก็ดี เรื่องที่ควินต์เล่ามีปัญหาคือ แม้จะมีความถูกต้องตามข้อเท็จจริงอยู่บ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ให้ข้อมูลผิดๆเกี่ยวกับประสบการณ์ของลูกเรือ เพราะเรื่องจริงมีอยู่ว่า ลูกเรือ อินเดียแนโพลิส จากจำนวนเกือบ 1,200 คน มีอยู่ราว 900 คนที่กระโดดลงน้ำทั้งเป็น ก่อนที่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตอย่างทนทุกข์ทรมานในช่วงห้าวันต่อมา สุดท้ายแล้วมีผู้รอดชีวิตเพียง 317 คนเท่านั้น ในน้ำมีฉลามจำนวนมาก และพวกมันก็เข้าโจมตีอย่างน่าสยดสยอง

แต่เมื่อผมถาม คลีทัส ลีโบว์ วัย 92 ปี ลูกเรือ อินเดียแนโพลิส ชาวเท็กซัสผู้มีน้ำเสียงนุ่มนวลว่า ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของเขาขณะลอยคออยู่ในน้ำคืออะไร เขาตอบก่อนที่ผมจะถามจบด้วยซ้ำว่า “ความกระหายครับ ผมยอมแลกทุกอย่างกับน้ำสักแก้วเลยละ” แล้วฉลามล่ะ “คุณจะเห็นมันป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ๆเป็นบางครั้ง แต่พวกมันไม่ยุ่งกับเราหรอก” ไลล์ อูเมนฮอฟเฟอร์ วัย 92 บอกผม “คุณต้องตื่นตัวเมื่อมีฉลามอยู่ใกล้ๆ ถ้าพวกมันเข้ามาใกล้เกินไป คุณก็ถีบมันออกไป  แต่ผมว่าผมไม่ได้กลัวมันเสียทีเดียวหรอกครับ เรายังมีปัญหาอื่นๆอีกถมเถไป”

ครีบอกลักษณะคล้ายปีกเอื้อให้ฉลามครีบด่างร่อนหาเหยื่อไปในมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง เมื่อพบสิ่งที่อาจกินได้ มันจะเข้าไปตรวจสอบอย่างไม่ลดละ

การเข้าใจเรื่องให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการสร้างภาพว่าฉลามครีบด่างเป็นนักฆ่าตะกละตะกรามจนดูเหมือนชนิดพันธุ์ที่ไม่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อาจก่อให้เกิดความเสียหายตามมา  บนบก เป็นที่เข้าใจกันดีแล้วว่าผลกระทบจากการกำจัดสัตว์นักล่าหลักๆทำให้เกิดหายนะทางนิเวศวิทยา การสูญพันธุ์ของฉลามครีบด่างจะส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อระบบนิเวศมหาสมุทร ซึ่งเคยมีสัตว์เหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก  เราไม่มีทางรู้ได้เลย  ทุกวันนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับฉลามมีน้อยมาก  แม้แต่การพยายามทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้พวกมันลดจำนวนลงก็ไม่ต่างจากการพยายามต่อภาพปริศนาที่ชิ้นส่วนจำนวนมากสูญหายไป ส่วนเรื่องที่ว่าการลดจำนวนของฉลามชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ชนิดอื่นอย่างไรนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง  และถ้าเราเข้าใจผิดคิดว่าฉลามเหล่านี้เป็นสัตว์ร้าย ก็ย่อมไม่ใส่ใจที่จะค้นหาชิ้นส่วนเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน

ฉลามครีบด่างยาวสองเมตรครึ่งถึงสี่เมตรเมื่อโตเต็มวัย   มีขนาดใหญ่พอจะก่ออันตรายได้อย่างแน่นอน อีกทั้งพวกมันยังเป็นฉลามใจกล้าบ้าบิ่นและไม่ย่อท้อ  ท้องทะเลเปิดเปรียบเสมือนทะเลทรายในเชิงนิเวศวิทยา ฉลามครีบด่างปรับตัวให้ใช้พลังงานน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการสำรวจไปทั่วท้องทะเล และใช้เวลานานที่สุดเท่าที่จำเป็นในการตรวจสอบสิ่งที่อาจกินเป็นอาหารได้  พวกมันจึงร่อนไปในท้องน้ำด้วยครีบอกเหมือนปีกยาวๆ เมื่อพบสิ่งที่อาจเป็นแหล่งอาหาร เช่น กะลาสีที่ลอยคออยู่รอบเรืออับปาง ซากวาฬ และฝูงปลาทูน่าพวกมันจะพุ่งเข้าไปสำรวจดู  หากคุณเป็นอาหารชนิดเดียวในบริเวณนั้น ฉลามครีบด่างจะกลายเป็นฉลามแสนอันตรายขึ้นมาทันที แต่ถ้าไม่ใช่ พวกมันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรนัก

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของฉลามครีบด่างมีเกร็ดน่าสนใจที่สุดอยู่เรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรืออับปางหรือนักดำน้ำแต่อย่างใด ในช่วงทศวรรษ 1950 นักวิจัยการประมงในอ่าวเม็กซิโกต้องประหลาดใจเมื่อผ่าท้องฉลามครีบด่างแล้วพบปลาทูน่าขนาด 2.5 และ 4.5 กิโลกรัมอยู่ภายใน เพราะฉลามครีบด่างว่ายน้ำได้ไม่เร็วพอจะไล่ล่าปลาทูน่าขนาดเล็ก อยู่มาวันหนึ่ง พวกเขาเห็นฉลามครีบด่างฝูงใหญ่ว่ายน้ำอ้าปากฝ่าฝูงปลาทูน่าอยู่บนผิวน้ำ “ฉลามครีบด่างไม่ได้พยายามไล่ตามหรืองับปลาทูน่าหลายร้อยตัวหรอก” นักวิจัยรายงาน “มันแค่รอจังหวะที่ปลาทูน่าบังเอิญว่ายน้ำหรือกระโดดเข้ามาในปากเอง”

ปัจจุบัน ฉลามครีบด่างสองตัวก็จัดว่ามีมากแล้ว แต่เมื่อ 50 ปีก่อน เราพบเห็นฉลาดชนิดนี้ได้นับร้อยตัว แม้ว่าคำเล่าลือเรื่องพฤติกรรมกินคนของพวกมันจะถูกขยายความเกินจริง แต่พวกมันก็เคยมีชื่อฉาวโฉ่เรื่องกลุ้มรุมผู้รอดชีวิตจากเรืออับปาง

แน่ล่ะ ปัจจุบันไม่น่าจะมีใครได้เห็นพฤติกรรมเช่นนั้นอีก และที่ขัดแย้งอยู่ในตัวก็คือ นักวิจัยผู้บันทึกเรื่องน่าตื่นเต้นนี้กลับช่วยปูทางสู่จุดจบของพวกมันเสียเอง  “นักวิจัยไปที่นั่นเพื่อดูว่าจะพัฒนาการประมงพาณิชย์ประเภทใดขึ้นในน่านน้ำของสหรัฐฯได้บ้าง” จูเลีย บอม นักนิเวศวิทยาทางทะเลผู้เปรียบเทียบข้อมูลในช่วงทศวรรษ 1950 กับข้อมูลการจับปลาด้วยเบ็ดราวที่ได้มาเมื่อไม่นานมานี้เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงประชากรฉลามครีบด่างในอ่าวเม็กซิโก บอก “พวกเขาวางเบ็ดราวไว้จับปลาทูน่าและฉลามก็แสนจะชุกชุม” พอฉลามกินปลาทูน่าที่ติดเบ็ดจึงติดเบ็ดเสียเอง “พวกเขาไม่รู้ว่าจะพัฒนาการประมงปลาทูน่าเชิงพาณิชย์ได้ไหม เพราะมีฉลามอยู่มากมายเหลือเกิน”

ชาวประมงคิดหาทางออกได้สองวิธี คือ ยิงฉลามก่อนที่พวกมันจะกินปลาทูน่าติดเบ็ด และวางเบ็ดราวแยกต่างหากสำหรับจับฉลาม  เพราะพวกเขาตระหนักดีว่าครีบฉลามมีมูลค่า เมื่อความไม่แยแสฉลามมารวมกับความต้องการซุปหูฉลามที่เพิ่มขึ้นในเอเชีย ประชากรฉลามทั่วโลกจึงถูกทำลายล้างในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อฉลามครีบด่าง งานวิจัยของบอมนำไปสู่ข้อสรุปเมื่อปี 2004 ว่า ประชากรฉลามครีบด่างในอ่าวเม็กซิโกลดลงถึงร้อยละ 99 และแม้งานวิจัยของเธอจะถูกติติง แต่งานวิจัยอื่นๆก็พบว่าฉลามครีบด่างในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบเช่นกัน

พอถึงปี 2010 ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ฉลามครีบด่างตกที่นั่งลำบากจนองค์กรประมงนานาชาติขนาดใหญ่ห้าองค์กรผู้กำกับดูแลการจับปลาฉนากและปลาทูน่า สั่งห้ามเรือเก็บฉลามครีบด่างที่จับได้ไว้ นับเป็นฉลามชนิดเดียวในขณะนั้นที่ได้รับความคุ้มครองเช่นนี้ ต่อมาเมื่อปี 2013 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) ก็ออกข้อกำหนดซึ่งลดปริมาณการค้าครีบฉลามถูกกฎหมายลงอย่างมาก

คำถามคือ การคุ้มครองนี้น้อยเกินไปและสายเกินไปหรือไม่ ประชากรปลากระดูกแข็งจำนวนมากฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังถูกจับมากเกินขนาด เพราะพวกมันวางไข่ได้ตั้งแต่ช่วงต้นของวงจรชีวิตและวางไข่ครั้งละหลายพันฟอง แต่ฉลามส่วนใหญ่ถึงวัยเจริญพันธุ์ช้าและตกลูกครอกเล็กๆทุกหนึ่งหรือสองปี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ฉลามเสี่ยงต่อการทำประมงเกินขนาดและสูญพันธุ์ได้ง่าย  และในกรณีของฉลามครีบด่าง “เรายังไม่รู้ว่าพวกมันตกลูกทุกปีหรือทุกสองปีด้วยซ้ำไป” เอ็ดด์ บรุกส์ นักชีววิทยาทางทะเล บอก “คุณจะเริ่มต้นอนุรักษ์สัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งได้อย่างไร ถ้าคุณมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของมันน้อยเหลือเกิน”

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.