สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กับภารกิจปฏิรูปวาติกัน

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กับภารกิจปฏิรูปวาติกัน

คราวที่คนแปลกหน้าราว 7,000 คน ได้เห็นพระองค์เป็นครั้งแรกอย่างไม่คาดฝันบนเวทีสาธารณะ  พระองค์ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะปาปา   ทว่ามีบางสิ่งที่น่าประทับใจในตัวชายผู้นี้   ภายในสตาเดียมลูนาปาร์กใจกลางกรุงบัวโนสไอเรส  เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและชาวคริสต์นิกายเอวังเยลิสต์ (Evangelist) มาร่วมงานพิธีที่จัดขึ้นสำหรับคริสตชนทุกนิกาย  ศาสนบริกร (ศิษยาภิบาล) คนหนึ่งบนเวทีเชิญพระสังฆราช (บิชอป) ของเมืองหลวงแห่งนี้ขึ้นกล่าวบางสิ่งกับผู้เข้าร่วมพิธี  พวกเขาต้องประหลาดใจ เพราะบุรุษที่ก้าวยาวๆขึ้นมาข้างหน้านั่งอยู่ด้านหลังตลอดเวลาหลายชั่วโมงราวกับเป็นบุคคลที่ไม่สลักสำคัญใดๆเลย  แม้จะดำรงสมณศักดิ์เป็นถึงพระคาร์ดินัลแต่ท่านมิได้ห้อยสร้อยกางเขนตามธรรมเนียม คงสวมเพียงเสื้อเชิ้ตและเสื้อนอกกระดุมสองแถวสีดำแบบนักบวชไม่ต่างจากบาทหลวงธรรมดาๆ ที่เคยเป็นเมื่อหลายสิบปีก่อน  ในเวลานั้นหรือเมื่อเก้าปีที่แล้ว  เป็นเรื่องยากที่จะคิดจินตนาการว่า  ในวันหนึ่งข้างหน้า  สุภาพบุรุษชาวอาร์เจนตินาที่สมถะและเคร่งขรึมผู้นี้จะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะบุคคลผู้เปี่ยมบารมีและแรงศรัทธา

ในช่วงต้น  ท่านพูดภาษาแม่คือภาษาสเปนด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา  แต่หนักแน่น  โดยไม่มีโน้ตหรือโพยใดๆ  ท่านไม่ได้เอ่ยถึงช่วงเวลาที่เคยมองชาวคริสต์นิกายเอวังเยลิสต์อย่างหมิ่นๆ  แบบเดียวกับสงฆ์คาทอลิกชาวลาตินอเมริกันทั่วไป  แต่บุรุษผู้มีอำนาจสูงสุดใน “ศาสนจักรจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว” ของอาร์เจนตินากลับกล่าวว่า  ความแตกต่างเหล่านี้หาได้มีความหมายในสายตาของพระเจ้า  ท่านกล่าวว่า  “เป็นเรื่องดีเพียงใดที่พวกเราพี่น้องได้มารวมตัวกัน  สวดภาวนาร่วมกันดีเพียงใดที่ไม่มีใครยกประวัติแต่หนหลังมากล่าวอ้างบนเส้นทางแห่งศรัทธา  เราแตกต่างกันก็จริง  แต่เราต้องการและเริ่มหันหน้าเข้าหากันแล้ว เป็นความแตกต่างแบบไม่แตกแยก”

ท่านผายมือทั้งสองออก  ใบหน้ามีชีวิตชีวาขึ้นมา  น้ำเสียงสั่นสะท้านด้วยความรู้สึกแรงกล้า ท่านวิงวอนต่อพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระบิดา  เราแบ่งแยก ได้โปรดหลอมรวมเราเป็นหนึ่งเดียวกันเถิด”

พระอัครสังฆราชองค์นั้นคือ คอร์เก มารีอา เบร์โกกลีโอ หรือผู้จะกลายมาเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส(ฟรานซิส) ในเวลาต่อมา

“ข้าพเจ้าต้องลงมือเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆในทันที” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสตรัสแก่สหายร่วมชาติชาวอาร์เจนตินาหกคนในเช้าวันหนึ่ง  เพียงสองเดือนหลังจากพระคาร์ดินัล 115 องค์ในที่ประชุมลับ (conclave) ของพระราชวังวาติกัน ตัดสินใจเลือกตัวแทนหนึ่งในพวกเขาซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักให้ดำรงตำแหน่งสันตะปาปา  ในสายตาผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีทั้งคนที่ยินดีและคนที่อึดอัดใจ ดูเหมือนว่าสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ได้ทรงเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งไปแล้วภายในชั่วข้ามคืน  พระองค์ทรงเป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่เป็นชาวลาตินอเมริกา  เป็นพระองค์แรกที่มาจากคณะเยสุอิต (คณะแห่งพระเยซูเจ้า)  เป็นพระองค์แรกในเวลากว่า 1,000 ปีที่มิได้ถือกำเนิดในทวีปยุโรป และเป็นพระองค์แรกที่ทรงเลือกพระนาม “ฟรังซิส”  เพื่อยกย่องนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี  วีรบุรุษของคนยากไร้

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงปฏิเสธที่จะประทับในห้องชุดของพระสันตะปาปาภายในพระราชวังสมเด็จพระสันตะปาปา (Apostolic Palace) แต่ทรงเลือกห้องชุดสองห้องนอนที่กาซาซันตามาร์ตา (Casa Santa Marta)  ซึ่งเป็นเรือนรับรองแขกของวาติกันแทน  ในการเสด็จออกพบสื่อมวลชนนานาชาติครั้งแรก  พระองค์ทรงประกาศความมุ่งหวังอันดับแรกว่า  “ข้าพเจ้าหวังให้พระศาสนจักรยากจนและทำเพื่อคนยากจน”    และแทนที่จะทรงประกอบพิธีมิสซาในตอนเย็นเพื่อฉลองวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ [Holy Thursday] ที่มหาวิหารสักแห่ง และทำพิธีล้างเท้าคณะสงฆ์ตามธรรมเนียม พระองค์กลับเสด็จไปเทศน์ในคุกเยาวชนแห่งหนึ่งแทน และทรงล้างเท้าให้ผู้ต้องขัง 12 คน รวมทั้งสตรีและชาวมุสลิมทรงเป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่ทำเช่นนั้น เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นภายในเดือนแรกของการเป็นพระสังฆราชแห่งกรุงโรม

กระนั้นเหล่าสหายชาวอาร์เจนตินาของสันตะปาปาพระองค์ใหม่ทราบดีว่า “การเปลี่ยนแปลง” ของพระองค์หมายถึงอะไร บุรุษที่พวกเขารู้จักดีผู้นี้จะไม่ทำสิ่งที่เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์เท่านั้น  พระองค์ทรงเป็นนักปฏิบัติตัวยง  เป็น ปอร์เตโญ (porteño) ผู้รอบรู้ทางโลกดังที่ชาวบัวโนสไอเรสมักเรียกตัวเอง  พระองค์ทรงปรารถนาให้พระศาสนจักรคาทอลิกสร้างความเปลี่ยนแปลงถาวรต่อชีวิตผู้คน เช่นที่พระองค์ตรัสเสมอว่า ให้เป็นโรงพยาบาลในสนามรบ ดูแลคนบาดเจ็บทุกคน โดยไม่คำนึงว่าพวกเขาต่อสู้กับฝ่ายไหน

หลังเสด็จมาถึงในรถฟอร์ดโฟกัสธรรมดาๆ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสก็เสด็จเข้าสู่พระราชวังสมเด็จ พระสันตะปาปาพร้อมด้วยจอร์จ แกนชไวน์ เลขาธิการวังวาติกัน ปกติแล้วพระสันตะปาปาจะทรงพำนักที่พระราชวังแห่งนี้ แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเลือกห้องชุดเรียบง่ายที่อยู่ใกล้ๆแทน

การขึ้นสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาของท่านไม่ใช่เรื่องโชคช่วย  ดังที่มัสซีโม ฟรังโก นักเขียนชาวโรมอธิบายว่า “การได้รับเลือกของพระองค์มีที่มาจากความเจ็บปวด” จากการลาออกจากตำแหน่งของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่สิบหกอย่างกะทันหัน (ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระยะเวลาเกือบ 600 ปี)  และจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นของเหล่าคาร์ดินัลหัวก้าวหน้าว่า  ความคร่ำครึและมุ่งเน้นแต่ความต้องการของชาวยุโรปของสันตะสำนัก (The Holy See) กำลังทำให้พระศาสนจักรคาทอลิกฟอนเฟะจากภายใน

ขณะประทับในห้องรับแขกที่ห้องชุดของพระองค์ในเช้าวันนั้น  พระองค์ตรัสกับพระสหายเก่าถึงความท้าทายใหญ่หลวงที่รออยู่  ทั้งความไร้ระเบียบทางการเงินในสถาบันแห่งกิจการด้านศาสนา (Institute for the Works of Religion หรือเรียกง่ายๆว่า ธนาคารวาติกัน)  ความโลภต่ออามิสของคณะเจ้าหน้าที่บริหารที่ทำให้เกิดความเสื่อมขึ้นในสันตะสำนัก ข่าวคราวเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ศาสนจักรช่วยปกป้องบาทหลวงที่กระทำความผิดทางเพศต่อเยาวชนที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง  นอร์แบร์โต ซารักโก  พระสหายและนักวิชาการผู้มาเข้าเฝ้าในเช้าวันนั้นด้วยบอกว่า  พระองค์ตั้งพระทัยที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้โดยเร็ว  ทั้งๆที่ทรงทราบดีว่า  “จะสร้างศัตรูมากมาย แต่อย่าลืมว่าพระองค์ไม่ใช่คนอ่อนประสบการณ์นะครับ”

ซารักโกจำได้ว่า  เคยกราบทูลถึงความกังวลที่มีต่อความกล้าหาญของพระองค์ว่า  “คอร์เก พวกเรารู้ดีว่าท่านไม่ได้สวมเสื้อเกราะกันกระสุน  มีคนบ้าอยู่ทั่วเลยนะครับ”

พระองค์ตรัสตอบเรียบๆว่า  “พระเจ้าทรงให้ข้าพเจ้ามาอยู่ตรงนี้  พระองค์ก็ต้องทรงระวังให้ข้าพเจ้าด้วย” แม้พระองค์จะไม่ได้ร้องขอตำแหน่งสันตะปาปา  แต่ทรงยอมรับว่า  ทันที่มีการขานพระนามของพระองค์ในที่ประชุมลับ  ทรงรู้สึกถึงความสงบศานติอย่างใหญ่หลวง  และแม้ว่าอาจทำให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง  พระองค์ก็ทรงปลอบใจบรรดาสหายว่า “ข้าพเจ้ายังคงรู้สึกถึงความสงบเช่นนั้น”

เรื่อง โรเบิร์ต เดรเพอร์
ภาพถ่าย เดฟ โยเดอร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.