เรื่องและภาพถ่าย เดวิด ดูบิเลต์ และเจนนิเฟอร์ เฮย์ส
สิบห้าปีผ่านไปนับตั้งแต่เรามาสำรวจการ์เดนส์ออฟเดอะควีน (Gardens of the Queen) ครั้งสุดท้าย ในหมู่เกาะปริ่มน้ำซึ่งเรียงตัวคล้ายสายสร้อย เกาะเล็กๆที่มีป่าชายเลนขึ้นอยู่ และแนวปะการังห่างจากชายฝั่งประเทศคิวบาประมาณ 80 กิโลเมตรแห่งนี้ เราค้นพบทะเลอันพิสุทธิ์ที่ชวนให้เราพิศวงด้วยสรรพชีวิตอันน่าตื่นตา
เรากลับมาคิวบาด้วยความกังวลถึงผลพวงจากกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราจะพบเห็นในอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,200 ตารางกิโลเมตร ในการดำน้ำครั้งแรก เราลงไปยังกลุ่มปะการังเขากวางขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งและลดจำนวนลงมากทั่วทะเลแคริบเบียน เราเข้าไปอยู่ในดงปะการังหนา พลางรู้สึกทึ่งเมื่อเห็นปลากะพงแสมแถบน้ำเงินและปลากะพงต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ท่ามกลางกิ่งปะการังที่แผ่กว้าง นี่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเห็น เราหวนคืนสู่โลกแห่งปะการังอันรุ่มรวยไปด้วยฝูงปลา เช่นเดียวกับที่ทะเลแคริบเบียนปรากฏแก่สายตาเราเมื่อกว่าทศวรรษก่อน
เช้าวันหนึ่ง เราเข้าไปในป่าชายเลน และแหวกว่ายผ่านป่าน้ำขังที่เต็มไปด้วยฝูงปลาข้างเงิน เราออกไปสู่น่านน้ำเปิดเพื่อดำน้ำกับฉลามซิลกีที่ปราดเปรียวหลายสิบตัว ตกค่ำเรากลับไปยังป่าชายเลนอีกครั้ง และดำลงไปในน้ำอันมืดมิด ด้วยไฟฉายกำลังแรงสูง เราแกะรอยตามจระเข้พันธุ์อเมริกันตัวหนึ่ง การได้พบกับเหยื่อมากมายขนาดนั้นและสัตว์นักล่าอันดับสุดยอดภายในระบบนิเวศเพียงระบบเดียว อย่าว่าแต่ในเวลาเพียงวันเดียว เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ
ฟาเบียน ปีนา อามาร์โกส นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล เน้นย้ำว่า โอเอซิสกลางมหาสมุทรแห่งนี้อุดมสมบูรณ์เพราะคิวบาให้ความคุ้มครองอย่างแข็งขันแก่เขตอนุรักษ์ จวบจนปัจจุบัน ระบบนิเวศทางทะเลแห่งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถฟื้นตัวจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว แต่ยังคงเผชิญภัยคุกคามแบบเดียวกับที่แนวปะการังอื่นๆประสบ เมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น มีความเป็นกรดมากขึ้น และระดับทะเลสูงขึ้น
เมื่อมาตรการคว่ำบาตรคิวบาของสหรัฐฯสิ้นสุดลง มนตร์เสน่ห์ของน่านน้ำของคิวบาย่อมดึงดูดชาวอเมริกันให้มากันมากขึ้นอย่างแน่นอน การหาจุดสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวเชิงนิเวศกับการอนุรักษ์จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ชาวคิวบารู้ว่าเดิมพันคืออะไร นั่นคือเพชรยอดมงกุฎที่มีชีวิตแห่ง ทะเลแคริบเบียน นั่นเอง