การดูทีวี เน็ตฟลิกซ์ ยูทูป ดิสนีย์พลัส หรือรายการทีวีต่าง ๆ เป็นวิธีการผ่อนคลายอย่างหนึ่งของมนุษย์ เราหลายคนเปิดหน้าจอเหล่านี้และเอนหลังดูหลังจากเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน ซึ่งแต่ละรายการก็แตกต่างกันไปตามความชอบของแต่ละคน เช่นเดียวกัน ในตอนนี้วิทยาศาสตร์เผยว่าสุนัขแต่ละตัวก็ชอบรายการทีวีไม่เหมือนกัน
ตามรายงานใหม่ที่เผยแพร่บนวารสาร Scientific Reports ชี้ให้เห็นว่า น้องหมาจะชอบดูหน้าจอแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับอุปนิสัยของแต่ละตัว ลักษณะนิสัยบางอย่างเช่น ความกระตือรือร้นหรือระดับความวิตกกังวล สามารถเป็นบ่งชี้ได้ว่าน้องหมาจะดูหน้าจออย่างไรบ้าง
“บุคลิกภาพของสุนัขมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการรับชม” เจฟฟรีย์ แคทซ์ (Jeffrey Katz) หัวหน้าทีมวิจัย ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา และนักวิจัยด้านกระบวนการรับรู้เชิงเปรียบเทียบแห่งมหาวิทยาลัยออเบิร์นในรัฐแอละแบมา กล่าว
สุนัขที่มีบุคลิกภาพตื่นตัวมากกว่า ก็จะมีแนวโน้มที่จะติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวบนหน้าจอมากกว่า ในขณะที่สุนัขซึ่งมีบุคลิกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลก็มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่ใช่สัตว์บนหน้า เช่น เสียงกริ่งประตูหรือรถยนต์มากกว่า
ความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถมอบสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีขึ้นให้กับน้องหมาได้ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจิตวิทยาสัตว์เลี้ยงและการทดสอบมาตรฐานสำหรับการมองเห็นของสุนัขได้อีกด้วย
แคทซ์ เริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า “ผมเคยเห็นพวกมันดูทีวีหรือจ้องไปที่หน้าจอ แต่เรารู้จริง ๆ หรือไม่ว่าพวกมันได้รับอะไรจากทีวีบ้าง” เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์คิดว่า “พวกมัน (น้องหมา) ไม่สามารถเห็นสิ่งเดียวกับที่เราเห็น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เหมือนกัน (เขาหมายถึงการรับรู้ว่าเข้าใจเหมือนกันหรือไม่)”
โดยทั่วไปแล้ว น้องหมาจะมีการมองเห็นแบบไดโครมาติก (dichromatic) ซึ่งก็คือมีเซลล์รูปกรวยที่ไวต่อสีเพียง 2 ชนิดในดวงตา ในขณะที่มนุษย์เรามี 3 ชนิด นอกจากนี้น้องหมายังมีอัตราการรวมแสงที่กระพริบเร็วกว่า หรือก็คือตัวกำหนดว่า ‘ภาพ’ จะต้องกระพริบเร็วแค่ไหนจึงจะรับรู้ว่าเป็นวิดีโอต่อเนื่อง (กล่าวอย่างง่ายคือ เฟรมเรท (framerate) ตามมาตรฐานการมองเห็นของมนุษย์ที่ไหลลื่นคือ 30 fps หรือ 30 ภาพต่อวินาที)
ซึ่งหมายความว่า การที่น้องหมามีอัตราการรวมแสงกระพริบเร็วกว่า เมื่อมาดูวิดีโอที่มนุษย์ดูตามาตรฐาน น้อง ๆ จะมองเห็นภาพนิ่งที่กระพริบแทนที่จะเป็นวิดีโอต่อเนื่องเรียบเนียน ทั้งนี้เทคโนโลยีปัจจุบันมีความละเอียดและเฟรมเรทที่ดีขึ้นมาก (มากกว่า 60 fps) ขึ้นไป ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงไม่แน่ใจว่าน้องหมาจะมองเห็นจริง ๆ ยังไงบ้าง
เพื่อดูว่าสัตว์เลี้ยงชนิดนี้ ‘รับรู้’ ทีวีอย่างไร ทีมวิจัยจึงได้ทำการสำรวจทางออนไลน์กับเจ้าของสุนัข 453 คนเกี่ยวกับพฤติกรรมเมื่อน้องหมาอยู่หน้าจอ รวมถึงคำถามพื้นฐาน แบบประเมินอารมณ์ ลักษณะบุคลิกภาพ และคำถามใหม่ ๆ ในชื่อ ‘แบบประเมินการดูโทรทัศน์ของสุนัข’
เช่น น้องหมาตะปบทีวีบ่อยแค่ไหน (ตั้งแต่ 0 คือไม่เคยเลย ไปจนถึง 5 คือบ่อยมาก) ไม่ก็ส่งเสียงตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นในโทรทัศน์หรือหน้าจอ ในรายการประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่มีสุนัขตัวอื่นอยู่ด้วย สัตว์เลี้ยงชนิดอื่น สัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง มนุษย์ และวัตถุที่ไม่มีชีวิตเช่นรถยนต์ จากนั้นรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำมาประเมิน
เจ้าของสุนัขส่วนใหญ่ระบุว่า สัตว์เลี้ยงของพวกเขาตอบสนองต่อเนื้อหาเกี่ยวกับสัตว์ แม้ว่าจะมีแค่เสียงหรือแค่ภาพวิดีโออย่างเดียวเท่านั้น มีจำนวนน้อยที่บอกว่าสุนัขของพวกเขามีปฏิกิริยากับเนื้อหาที่ไม่ใช่สัตว์เป็นประจำ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ บุคลิกภาพของน้องหมาแต่ละตัวดูเหมือนจะมีผลต่อประเภทรายการที่ชอบดู
เจ้าของที่ให้คะแนนน้องหมาตัวเองว่าตื่นเต้นง่ายหรือกระตือรือร้นนั้น ส่วนใหญ่จะรายงานว่าน้องหมาพยายามติดตามวัตถุหรือสัตว์นอกจากเช่น การตะปบ ค้นหา หรือมองหาออกมานอกจอโทรทัศน์
ตรงกันข้ามกับเจ้าของที่รายงานว่าน้องหมาของตนมีนิสัยค่อนข้างหวาดกลัวหรือวิตกกังวลมา พวกเขา (น้องหมา) มีแนวโน้มจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่ใช่สัตว์ในอัตราที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เสียงกริ่งประตู เสียงแตรรถ หรือแม้แต่ใบหน้ามนุษย์ ซึ่งมักจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาเกี่ยวกับ ‘การตกใจ’
“เขาชอบดูรายการเกี่ยวกับสุนัขเป็นพิเศษ” เลน มอนท์โกเมอรี่ (Lane Montgomery) นักวิทยาศาสตร์ด้านการรับรู้และพฤติกรรม เล่าถึง ‘แจ็ค’ น้องหมาของเธอเองที่มักมีนิสัยกระตือรือร้นอยู่เสมอ
ขณะที่ ซีน่า ดาวลิ่ง-ไกเยอร์ (Seana Dowling-Guyer) นักพฤติกรรมศาสตร์ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยนี้ เล่าว่า “ฉันคิดหลายครั้งว่าทีวีนั้นมีประโยชน์ แต่ความจริงแล้วก็คือ บางครั้งมันมากเกินไป มันกระตุ้นมากเกินไป” โดยเฉพาะต่อสุนัขที่มีนิสัยวิตกกังวล
ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับงานก่อนหน้าในปี 2024 ที่ระบุว่าเนื้อหาในโทรทัศน์หรือหน้าจอที่เกี่ยวกับสุนัขนั้น สามารถดึงดูดความสนใจได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่าสายพันธุ์และอายุมีความเกี่ยวข้อง ‘เล็กน้อย’ ต่อการดูทีวีของน้องหมา
กล่าวคือ สุนัขที่เลี้ยงเพื่อกีฬามีแนวโน้มสนใจสัตว์ในโทรทัศน์มากกว่า ตรงกันข้ามกับสุนัขที่มีอายุมากกว่า ดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจโทรทัศน์มากเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม โดยหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen scientist) มากขึ้น
โดยให้เจ้าของบันทึกวิดีโอของสุนัขที่กำลังดูหน้าจอ อย่างไรก็ตาม การที่น้องหมาจะดูหน้าจอหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวและอารมณ์อย่างมาก ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลจะต้องมีความท้าทายสูง ทว่านักวิทยาศาสตร์ก็สนใจที่จะรู้จริง ๆ
“เราอยากคิดค้นสิ่งเร้าแบบทั่วไปที่สุนัขทุกตัวชอบ” แคทช์ กล่าว การประเมินว่าสุนัขต้องการดูอะไรทางทีวีนั้น “ทำได้ง่ายสำหรับสุนัขแต่ละตัว แต่ก็ยากกว่ามากสำหรับสุนัขที่อยู่ด้วยกันเป็นกลุ่ม”
ด้วยเหตุนี้การเปิดสารคดีธรรมชาติทั่วไปให้น้องหมาดูในบ้านตอนที่คุณออกไปซื้อของ ก็อาจเป็นเรื่องยุ่งยากกว่าที่คิด โดยเฉพาะเมื่อมีน้องหมาหลาย ๆ ตัว นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยพัฒนาการทดสอบการมองเห็นของน้องหมาให้มีมาตรฐานและและอีกยิ่งขึ้นด้วย
แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจเกิดจากสาเหตุที่อบอุ่นหัวใจกว่านั้นก็คือ
“พวกเขาอาจจะกำลังดูอยู่เพราะเรา (เจ้าของ) กำลังดูอยู่” เฟรยา โมวัต (Freya Mowat) จักษุแพทย์สัตวแพทย์ประจำมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผู้วิจัยด้านจิตวิทยาการมองเห็นในสุนัข ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยใหม่นี้ กล่าว
“เรากำลังนั่งอยู่บนโซฟากับเพวกเขา และมันก็เป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและผ่อนคลาย”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา