ฉลามดุทะเลเดือด

ฉลามดุทะเลเดือด

ทางใต้สุดของเกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ฟาการาวา ในแถบเฟรนช์โปลินีเซีย  ช่องแคบหนึ่งตัดผ่านแนวพืดหินปะการังแห่งนี้   ทุกปีในเดือนมิถุนายน ปลากะรัง (Epinephelus polyphekadion) หลายพันตัวจะมารวมตัวกันในช่องแคบดังกล่าว  ซึ่งมีพื้นที่พอๆกับสนามฟุตบอลสองสามสนามต่อกัน เพื่อให้กำเนิดปลารุ่นต่อไป  กระแสน้ำเชี่ยวกรากไหลหลากเข้ามาทุกๆหกชั่วโมง  เติมเต็มและพาน้ำออกจากแอ่งแคบๆนั้น   ปลากะรังตัวอ้วนพีขนาดราว 50 เซนติเมตร  ไม่ได้เป็นปลาพวกเดียวที่มาที่นี่  เพราะยังมีฉลามสีเทาอีกหลายร้อยตัวที่มาเยือนเพื่อสะกดรอยพวกมัน  ปลากะรังเพศเมียส่วนใหญ่จะอยู่ที่นี่เพียงสองถึงสามวันเพื่อวางไข่  เหมือนกับปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังชนิดอื่นๆ แต่ปลากะรังเพศผู้ที่มักใช้ชีวิตตามลำพังเกือบทั้งปี  จะมาแออัดกันในน่านน้ำอันตรายแห่งนี้นานหลายสัปดาห์  จนกว่าทั้งหมดจะได้ผสมพันธุ์พร้อมกันในที่สุด  โดยปล่อยกลุ่มไข่และสเปิร์มออกมาในน้ำ  คนท้องถิ่นบอกเราว่า ฤกษ์ดีของพวกมันคือช่วงคืนจันทร์เพ็ญ

ในบริเวณนี้ กระแสน้ำจากมหาสมุทรแปซิฟิก (ทางซ้าย ไกลออกไป) จะไหลเข้าผ่านช่องแคบที่กว้าง 100 เมตรเข้าสู่ ลากูนหรือแอ่งน้ำแคบๆ ซึ่งมีเกาะปะการังวงแหวนหรืออะทอลล์ล้อมรอบไว้

ทีมงานของผมใช้เวลาสี่ปีที่ผ่านมาบันทึกและทำความเข้าใจพฤติกรรมอันน่าทึ่งและแสนพิศวงนี้  เราดำน้ำกันทั้งวันทั้งคืนตลอดระยะเวลา 21 สัปดาห์  นับรวมได้ทั้งหมด 3,000 ชั่วโมงของการดำน้ำในช่องแคบลึก 35 เมตรแห่งนี้  ในช่วงปีแรกหรือปี 2014  โยฮาน มูริเยร์ และอองโตแนง กิลแบร์  นับจำนวนปลาที่ถูกต้องได้เป็นครั้งแรก นั่นคือช่องแคบแห่งนี้มีปลากะรังทั้งหมด 17,000 ตัว และฉลามสีเทา 700 ตัว (ปลาเหล่านี้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์ชีวมณฑล)

พลบค่ำของคืนแรก  ผมมองดูครัสเตเชียนและมอลลัสก์โผล่ขึ้นจากบริเวณน้ำลึกของแนวปะการัง  ก่อนจะหลบลี้หนีหายไปเมื่อเห็นแสงวาบจากไฟฉายของผม  ผมมองดูฝูงปลากะรังเปลี่ยนสีตัวให้เข้มขึ้นและถอยเข้าไปหลบนอนในซอกหิน  จากนั้นก็เห็นฝูงฉลามเริ่มมีชีวิตชีวา ราวกับว่ารอคอยวินาทีนี้อยู่  พวกมันจะว่ายน้ำเอื่อยๆในตอนกลางวันเพราะปลากะรังที่ตื่นอยู่ว่ายน้ำเร็วเกินจะไล่จับได้ทัน  แต่ในยามราตรีเช่นนี้ ฉลามจะรวมฝูงกันที่ก้นทะเลพร้อมกันหลายร้อยตัวจนท้องน้ำสั่นสะเทือน  และผมก็ตระหนักในตอนนั้นเองว่า ประเมินความเร็วของพวกมันต่ำเกินไป อาการกระสับกระส่ายของฉลามทำให้ผมเริ่มวิตก  เพราะผมต้องอยู่ที่ระดับความลึกนี้กับพวกมัน

ปลากะรังเพศผู้สองตัวเผชิญหน้ากันซึ่งเป็นภาพที่เห็นจนชินตาในฤดูผสมพันธุ์

หลายปีหลังจากนั้น ผมถึงได้หายกลัว และมีความตื่นเต้นเข้ามาแทนที่  เป็นความปีติที่จะได้เรียนรู้  ได้เสี่ยงภัย โดยไม่ต้องอาศัยกรงหรือชุดดำน้ำทำจากโลหะถัก  หรือกระทั่งไม้กันฉลามในการดำน้ำเข้าสู่ดงฉลามฝูงใหญ่ เพราะสิ่งหนึ่งที่เราค้นพบที่ฟาการาวาคือ พวกมันออกล่ากันเป็นฝูง คล้ายหมาป่า เพียงแต่ทำงานร่วมกันน้อยกว่า

ฉลามตัวเดียวจะอืดอาดเกินกว่าจะจับปลากะรังง่วงซึมได้สักตัว  แต่เมื่อรวมกัน ฝูงฉลามมีโอกาสต้อนปลากะรังออกจากที่หลบซ่อนและตีวงล้อมได้ ก่อนจะเข้าไปรุมทึ้ง  ฉากการเข้าโจมตีที่เราเห็นมากับตานี้ดูบ้าคลั่ง โชคดีที่ยานิก จองตีล ใช้กล้องแบบพิเศษซึ่งสามารถจับภาพได้พันภาพต่อวินาที  ช่วยให้เราย้อนมาดูภาพฉลามในแบบสโลว์โมชันและชื่นชมความมีประสิทธิภาพและความแม่นยำของพวกมันได้

ฉลามมองเราเป็นตัวเกะกะ ไม่ใช่เป้าหมาย เมื่อเราดำน้ำในตอนกลางคืน พวกมันมักจะเข้ามาเมียงมองดูเราเพราะการเคลื่อนไหวเพียงแค่กระดิกตัวหรือแสงไฟแวบหนึ่งก็สามารถดึงดูดพวกมันได้แล้ว  บางครั้งพวกมันจะว่ายเข้ามาชนเราอย่างจังจนทำให้เกิดรอยฟกช้ำดำเขียว

ในช่วงกลางวัน ฉลามจะว่ายน้ำเอื่อยๆ ต้านกระแสน้ำที่พัดพาเข้าสู่ช่องแคบ พอตกกลางคืน พวกมันจะออกล่าเหยื่อ ตอนที่เหล่าปลากะรังพักผ่อนตามก้นทะเลและจับได้ง่ายกว่า

บรรดาฉลามสีเทาสวาปามปลากะรังหลายร้อยหรืออาจหลายพันตัวในช่วงเวลาหลายสัปดาห์ที่พวกปลากะรังมารวมตัวกันที่แนวปะการังฟาราคาวา และทำให้อีกหลายตัวบาดเจ็บ  เช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากดำน้ำตลอดทั้งคืน เมื่อฝูงปลากะรังเริ่มตื่นนอนอีกครั้ง ผมถ่ายภาพตัวที่รอดชีวิตไว้ได้  พวกมันมีแผลฉกรรจ์ บางตัวครีบขาด แผ่นปิดเหงือกขาดรุ่งริ่ง แต่ถึงแม้จะอยู่ในสภาพน่าอเนจอนาถเช่นนั้น พวกมันก็คงยังมุ่งมั่น  ปลาเพศผู้ท้าทายกันครั้งแล้วครั้งเล่าให้มาเผชิญหน้าในการต่อสู้เพื่อชิงความเป็นใหญ่ ภายใต้อำนาจของสัญชาตญาณการสืบพันธุ์

ในที่สุด การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปีกลายก็ทำให้เราได้เห็นเป้าหมายสูงสุดของพวกมัน  ในวันแห่งการวางไข่ ระบบนิเวศทั้งหมดจะเปลี่ยนแปลง  ท้องน้ำมีปลากล้วยแถบที่หน้าตาคล้ายปลาซาร์ดีนที่รับรู้ถึงความผิดปกติอยู่เต็มไปหมด  ปลากะรังเพศเมียที่ท้องเป่งไปด้วยไข่ เปลี่ยนสีพรางกายนิ่งอยู่ใกล้หรือติดก้นทะเล  ส่วนปลากะรังเพศผู้ตัวสีเทาอ่อนจะเฝ้ามองจากด้านบน พวกมันว่ายลงสู่ก้นทะเลเป็นพักๆ เพื่อโฉบผ่านหน้าเพศเมียและเข้าไปบดเบียด ก่อนจะกัดท้องอีกฝ่ายเพื่อกระตุ้นให้ปล่อยไข่ออกมา

จากนั้นความโกลาหลก็บังเกิด รอบตัวพวกเรา ปลากะรังราวสิบตัวทะยานตัวขึ้นสู่ผิวน้ำเหมือนพลุไฟ  แต่ละกลุ่มมีปลาตัวผู้หลายตัวไล่ตามปลาตัวเมียเพียงตัวเดียว  หมู่ปลาฉลามพุ่งเข้าหาพวกมัน แต่ส่วนใหญ่มักจะคว้าน้ำเหลวเพราะปลากะรังว่องไวเกินไป  การผสมพันธุ์แต่ละครั้งใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวินาทีซึ่งเราแทบจะมองไม่เห็นหรือแทบจะไม่เข้าใจเลยว่าเกิดอะไรขึ้น  ปลากล้วยแถบเข้ามาบังภาพที่เห็น  เพราะพวกมันรี่เข้าไปกินไข่ปลากะรังและน้ำเชื้อทันทีที่ถูกปล่อยออกมา  เซลล์ที่เหลือจะถูกกระแสน้ำแรงกวนเข้าด้วยกันระหว่างพัดพาออกสู่ทะเล

เรื่องและภาพถ่าย โลรอง บาเลสตา

ในยามค่ำคืน ฉลามสีเทาจะออกมาล่าเหยื่อด้วยกันเป็นฝูงในช่องแคบของเกาะปะการังวงแหวนฟาการาวาในกลุ่มเกาะตูอาโมตู ทีมงานของโลรอง บาเลสตา ซึ่งดำน้ำแบบไร้กรงและอาวุธ นับจำนวนฉลามได้ 700 ตัว
ปลากะรังบางตัวรอดตายมาได้ อย่างเจ้าตัวนี้ที่รอดพ้นจากการโจมตีของฉลามมาพร้อมแผลเหวอะหวะขนาดใหญ่ข้างลำตัว ทีมงานของบาเลสตาพบเจอปลาเดนตายเช่นนี้หลายตัวที่ฟาการาวา
ฉลามสีเทาเข้าไปเขมือบปลายูนิคอร์นจมูกสั้นตัวหนึ่ง ปลากะรังมักตัวใหญ่เกินกว่าจะกลืนกินทั้งตัวได้ แต่ฉลามฆ่า พวกมันเป็นจำนวนหลายร้อยตัวที่ฟาการาวา ถึงกระนั้น อะทอลล์แห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งวางไข่ที่เหมาะสม เพราะกระแสน้ำจะพัดพาไข่ที่มีลูกๆของพวกมันออกจากช่องแคบ และกระจายไปทั่วท้องทะเล

 

อ่านเพิ่มเติม

ชมหิมะใต้ท้องทะเล เมื่อปะการังผสมพันธุ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.