สุนัขบำบัดช่วยผู้ป่วยได้จริง แต่ตัวมันเองรู้สึกยังไง?

สุนัขบำบัด ช่วยผู้ป่วยได้จริง แต่ตัวมันเองรู้สึกยังไง?

หากคุณเป็นคนรักสุนัข คุณคงเข้าใจความหมายดีว่าแค่ได้อยู่ใกล้ก็มีความสุขแล้วมันเป็นยังไง ฉะนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่บริการ สุนัขบำบัด สำหรับบรรดาผู้ป่วยมะเร็ง, สมองเสื่อม หรือผู้ที่มีความเครียดหลังเผชิญกับเหตุการณ์สะเทือนใจเหล่านี้จะได้ผลดีมาก

ในสหรัฐอเมริกามีสุนัขบำบัดมากกว่า 50,000 ตัว และบริการในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศตั้งแต่นอร์เวย์ไปจนถึงบราซิล สุนัขที่ทำหน้าที่เยียวยาจะเข้ารับการฝึกฝนและมีใบรับรองอย่างเป็นทางการจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ ก่อนที่จะส่งพวกมันไปยังโรงพยาบาลหรือตามศูนย์ต่างๆ

ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานการวิจัยชี้ว่า สุนัขสามารถช่วยเยียวยาผู้ป่วยได้จริง แต่ยังไม่เคยมีใครสนใจความรู้สึกของสุนัขเองบ้างว่าพวกมันคิดอย่างไร? ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งจึงต้องการหาคำตอบนี้ และผลที่ได้นำมาซึ่งความอุ่นใจในการบริการกันต่อไป

ผลการวิจัยล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Applied Animal Behaviour Science ระบุว่าสุนัขที่ทำหน้าที่ช่วยบำบัดเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกเครียดจากการทำงาน ตรงกันข้ามพวกมันรู้สึกมีความสุขเสียด้วยซ้ำในบางกรณี การวิจัยครั้งนี้เกิดขึ้นจากการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งร้อยราย และสุนัขช่วยเยียวยาอีก 26 ตัว รายงานจาก Amy McCullough หัวหน้าวิจัยและผู้อำนวยการด้านการวิจัยและบำบัดแห่งชาติจาก American Humane ในวอชิงตัน ดี. ซี.

 

ทำงานแบบสุนัข

ทีมนักวิจัยวัดปริมาณของฮอร์โมนคอร์ติซอล ฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียดซึ่งพบได้ในน้ำลายของสุนัข โดยพวกเขาเก็บตัวอย่างจากทั้งสุนัขในบ้านและในโรงพยาบาล จากนั้นทีมนักวิจัยบันทึกวิดีโอของสุนัขทั้ง 26 ตัวระหว่างปฏิบัติงาน และวิเคราะห์พฤติกรรมของพวกมัน โดยพวกเขาแบ่งท่าทางการแสดงออกเป็น 3 กลุ่มคือ หนึ่ง ท่าทางที่เป็นมิตรมากเช่น การเข้าใกล้คนหรือเล่นด้วย, สอง ท่าทางที่บ่งชี้ระดับความเครียดเล็กน้อยเช่นอาการสั่น หรือเลียปากไปมา และสาม ท่าทางที่บ่งชี้ระดับความเครียดสูง จากการส่งเสียงร้องคราง

ผลการวิเคราะห์ทีมนักวิจัยพบว่าไม่มีความแตกต่างของระดับคอร์ติซอลระหว่างสุนัขที่บ้านและที่โรงพยาบาล รวมทั้งการทำงานเยียวยาผู้ป่วยนั้นไม่ก่อให้เกิดท่าทางที่บ่งชี้ว่ามีความเครียดในสุนัขแต่อย่างใด

 

ทำงานให้สนุก

ผลการวิจัยสอดคล้องกับงานวิจัยสุนัขบำบัดก่อนหน้าในปี 2017 โดย Lisa Maria Glenk “การศึกษาก่อนหน้าให้ข้อมูลที่จำกัด และไม่มีข้อมูลของกิจกรรม จึงยากที่จะระบุระดับความเครียดของสุนัข” Glenk จากวิทยาลัยสัตวแพทย์ในกรุงเวียนนากล่าวถึงการวิจัยก่อนหน้า

คำถามต่อมาคือสุนัขเองชอบงานที่ทำจริงหรือไม่ และในการศึกษาแผนกมะเร็งในเด็กให้ข้อมูลบางประการ ตัวอย่างเช่น สุนัขมีท่าทางมีความสุขระหว่างทำกิจกรรมนั้นๆ มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ เช่น เมื่อเด็กๆ พูดคุยด้วยหรือเล่นของเล่นกับมัน เห็นได้ชัดว่าสุนัขบำบัดมีท่าทางการตอบสนองที่เป็นมิตรมากกว่ากิจกรรมอย่างการแปรงขนสุนัข หรือวาดรูป

ผลลัพธ์ที่ได้สรุปว่า “บางกิจกรรมก็สนุกมากกว่าสำหรับสุนัข” McCullough กล่าว “ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดี เพราะช่วยให้เรารู้ได้ว่าควรเล่นอะไรกับสุนัข”

และเช่นเดียวกับงานอื่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคัดเลือกผู้ทำงานให้เหมาะสม McCullough กล่าวเสริม มีหลายคนที่กล่าวว่าสุนัขของพวกเขาเป็นมิตรแม้กระทั่งกับเพื่อนบ้าน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสุนัขเหล่านั้นจะสามารถทำงานบำบัดได้ “สุนัขกำลังเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า เราต้องติดสินบนเพื่อให้มันตอบสนองไหม” เธอกล่าว “ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสุนัขกับผู้เข้ารับการบำบัดนั้นจะไปได้ด้วยดี สำคัญก็คือสุนัขต้องรักงานที่มันทำด้วย”

เรื่อง Linda Lombardi

 

อ่านเพิ่มเติม

โปรเจคภาพเมื่อสุนัขได้ตุ๊กตา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.