ข่าวเหตุการณ์เรือประมงจับฉลามวาฬที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเร็วๆนี้ อาจเป็นเพียงหนังตัวอย่างที่ฉายภาพภัยคุกคามต่อ ฉลามวาฬ ทว่าในบทความออนไลน์ที่เผยแพร่เมื่อปี 2014 เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ร่วมตีแผ่ขบวนการค้าซึ่งชนิดพันธุ์ที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งชนิดนี้ แม้นับแต่นั้นมา สถานะและการปกป้องฉลามวาฬทั้งโดยอนุสัญญาระหว่างประเทศอย่างไซเตส (CITES) และกฎหมายในประเทศและดินแดนที่เกี่ยวข้องจะได้รับการปรับปรุงและบังคับใช้อย่างเข้มงวดขึ้น เช่น ไต้หวันสั่งห้ามจับ ค้า นำเข้า หรือส่งออก ฉลามวาฬอย่างเด็ดขาดตั้งแต่ปี 2008
แม้เราจะไม่มีข้อมูลยืนยันว่า สถานประกอบการที่ปรากฏในบทความนี้ได้รับโทษตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเครื่องยืนยันว่า การใช้ประโยชน์และภัยคุกคามต่อฉลามขนาดใหญ่โดยเฉพาะฉลามวาฬนั้นมีอยู่จริงและไม่อาจเพิกเฉย การบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างจริงจังและเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง
บทความนี้ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2014
รายงานที่ตีพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้โดยองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอแห่งหนึ่งพบว่า ฉลามวาฬและฉลามบาสกิ้น (ฉลามอาบแดดหรือฉลามยักษ์น้ำอุ่น) ราวปีละ 600 ตัวได้รับการแปรรูปโดยโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีน
ฉลามวาฬกำลังถูกล่าและสังหาร: นั่นคือข่าวช็อคที่ปรากฏในรายงานตีพิมพ์โดยองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อ WildlifeRisk การสืบสวนที่ใช้เวลา 3 ปีเผยหลักฐานว่า โรงงานแห่งหนึ่งทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนชำแหละปลาฉลามขนาดใหญ่น้ำหนัก 21 ตันปีละมากถึง 600 ตัว
(ชะตากรรมของปลาโรนันเองก็น่าเป็นห่วงไม่ต่างกัน)
แน่นอนว่านี่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย เพราะฉลามวาฬเป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการปกป้องทั้งจากกฎหมายของจีนและกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เหตุการณ์เช่นนี้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะฉลามวาฬตัวหนึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (เกือบหนึ่งล้านบาท) เนื้อฉลามสามารถชำแหละขายเพื่อบริโภค ครีบส่งขายยังภัตตาคารหูฉลาม หนังใช้ทำกระเป๋า และน้ำมันยังขายให้บริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมอย่างน้ำมันปลา
ยังมีรายงานว่า โรงงานแห่งนี้ฆ่าและแปรรูปฉลามชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่ได้รับการปกป้องในระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงฉลามบาสกิ้ง และฉลามขาว
อเล็กซ์ ฮอฟฟอร์ด และพอล ฮิลตัน สองนักรณรงค์ผู้พำนักอยู่ในฮ่องกงและร่วมก่อตั้ง WildlifeRisk เดินทางไปยังโรงงานแห่งนี้ที่เมืองผูฉีรวม 3 ครั้งระหว่างปี 2010 ถึง 2013 โดยทำทีเป็นผู้ซื้อ พวกเขาแอบบันทึกทั้งภาพและเสียงกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในโรงงานแห่งนี้ได้
ในบทสนทนาที่บันทึกได้ระหว่างผู้จัดการโรงงานชื่อ หลี่กวาง และล่าม หลี่บอกว่า โรงงานของเขาแปรรูปฉลามขนาดใหญ่ปีละประมาณ 500-600 ตัว ซึ่งรวมถึงฉลามวาฬและฉลามบาสกิ้ง
องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งในจีนให้เบาะแสจนนำฮอฟฟอร์ดและฮิลตันไปยังโรงงานแห่งนี้ “แต่เพื่อปกป้องพวกเขา เราไม่สามารถเปิดเผยชื่อขององค์กรได้” ฮอฟฟอร์ดเขียนในอีเมลถึงเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
“ถ้าพวกเขาแปรรูปฉลามกันปีละ 600 ตัวจริงๆ ก็ต้องบอกว่าน่ากลัวมากครับ” โรเบิร์ต ฮูเอเตอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยฉลามที่ห้องปฏิบัติการทางทะเลในเมืองซาราโซตา รัฐฟลอริดา บอก ทั้งนี้เพราะจำนวนประชากร [ฉลามวาฬ] ทั่วโลกน่าจะอยู่ในหลักพันเท่านั้น
รายงานระบุว่า ชาวประมงในท้องถิ่นป้อนฉลามเหล่านั้นแก่โรงงาน แต่บางส่วนยังอาจมาไกลถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก
ฉลามทั้งสามชนิด ได้แก่ ฉลามวาฬ ฉลามบาสกิ้ง และฉลามขาว ได้รับปกป้องภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) ซึ่งหมายความว่า แม้พวกมันยังไม่อยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในปัจจุบัน “แต่ก็อาจะเป็นเช่นนั้นได้ หากการค้าซึ่งชนิดพันธุ์เหล่านี้ไม่ถูกควบคุมอย่างใกล้ชิด” เว็บไซต์ของไซเตส ระบุไว้
รายงานชี้ว่า จีนมีกฎหมายปกป้องฉลามทั้งสามชนิดพันธุ์ สอดคล้องกับแถลงการณ์ของกรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรของจีนในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ที่ว่า “การล่าและขายซึ่งฉลามสามชนิดพันธุ์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในแผ่นดินใหญ่จีนและมีโทษทั้งปรับและจำคุก”
อ่านบทความต้นฉบับได้ ที่นี่
เรื่อง เจน เจ. ลี
อ่านเพิ่มเติม