ผลกระทบจากพลาสติก: เมื่อพลาสติกทำร้ายสัตว์ป่า

ผลกระทบจากพลาสติก: เมื่อพลาสติกทำร้ายสัตว์ป่า

บนเรือนอกฝั่งคอสตาริกา นักชีววิทยาใช้คีมจากมีดพับพยายามดึงหลอดพลาสติกจากจมูกเต่าทะเลตัวหนึ่ง  เจ้าเต่าดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวดและเลือดก็ไหลไม่หยุด  ตลอดแปดนาทีอันเจ็บปวดที่คลิปในยูทูบนี้ดำเนินไป และมีคนเข้ามาดูกว่า 20 ล้านครั้ง แม้จะเป็นสิ่งที่ต้องทนดูก็ตาม  ในตอนท้าย นักชีววิทยาที่เริ่มจะหมดหวังก็สามารถดึงหลอดพลาสติกยาวสิบเซนติเมตรออกมาจากจมูกของเจ้าเต่าได้

ภาพดิบๆ เช่นนี้ซึ่งตีแผ่ผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อสัตว์ป่าได้อย่างแจ่มแจ้ง  กลายเป็นสิ่งที่เห็นคุ้นตามากขึ้นทุกที  ทั้งวาฬและนกอัลบาทรอสที่ตายเพราะท้องเต็มไปด้วยขยะ  และแมวน้ำที่ติดเศษอวนจับปลาที่ถูกโยนทิ้ง

แต่ส่วนใหญ่แล้ว ความเสียหายมักเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยากกว่า  นักวิจัยบอกว่า นกจมูกหลอดตีนเนื้อซึ่งเป็นนกทะเลขนาดใหญ่สีน้ำตาลไหม้ที่ทำรังอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์  กินพลาสติกคิดเป็นสัดส่วนต่อมวลกายมากกว่าสัตว์ทะเลชนิดอื่นใด  โดยในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่ง ลูกนกร้อยละ 90 เคยกินพลาสติกเข้าไปแล้ว เศษพลาสติกแหลมคมชิ้นหนึ่งอาจเจาะลำไส้และทำให้นกตายลงอย่างรวดเร็ว  แต่โดยทั่วไปแล้ว การกินพลาสติกจะทำให้นกมีอาการหิวอาหารเรื้อรัง

ในโอกินาวะ ประเทศญี่ปุ่น ปูเสฉวนตัวหนึ่งใช้ฝาขวดพลาสติกเป็นบ้านและเกราะป้องกันท้องนิ่มๆของมัน นักเที่ยวชายหาดนิยมเก็บเปลือกหอยที่ปูเหล่านี้ใช้ไปเป็นที่ระลึก และทิ้งขยะไว้แทน (ภาพถ่าย: ชอว์น มิลเลอร์)

“สิ่งน่าเศร้าที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ พวกมันกินพลาสติกเข้าไปเพราะนึกว่าเป็นอาหารครับ” แมตทิว ซาโวคา นักชีววิทยาทางทะเลที่ทำงานกับสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา  บอกและเสริมว่า  “ลองนึกภาพคุณกินอาหารกลางวันอยู่  แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงขึ้นมา  แถมยังหิวอยู่ทั้งวัน นั่นคงทำให้เราสับสนบอกไม่ถูก” ซาโควาพบว่า ปลาอย่างปลากะตักกินพลาสติกเพราะมีกลิ่นเหมือนอาหารเมื่อถูกสาหร่ายปกคลุม นกทะเลที่ใช้พลังงานจากร่างกายที่ขาดสารอาหาร  จะต้องบินท่องเป็นระยะทางไกลมากขึ้นเพื่อหาอาหารจริงๆกินและพบเพียงแค่เศษขยะพลาสติกที่นำกลับมาป้อนลูกน้อย

คุณสมบัติที่ทำให้พลาสติกมีประโยชน์ต่อมนุษย์ ทั้งความคงทนและมีน้ำหนักเบา กลับยิ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ พลาสติกมีอายุการใช้งานนานและหลายชนิดลอยน้ำได้ “พลาสติกใช้แล้วทิ้งเป็นชนิดที่เลวร้ายที่สุด ไม่มีอะไรเทียบได้อีกแล้ว”  ซาโควาบอก  เขาหมายถึงหลอดดูดน้ำ ขวดน้ำ และถุงพลาสติก จนถึงปัจจุบันมีรายงานว่า มีสัตว์ทะเลราว 700 ชนิดที่กินพลาสติกเข้าไป หรือติดอยู่ในพลาสติก

เรายังไม่เข้าใจแน่ชัดว่า  พลาสติกส่งผลในระยะยาวต่อสัตว์ป่าอย่างไร (รวมถึงผลกระทบต่อมนุษย์) เราเพิ่งใช้พลาสติกกันเมื่อไม่นานมานี้เอง มีรายงานถึงลูกนกอัลบาทรอสเลย์ซาน 74 ตัวที่กินพลาสติกเข้าไปเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1966 ในอะทอลล์แปซิฟิก ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังการผลิตพลาสติกยังอยู่ที่เพียง 1 ใน 20 ของปริมาณที่ผลิตในปัจจุบัน เมื่อมองย้อนกลับไปแล้ว นกเหล่านั้นน่าจะเป็นลางบอกเหตุของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมานั่นเอง

เรื่อง นาตาชา เดลี

ทุกวันนี้ สัตว์จำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยพลาสติก อย่างไฮยีนาที่คุ้ยเขี่ยหาอาหารในที่ทิ้งขยะที่เมืองฮาราประเทศเอธิโอเปีย พวกมันจะเงี่ยหูฟังเสียงรถขยะและหาอาหารส่วนใหญ่ได้จากกองขยะ (ภาพถ่าย: ไบรอัน เลห์มานน์)
ช่างภาพช่วยนกกระสาตัวนี้ออกจากถุงพลาสติกในที่ทิ้งขยะในสเปน ถุงพลาสติกใบหนึ่งอาจฆ่าสัตว์ได้มากกว่าครั้งเดียว เพราะแม้ซากสัตว์จะเน่าเปื่อย แต่พลาสติกจะอยู่ต่อไปอีกนาน (ภาพถ่าย: จอห์น แคนคาโลซี)

 

อ่านเพิ่มเติม

วิกฤติพลาสติกล้นโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.