เมื่อสัมผัสแบคทีเรียหรือไวรัสปริมาณเล็กน้อย สิ่งมีชีวิตจะสร้างความต้านทานจุลชีพก่อโรคชนิดเดียวกันนั้นในปริมาณมากขึ้นในภายหลัง สิ่งนี้เรียกว่า “การกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค” เพื่อศึกษากลไกนี้ในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง นักวิจัยชาวสวิสและปานามาเลือกสัตว์สองชนิดที่มีเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่ ได้แก่ นางพญามดชนิด Lasius niger (ภาพปก) และ Formica selysi ซึ่งอาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 20 ปี
นางพญามดแต่ละชนิดถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ “เจ้าหญิง” วัยเยาว์ที่ยังไม่เคยผสมพันธุ์ และนางพญาที่ผสมพันธุ์แล้ว หรือมดเพศเมียที่เคยจับคู่ผสมพันธุ์กับมดเพศผู้ และเก็บสเปิร์มจากการผสมพันธุ์ครั้งก่อนไว้ใน “ถุงสเปิร์ม” ซึ่งจะผสมพันธุ์กับไข่หลายสิบล้านฟองตลอดชั่วชีวิตของมัน
นักวิจัยเพาะเลี้ยงเชื้อราที่คร่าชีวิตแมลงในธรรมชาติได้ในเวลาราวหนึ่งสัปดาห์ ก่อนอื่นพวกเขาให้เชื้อราอ่อนๆปริมาณเล็กน้อยแก่นางพญามดแต่ละกลุ่ม จากนั้นให้เชื้อราปริมาณมากในสัปดาห์ต่อมา จำนวนมดที่รอดชีวิตแสดงว่ามีเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับภูมิคุ้มกันจากกระบวนการกระตุ้น คือนางพญามด Lasius niger ที่ผสมพันธุ์แล้ว อย่างไรก็ตาม ในทั้งสองชนิด นางพญามดที่ผสมพันธุ์แล้วรอดชีวิตจากการสัมผัสเชื้อรามากกว่าพี่น้องของมันที่ยังไม่เคยผสมพันธุ์อย่างมีนัยสำคัญ
ข้อมูลน่าสนใจ
มดดำสวนไม่ได้แค่ออกหาอาหาร พวกมันเพาะเลี้ยงอาหารด้วย พวกมันมักอาศัยอยู่ข้างๆคอโลนีของเพลี้ยอ่อน ซึ่งหลั่งสารที่เรียกว่า มูลน้ำหวาน (honeydew) ที่มดกินออกมา พวกมด “รีดนม” เพลี้ยอ่อน โดยการใช้หนวดตีแมลงตัวจ้อยนี้ เพื่อเก็บเพลี้ยอ่อนไว้ใกล้ตัว มดอาจกัดปีกของพวกมันจนขาด ยิ่งไปกว่านั้นมดยังปกป้องฝูงเพลี้ยอ่อนจากแมลงนักล่าอื่นๆที่จะมาขโมยด้วย
ถิ่นอาศัย/ถิ่นกระจายพันธุ์
มดดำสวน (Lasius niger) อยู่ในยุโรปและบางส่วนของอเมริกาเหนือและเอเชีย เราพบพวกมันได้ใต้กระถางต้นไม้ในสวน ตามรอยแยกของทางเท้าในเมือง และในบ้านของเรา
เรื่อง แพทริเซีย เอดมันด์ส
อ่านเพิ่มเติม