ฟอสซิลญาติแพนด้าอายุ 22,000 ปี

ฟอสซิลญาติแพนด้าอายุ 22,000 ปี

ในเดือนสิงหาคม ปี 2014 Yingqi Zhang นักบรรพชีวินวิทยา และทีมวิจัยขุดค้นลงไปในหลุมลึกของ ไจแกนโทพิเธคัส (Gigantopithecus) ไพรเมตขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลก พวกเขากลับขึ้นมาพร้อมกับโครงกระดูกจำนวนหนึ่งที่บังเอิญโชคร้ายตกเป็นเหยื่อของกับดับตามธรรมชาตินี้

กระดูกส่วนใหญ่เป็นของเอปสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ทีมวิจัยต้องตกตะลึงเมื่อพวกเขาพบขากรรไกรของแพนด้าโบราณอายุ 22,000 ปะปนอยู่ในโครงกระดูกของเหยื่อเหล่านั้นด้วย ส่งผลให้ตัวอย่างชิ้นที่ถูกค้นพบนี้เป็นตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดของหมีแพนด้า

อย่างไรก็ดี เพียงการค้นพบฟอสซิลแค่ชิ้นเดียวยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่ามันเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ทว่าผลจากการวิเคราะห์ทางดีเอ็นเอเผยให้เห็นว่ากระดูกชิ้นนี้เป็นของสัตว์ในวงศ์แพนด้ายักษ์ที่ไม่เคยเป็นที่รู้จักมาก่อน และแยกสายวิวัฒนาการออกจากแพนด้าปัจจุบันเมื่อราว 183,000 ปีก่อน

เจ้าสัตว์โบราณตัวนี้น่าจะมีความสามารถในการปรับตัวเป็นพิเศษ เพื่อเอื้อให้มันดำรงชีวิตในป่าเขตร้อนได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าในอดีตลายสีขาวดำของแพนด้านั้นน่าจะมีความหลากหลายมากกว่าที่เห็นกันในปัจจุบัน รายงานการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Current Biology

ขณะนี้แม้ข้อสรุปเกี่ยวกับความหลากหลายของแพนด้าจะยังไม่ชัดเจน แต่ทีมวิจัยกำลังพยายามอย่างหนักในการสกัดเอาดีเอ็นเอออกมาจากฟอสซิล รายงานจาก Russell Ciochon นักบรรพมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยไอโอวา ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยกล่าว

“เราไม่ได้แค่พยายามสกัดดีเอ็นเอออกจากฟอสซิลในเขตร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานกับตัวอย่างที่เก่ามากๆ อีกด้วยค่ะ” Qiaomei Fu นักพันธุกรรม หนึ่งในผู้นำการวิเคราะห์ดีเอ็นเอในงานวิจัยชิ้นนี้กล่าว

 

สมบัติที่ซ่อนอยู่ภายใน

ปัจจุบันแพนด้าสมัยใหม่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของสามมณฑล ในภาคกลางของจีนได้แก่ มณฑลเสฉวน, ส่านซี และกานซู่ แต่ย้อนกลับไปในอดีตสายพันธุ์ของพวกมันแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง นักวิทยาศาสตร์พบตัวอย่างฟอสซิลของแพนด้าทั่วประเทศจีน, เมียนมา และทางตอนเหนือของเวียดนาม นอกจากนั้นยังไกลไปถึงในฮังการี และในสเปน

เมื่อทีมวิจัยของ Zhang พบฟอสซิลในมณฑลกว่างซี ทางตอนใต้ของจีน พวกเขาตื่นเต้นกันมากที่ได้พบกับบรรพบุรุษของพวกมัน เนื่องจากแพนด้าถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์สำคัญของจีน และในพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันก็ไม่มีแพนด้าหลงเหลืออีกแล้ว ที่น่าทึ่งก็คือเมื่อพิจารณาลักษณะของฟอสซิลแล้วพบว่ามันดูคล้ายคลึงกับแพนด้าสมัยใหม่อย่างมาก และเนื่องจากตัวอย่างที่พบเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระดูกเท่านั้น ไม่ใช่หัวกะโหลก Zhang จึงไม่ได้ค้นคว้าอะไรเพิ่มเติม แต่โฟกัสการวิจัยไปที่ไจแกนโทพิเธคัสแทน

เป็นเวลากว่าปีครึ่งที่ฟอสซิลชิ้นดังกล่าวถูกห่อด้วยกระดาษชำระ ตั้งอยู่อย่างสงบนิ่งภายในกล่องพลาสติก ณ ห้องทำงานของ Zhang ในสถาบันวิทยาศาสตร์กรุงปักกิ่ง ด้าน Fu เองพยายามที่จะสกัดเอาดีเอ็นเอออกมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ความร้อนและความชื้นของสภาพอากาศเป็นอุปสรรค และทำให้งานดังกล่าวเป็นเรื่องท้าทายมาก

จากนั้นทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีซีทีสแกนเพื่อเข้าถึงกระดูกของหูชั้นในรูปหอยโข่งที่เรียกว่าคอเคลีย ซึ่งเป็นจุดที่รู้กันดีว่าเก็บรักษาดีเอ็นเอเอาไว้ ภารกิจครั้งนี้ได้ผล และในที่สุดทีมงานก็สามารถจัดลำดับจีโนมของแพนด้าขึ้นมาได้

ฟอสซิลขากรรไกรของแพนด้ายักษ์ที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 22,000 ปีก่อน
ภาพถ่ายโดย Yingqi Zhang และ Yong Xu

 

เจ้าสัตว์ขนฟู

ผลการวิจัยครั้งนี้ต่อยอดจากงานวิจัยก่อนหน้าที่สกัดดีเอ็นเอของฟอสซิลแพนด้าอายุ 5,000 ปี และ 8,500 ปี ทีมวิจัยพบว่าตัวอย่างจากหมีแพนด้าสองตัวนี้น่าจะเป็นพี่สาวของแพนด้าสมัยใหม่ ที่แยกสายวิวัฒนาการออกจากกันเมื่อราว 62,000 ปีก่อน

ด้าน Robert Fleischer ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรม จากสถาบันชีววิทยา Smithsonian กล่าวเสริมว่าการศึกษาฟอสซิลของแพนด้าสองตัวดังกล่าวช่วยเสริมฐานข้อมูลของแพนด้ายักษ์ให้กระจ่างชัดเจนขึ้น “มันน่าสนใจมากที่จะนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับแพนด้าสมัยใหม่” โดย Fleischer ให้เหตุผลว่าการเปรียบเทียบจะช่วยให้เห็นภาพว่าแพนด้าโบราณมีลักษณะเป็นอย่างไร ตลอดจนทราบว่าสัตว์โบราณเหล่านี้ปรับตัวให้อาศัยในสภาพเขตร้อนได้อย่างไร

ด้าน Fu วางแผนที่จะเก็บตัวอย่างของจีโนมเพิ่มเติมจากฟอสซิล ด้วยความคาดหวังที่ว่าในอนาคตพวกเขาอาจได้คำตอบใหม่ๆ ว่าในอดีตนั้นแพนด้ามีลายขาวดำหรือไม่ ทั้งยังช่วยเติมเต็มช่องว่างที่หายไปของสัตว์โบราณในวงศ์แพนด้า และที่สำคัญก็คือการเข้าใจพวกมันมากยิ่งขึ้นซึ่งจะนำไปสู่หนทางใหม่ๆ ในการอนุรักษ์สัตว์ขนฟูเหล่านี้ จากความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์

เรื่อง Maya Wei-Haas

 

อ่านเพิ่มเติม

ลิงโคลนนิ่ง คู่แรกในจีน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.