ใครๆ ก็รู้ว่าการเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว และนี่คือบรรดาสัตว์ยอดคุณพ่อที่มีความทรหดอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพื่อดูแลให้ลูกๆ ตัวน้อยของพวกมันปลอดภัย
แมลงดาสวน (Giant Water Bug)
คุณพ่อแมลงดาสวนคือสัตว์ที่ใช้เวลาอยู่กับลูกอย่างแท้จริง “แมลงดาสวนตัวเมียจะวางไข่ลงบนหลังของแมลงดาสวนตัวผู้” Blake Newton นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคนทักกีกล่าว จากนั้นตัวเมียจะจากไปทิ้งให้ลูกๆ ของมันฟักบนตัวพ่อ
และเช่นเดียวกับคุณพ่อทั่วโลกที่ชีวิตเปลี่ยนไปเมื่อมีลูก ทายาทหลายชีวิตติดหนึบอยู่บนตัวมันด้วยยางเหนียวๆ การจะบินไปไหนมาไหนจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก “ไข่ของลูกๆ ถูกวางกระจายตั้งแต่บนหลังไปจนถึงปีก” Kate Boersma นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยซานดิเอโกกล่าว
ปกติแล้วชีวิตของมันอาศัยอยู่กับน้ำจืด ดังนั้นคุณพ่อมือใหม่จำต้องอยู่ใกล้กับผิวน้ำเข้าไว้เพื่อมั่นใจได้ว่าลูกๆ จะได้รับออกซิเจนเพียงพอ “พวกมันจะผลุบๆ โผล่ๆ อยู่บริเวณผิวน้ำ เพื่อถ่ายเทน้ำและอากาศให้ไข่” Boersma อธิบาย ทั้งนี้ระยะเวลาการฟักนั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บางชนิดคุณพ่ออาจใช้ชีวิตอยู่เช่นนั้นเป็นเดือนกว่าลูกของพวกมันจะออกจากไข่
ม้าน้ำ (Seahorses)
เราทุกคนรู้ดีว่าม้าน้ำตัวผู้เป็นฝ่ายตั้งท้องแทนตัวเมีย โดยลูกๆ ของมันนั้นจะอยู่ในท้องราว 24 วัน จึงออกมาลืมตาดูโลก
ผลการศึกษาในปี 2015 พบว่าบรรดาม้าน้ำเหล่านี้ ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นมีบางอย่างที่ไม่ต่างจากมนุษย์เมื่อกลายเป็นแม่คน นั่นคือเมื่อตั้งท้องบรรดาม้าน้ำเพศผู้จะส่งสารอาหาร และออกซิเจนให้แก่ลูกๆ ผ่านกระเป๋าหน้าท้อง ซึ่งทำหน้าที่เดียวกันกับรกในครรภ์มนุษย์
นอกจากนั้นทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ยังพบอีกว่า ยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการตั้งท้องนั้นมีความคล้ายคลึงกันในด้านวิวัฒนาการ และพบได้ในสัตว์สปีชีส์อื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, สัตว์เลื้อยคลาน หรือแม้แต่ปลา
ปลาสามทื่อ (Three-spine Sticklebacks)
ปกติแล้วปลาส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ดูแลลูกของมัน เมื่อพวกมันวางไข่แล้วทั้งพ่อและแม่ปลาก็จะจากไป แต่ปลาสายพันธุ์นี้ดูแลลูกๆ ของมันอย่างเต็มที่ รายงานจาก Brian Sidlauskas ภัณฑารักษ์ด้านปลาโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยโอเรกอน
ปลาสามทื่อตัวผู้ซึ่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังในทวีปอเมริกาเหนือ, ยุโรป และเอเชียตะวันออกจะสร้างรังของมันขึ้นมาเพื่อปกป้องไข่จากผู้ล่า รวมไปถึงยังคอยพัดกระแสน้ำเพื่อถ่ายเทออกซิเจนให้แก่ไข่อีกด้วย
“พวกมันขโมยและปกป้องไข่จากตัวผู้ด้วยกันเอง” Sidlauskas กล่าว และนี่คือพฤติกรรมปกติที่พบได้ในตัวผู้ทุกตัวของสายพันธุ์ รายงานการวิจัยในปี 2001 พบว่าภายในรังของปลาสามทื่อตัวผู้จะมีไข่ราว 30% ที่ขโมยมาจากรังของตัวผู้อื่นๆ
ดูเหมือนว่าการมีปริมาณไข่มากเท่าไหร่จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ตัวเมียเลือกพวกมันเป็นคู่ผสมพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น…
นกเรีย (Rheas)
นี่คือหนึ่งในยอดคุณพ่อ นกเรียเป็นนกบินไม่ได้ ทว่ามีขาอันแข็งแรง พวกมันมีถิ่นอาศัยในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อโตเต็มที่สามารถสูงได้ถึง 5 ฟุต และเจ้านกสง่างามตัวผู้เหล่านี้ไม่อายเสียด้วยที่จะปกป้องลูกๆ ของมันอย่างเต็มที่
นกเรียตัวผู้ทำหน้าที่สร้างรัง กกไข่ และปกป้องลูกๆ ที่เพิ่งเกิดเป็นระยะเวลาราว 6 เดือน ที่ว่าปกป้องนั้น อธิบายเพิ่มเติมว่าพวกมันหวงแหนลูกๆ มากเสียจนไม่ยอมให้สิ่งมีชีวิตใดเข้าใกล้แม้แต่นกเรียตัวเมียก็ตาม
กบดาร์วิน (Darwin’s Frogs)
วิธีการปกป้องลูกของกบดาร์วินที่มีถิ่นอาศัยในชิลี และอาร์เจนตินา เป็นอะไรที่สัตว์ตัวอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
เริ่มต้นด้วยกบตัวเมียจะวางไข่ลงบนพื้นของผืนป่า จากนั้นเมื่อไข่ฟักเป็นลูกอ๊อด กบดาร์วินตัวผู้จะอมลูกๆ ทั้งหมดเข้าไปในปาก บรรดาลูกอ๊อดจะเติบโตอยู่ภายในกล่องเสียงของมัน สถานที่ปลอดภัยที่สุดจากนักล่าทั้งปวง
เมื่อเวลาผ่านไป และลูกอ๊อดเริ่มพัฒนาเป็นกบตัวเล็กๆ คุณพ่อกบก็จะอ้าปากและสำรอกเอาลูกๆ ออกมา ปล่อยให้พวกมันเผชิญโลกต่อไปด้วยตนเอง น่าทึ่งมาก…
เรื่อง Liz Langley
อ่านเพิ่มเติม