ทีเร็กซ์ขยับลิ้นไม่ได้แบบในภาพยนตร์

ทีเร็กซ์ ขยับลิ้นไม่ได้แบบในภาพยนตร์

คุณอาจประหลาดใจที่พบว่าลิ้นไดโนเสาร์สามารถนำไปสู่อะไรได้มากมาย ทีเร็กซ์

ด้วยการเปรียบเทียบกระดูกชิ้นเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ยึดโคนลิ้นภายในฟอสซิลของไดโนเสาร์กับแอลลิเกเตอร์และนกสมัยใหม่ ทีมนักวิจัยพบว่าไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ ไม่สามารถขยับเขยื้อนลิ้นของพวกมันได้มากนัก รายงานล่าสุดนี้เผยแพร่ลงใน Plos One เมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายน 2018 โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่าลิ้นของไดโนเสาร์น่าจะคล้ายคลึงกับลิ้นของแอลลิเกเตอร์ที่ยึดติดอยู่กับพื้นปากมากกว่า

นั่นหมายความว่าเวลาที่คุณผู้อ่านเห็นไดโนเสาร์คำรามบนจอภาพยนตร์ และลิ้นของมันขยับไปมาตามแรงสั่นสะเทือน คุณสามารถหันไปบอกกับเพื่อนได้แล้วว่า “ที่เห็นอยู่นั่นไม่ใช่ของจริงหรอก!”

ภาพยนตร์นำเสนอผิดไปมากแค่ไหน

เพื่อที่จะศึกษากายวิภาคของลิ้นไดโนเสาร์ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสติน ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์จีนศึกษาฟอสซิลให้กว้างกว่านั้น ในจำนวนนี้รวมถึงนกในยุคไดโนเสาร์, ไดโนเสาร์กินพืช หรือแม้แต่ไดโนเสาร์ที่โด่งดังที่สุดอย่างทีเร็กซ์ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้กับภาพถ่ายความละเอียดของนกจำนวน 13 สายพันธุ์ และแอลลิเกเตอร์อีก 3 สายพันธุ์ พวกเขามุ่งการวิจัยไปที่กระดูกไฮออยด์เป็นหลัก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนกระดูกในคอที่ช่วยค้ำจุนกล้ามเนื้อโคนลิ้น โดยคาดหวังว่างานวิจัยครั้งนี้จะฉายภาพให้เห็นถึงวิวัฒนาการของลิ้นในสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ

สิ่งที่พวกเขาพบก็คือ ลิ้นส่วนใหญ่ของไดโนเสาร์นั้นสั้นและเรียบง่าย เช่นเดียวกับลิ้นของแอลลิเกเตอร์ นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่าพวกมันน่าจะมีวิธีการกินอาหารไม่ต่างจากญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน แอลลิเกเตอร์มีกระดูกไฮออยด์ที่สั้น และด้วยการที่ลิ้นของมันไม่สามารถขยับอะไรได้มากนัก นั่นหมายความว่ามันต้องกลืนอาหารเข้าไปในปาก

งานวิจัยล่าสุดนี้ไม่ใช่จุดเหมือนร่วมกันแรกระหว่างไดโนเสาร์ และแอลลิเกเตอร์ที่ Julia Clarke ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสตินหนึ่งในผู้ร่วมวิจัยพบ ก่อนหน้านี้ในปี 2016 เธอค้นพบว่าเสียงคำรามของไดโนเสาร์ที่เรามักคุ้นเคยกันจากการชมภาพยนตร์นั้นไม่ใช่ แท้จริงแล้วพวกมันน่าจะส่งเสียงแบบปิดปากคล้ายเป็ดมากกว่า “บรรดาผู้สร้างหนังผลิตซ้ำภาพจำของไดโนเสาร์ผิดมาตลอดเลยค่ะ” Clarke กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวงานวิจัย

ฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่พบในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนฉายให้เห็นร่องรอยของกระดูกไฮออยด์ ซึ่งเป็นหลักฐานวำคัญของวิวัฒนาการลิ้น
ภาพถ่ายโดย Courtesy Li Et Al

 

ลิ้นของพวกบินได้

ทว่าบางฟอสซิลเองก็มีลิ้นที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะบรรดาพวกเทอโรซอร์ และนกในยุคไดโนเสาร์นั้นทีมวิจัยพบว่าพวกมันมีลิ้นที่คล้ายคลึงกับนกสมัยใหม่ ซึ่งมีความหลากหลายตามการใช้งานที่ต่างกันไป

โดยลิ้นของนกในปัจจุบันนั้นมีตั้งแต่ทรงแหลม ทรงกรวย ไปจนถึงลิ้นยาวๆ ที่พับเก็บในกะโลหกศีรษะได้ นำมาสู่สมมุติฐานที่ว่าวิวัฒนาการของลิ้นที่หลากหลายของสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้อาจเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการการบินเช่นกัน

ทีมวิจัยนำเสนอทฤษฎีว่า เมื่อไดโนเสาร์พัฒนาแขนให้กลายเป็นปีก ลิ้นกลายมาเป็นอวัยวะสำคัญที่มีส่วนช่วยให้มันจัดการกับอาหาร เนื่องจากว่าการบินได้นั้นช่วยให้สิ่งมีชีวิตดังกล่าวพบแหล่งอาหารที่หลากหลายกว่า ดังนั้นพวกมันจึงต้องมีลิ้นที่พิเศษเพื่อเข้าถึง และจัดการกับเหยื่อนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

นกเพนกวินมีลิ้นที่มีปุ่มงองุ้มเข้าไปด้านในปาก เพื่อช่วยไม่ให้เหยื่อหลุดจากปากได้ง่าย ในขณะที่ห่านมีลิ้นแข็งแรงซึ่งมีขอบหยักสามารถช่วยตัดพืชที่มันกินได้ นกหัวขวานเองมีลิ้นยาวช่วยให้มันจับแมลง หรือนกฮัมมิ่งเบิร์ดมีลิ้นที่ยาวมากๆ เพื่อใช้กินน้ำหวานภายในเกสรดอกไม้

ทั้งนี้ไม่ใช่แค่สัตว์โบราณบินได้เท่านั้นที่น่าจะมีลิ้นอันซับซ้อน บรรดาไดโนเสาร์กินพืชอย่างไทเซราทอปส์ หรือแองคิโลซอรัสที่ต้องบดเคี้ยวใบพืชก็มีกระดูกไฮออยด์ที่ซับซ้อนกว่าพวกกินเนื้อเช่นกัน การศึกษาลิ้นของพวกมันจึงฉายภาพให้นักวิทยาศาสตร์มองเห็นว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์เหล่านี้มีวิถีชีวิตอย่างไร ตลอดจนวิวัฒนาการมาเป็นนกสมัยใหม่ได้เช่นไร

เรื่อง Theresa Machemer

 

อ่านเพิ่มเติม: ไดโนเสาร์กกไข่ตัวเองอย่างไรไม่ให้แตก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.