วิกฤตินกทะเล

วิกฤติ นกทะเล

องนึกภาพ นกทะเล สีเทาเหมือนหนู  รูปร่างเพรียว ขนาดไม่ใหญ่ไปกว่านกกิ้งโครง และใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตอยู่กลางมหาสมุทรเปิดดูสิ

นกโต้คลื่นสีเขม่าซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่นหนักไม่ถึง 40 กรัม หากินปลาขนาดเล็กและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในมหาสมุทร  ท่ามกลางเกลียวคลื่นในน้ำเย็นเฉียบและในทุกสภาพอากาศ ด้วยขาที่ห้อยลงและนิ้วตีนที่กรีดไปตามผิวน้ำพวกมันดูราวกับสามารถเดินไปบนน้ำได้อย่างผู้วิเศษ

ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งชาติหมู่เกาะแฟราลลอน  ห่างจากสะพานโกลเดนเกตในแซนแฟรนซิสโกไปทางตะวันตก 50 กิโลเมตร กลุ่มศิลปินท้องถิ่นสร้างกระท่อมเล็กๆ อย่างหยาบๆ ขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนคอนกรีตจากซากปรักหักพังของอาคารบนเกาะหลัก  ประตูบานเล็กในกระท่อมเปิดเข้าไปสู่ช่องแคบที่กรุด้วยพลาสติกใสเพล็กซิกลาส  ในคืนฤดูร้อน หากคุณเข้าไปข้างใน  แล้วฉายแสงสีแดง (เพราะรบกวนนกน้อยกว่าแสงสีขาว) คุณอาจได้เห็นนกโต้คลื่นสีเขม่ากกไข่อยู่ตรงก้นรอยแยกคุณอาจได้ยินเสียงร้องในเวลากลางคืนจากเพื่อนบ้านของมันตัวหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่   ลอดออกมาจากหินเหมือนเสียงจากอีกโลกหนึ่ง นั่นคือโลกของนกทะเลซึ่งโอบล้อมพื้นที่สองในสามของโลก แต่ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น

กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้  การมองไม่เห็นตัวเป็นข้อได้เปรียบของนกทะเล  แต่ปัจจุบัน เนื่องจากสัตว์นักล่าที่รุกรานและการประมงพาณิชย์คุกคามการดำรงอยู่ของนกทะเล  พวกมันจำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์ให้ช่วยปกป้อง และเป็นเรื่องยากที่จะดูแลสัตว์ที่คุณมองไม่เห็น

นักวิทยาศาสตร์สำรวจรังลักษณะเป็นกองมูลเรียงรายอยู่เต็มพื้นที่ รังเหล่านี้นกกาน้ำกัวเนย์ทิ้งไว้ที่ปุนตาซานฮวน ซึ่งเป็นคาบสมุทรแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของเปรู แต่แปรสภาพกลายเป็นเกาะเทียมด้วยกำแพงคอนกรีตสูงสองเมตรที่อุตสาหกรรมปุ๋ยมูลนกสร้างขึ้นเพื่อปกป้องแหล่งผสมพันธุ์นี้จากสัตว์ผู้ล่า นกกาน้ำกัวเนย์เป็นนกทะเลที่ทำรังหนาแน่นที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง โดยมีจำนวนสามหรือสี่รังต่อตารางเมตร

 

หมู่เกาะแฟราลลอนในปัจจุบันเป็นประตูบานเล็กที่เปิดสู่อดีตเมื่อครั้งที่นักทะเลมีอยู่มากมายทุกหนแห่ง ตอนผมไปเยือนเกาะหลักเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2017  มีนกกว่าครึ่งล้านตัวทำรังอยู่ในเขตอนุรักษ์แห่งนี้  นกพัฟฟิน นกกีเลอมอต นกกาน้ำ  นกอ็อกเลตสีคล้ำตัวอ้วนกระปุ๊กลุก นกอ็อกเลตโหนกหนาซึ่งมีโหนกหน้าตาประหลาด และนกนางนวลใหญ่อเมริกาตะวันตก อาศัยอยู่ตามลาดเขาชันและพื้นราบที่มีพืชพรรณขึ้นบางตา ล้อมรอบด้วยผืนน้ำสีน้ำเงินเข้ม

นกนางนวลเป็นอุปสรรคที่คุ้มค่ากับการฟันฝ่าเพื่อไปถึงคอโลนีหรือแหล่งรวมฝูงทำรังของนกเมอร์ปากเรียวบนเกาะ  เช้าวันหนึ่ง พีต วอร์ซีบอก นักชีววิทยาจากพอยต์บลู  ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ที่ช่วยกรมประมงและสัตว์ป่าสหรัฐฯ เฝ้าสังเกตสัตว์ป่าบนหมู่เกาะแฟราลลอน  พาผมขึ้นไปยังบังไพรไม้อัดเหนืออาณาจักรของนกเมอร์  นกสีขาวดำ 20,000 ตัวปกคลุมเต็มลาดเนินหินซึ่งทอดตัวลงไปสู่หน้าผาที่คลื่นซัดสาด  นกเมอร์มีจะงอยปากเรียวแหลม  ลักษณะคล้ายนกเพนกวินยืนเบียดเสียดกันกกไข่หรือปกป้องลูกจากอันตรายในอาณาเขตเล็กๆ เพียง 150 ตารางเซนติเมตร  คอโลนีแห่งนี้มีบรรยากาศของความขยันขันแข็งอย่างเงียบๆ  สลับกับเสียงร้องนุ่มนวลดังออกมาเป็นช่วงๆ  บางครั้งบางคราวนกเมอร์อาจตะลุมบอนกับเพื่อนบ้าน  แต่การทะเลาะเบาะแว้งนี้กินเวลาเพียงสั้นๆ  แล้วพวกมันก็กลับมาไซ้ขนราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

หมู่เกาะแชทัมของนิวซีแลนด์ประกอบด้วยเททาราคอยคอยอา (พีระมิด) ซึ่งเป็นแหล่งผสมพันธุ์เพียงแห่งเดียวของนก อัลบาทรอสหมู่เกาะแชทัมที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในแต่ละปี คู่ผสมพันธุ์ประมาณ 5,000 คู่จะมาทำรังที่นั่น ในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม นกส่วนใหญ่บินไปยังชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปอเมริกาใต้เป็นระยะทาง 9,500 กิโลเมตร เพื่อติดตามกระแสน้ำไปทางทิศเหนือสู่เปรู

ประชากรนกเมอร์ในปัจจุบันคือตัวแทนของเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน  แล้วจบลงด้วยดีอย่างน้อยก็ในตอนนี้   ย้อนหลังไปเมื่อสองร้อยปีก่อน  หมู่เกาะแฟราลลอนมีนกเมอร์ขยายพันธุ์มากถึงสามล้านตัว  ในปี 1849 เมื่อการตื่นทองทำให้แซนแฟรนซิสโกเจริญรุ่งเรือง หมู่เกาะนี้จึงกลายเป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูดใจสำหรับเมืองที่ไม่มีอุตสาหกรรมสัตว์ปีก  พอถึงปี 1851 บริษัทไข่แฟราลลอนเก็บไข่นกเมอร์ปีละห้าแสนฟองเพื่อขายให้แก่ร้านเบเกอรีและภัตตาคาร  พนักงานเก็บไข่ของบริษัทแล่นเรือมาถึงเกาะในฤดูใบไม้ผลิ  เหยียบย่ำไข่ที่นกวางไว้อยู่ก่อนแล้ว ลงมือเก็บไข่ที่เพิ่งออกใหม่ทุกฟอง  ในช่วงครึ่งศตวรรษต่อมา มีการเก็บไข่นกเมอร์อย่างน้อย 14 ล้านฟองจากหมู่เกาะแฟราลลอน  ความซื่อสัตย์ต่อแหล่งทำรังทำให้พวกมันหวนกลับมาปีแล้วปีเล่าเพื่อเห็นสิ่งที่พวกมันทุ่มเทให้ถูกปล้นไปต่อหน้าต่อตา

ครั้นล่วงถึงปี  1910 บนเกาะหลักเหลือนกเมอร์ไม่ถึง 20,000 ตัว  แม้หลังการเก็บไข่สิ้นสุดลงแล้ว นกเมอร์ยังตกเป็นเหยื่อของแมวและสุนัขที่ผู้ดูแลประภาคารของเกาะนำเข้าไป  ประชากรนกเมอร์ไม่ฟื้นตัวอย่างจริงจังจนกระทั่งหลังปี 1969 เมื่อเกาะหลักได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าของรัฐบาลกลาง

เรือประมงเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของนกทะเลก็จริง แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นอันตรายถึงตายสำหรับนกอัลบาทรอสเหล่านี้ และนกเพเทรลคางขาว (นกสีดำที่อยู่รอบนอก) ซึ่งติดเบ็ดราวตกปลาทูน่านอกชายฝั่งประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 2017 เนื่องจากหลักปฏิบัติการทำประมงอย่างยั่งยืน การจับนกเป็นสัตว์พลอยได้นอกชายฝั่งแอฟริกาใต้ในปัจจุบันลดลงเหลือปีละไม่กี่ร้อยตัว แต่ทั่วโลกเฉพาะเบ็ดราวเพียงอย่างเดียวฆ่านกทะเลกว่า 300,000 ตัว

(พยากรณ์อากาศจากนกทะเล)

นกเมอร์ที่เกาะแฟาราลลอนจัดว่าโชคดี  พวกมันรอดชีวิตมาได้จากภัยคุกคามหลักๆ ที่มีต่อนกทะเล  ในที่อื่นๆ ทั่วโลกช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ประชากรนกทะเลโดยรวมได้รับการประเมินว่าลดลงร้อยละ 70   ตัวเลขนี้แย่กว่าที่คิดมาก เพราะจำนวนชนิดนกทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้นไม่สมสัดส่วน  กล่าวคือจากนกทะเล 360 ชนิดในโลก ชนิดที่จัดว่าใกล้สูญพันธุ์หรือถูกคุกคามมีอัตราส่วนมากกว่ากลุ่มนกอื่นๆ ที่เทียบเคียงกันได้

เรื่อง  โจนาทาน แฟรนเซน

ภาพถ่าย  ทอมัส พี. เพสแชก

 

อ่านเพิ่มเติม

นกโดโดที่โด่งดังที่สุดไม่ได้ตายตามธรรมชาติ แต่ถูกฆาตกรรม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.