พวกเธออยู่บนท่าเรือ มือไม้เปรอะเปื้อนไปด้วยเครื่องในปลา ตอนที่โคนีนี รองโก และเบลลา สมิท รู้ว่า พวกเธอ อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์ฉลามขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เด็กสาวทั้งสองซึ่งอยู่ในวัย 17 ปี กำลังหั่นเครื่องในปลา เป็นชิ้นเล็ก ๆ อยู่ใกล้กับแถวเรือประมงที่ท่าเรือบนเกาะ ราโรตองกา ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดา 15 เกาะของ หมู่เกาะคุก พวกเธออาสาช่วยเจสสิกา แครมป์ นักชีววิทยาทางทะเลชาวอเมริกัน นำกล้องถ่ายภาพใต้นํ้าไปวางไว้เพื่อจับภาพ สัตว์นักล่า ที่น่าหวาดหวั่นที่สุดแห่งท้องะเล “ฉลาม” แต่ก่อนอื่นพวกเธอต้องจัดการกับเหยื่อล่อซึ่งเป็นงานเลอะเทอะ ขณะที่แครมป์ซึ่งได้ทุนสนับสนุนการทำงานจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และโรเล็กซ์ เล่าเรื่องราวของ เขตอนุรักษ์เนื้อที่ 1.96 ล้านตารางกิโลเมตรให้พวกเธอฟัง
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2011 แครมป์ย้ายมายังหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้แห่งนี้ที่ซึ่งแนวปะการังคลาคลํ่า ไปด้วยฉลาม เพื่อเริ่มรณรงค์ให้มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์ฉลามขึ้น สิบแปดเดือนต่อมามีการออกกฎหมายโดยกำหนดโทษปรับอย่างตํ่า 73,000 ดอลลาร์สหรัฐกับเรือทุกลำที่พบว่า ขายหรือขนส่งชิ้นส่วนฉลามในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของหมู่เกาะคุก
ตอนนี้แครมป์วางแผนจะฝังแถบสัญญาณดาวเทียมเข้าไปในหลังของฉลาม 28 ตัว เพื่อให้เธอติดตามความเคลื่อนไหวของพวกมันได้ แครมป์ต้องการทราบว่า พวกมันเดินทางไปที่ใดและไกลแค่ไหน ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการออกแบบมาตรการคุ้มครองที่ดีขึ้น
บนเรือ แครมป์ซักซ้อมการปฏิบัติงานกับเด็กสาวทั้งสอง ได้แก่ วิธีติดกล้องโกโปรและแท่งไม้เสียบเหยื่อล่อกับอุปกรณ์ ที่จะยึดพวกมันไว้กับก้นสมุทร วิธีบันทึกพิกัดจีพีเอสเพื่อที่จะดึงอุปกรณ์นี้ขึ้นมาในภายหลัง แครมป์อธิบายว่า ถ้าฉลามถูกเหยื่อล่อดึงดูดมายังบริเวณนี้ พวกเธอจะเกี่ยวฉลามขึ้นมา มัดมันไว้กับกราบเรือ กรีดตรงฐานของครีบหลังแล้วสอดแถบสัญญาณดาวเทียมเข้าไป พวกเด็กสาวมีทีท่าหวาดกลัว
“ฟังดูโหดร้ายใช่ไหม แต่มันจะให้ข้อมูลแก่เราในการออกนโยบายปกป้องพวกมัน” แครมป์บอก “เหตุผลหนึ่งที่เราศึกษาฉลามก็เพราะพวกมันกำลังตกที่นั่งลำบาก และเราอยากรู้ว่ากฎหมายที่เรามีในหมู่เกาะคุกนั้นใช้ได้ผลหรือไม่”
ก่อนจะมีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์ฉลามขึ้น เรือขนาดใหญ่ สามารถจับฉลามวันละห้าหรือหกตัวได้อย่างง่ายดาย จอช มิตเชลล์ ผู้ดูแลการประมงเชิงพาณิชย์ให้กระทรวงทรัพยากรทางทะเล บอก ผู้ตรวจการของเขาจะได้กลิ่นแอมโมเนียซึ่งซึมออกมาจากผิวหนังฉลาม ทันทีที่พวกมันขึ้นมาบนเรือ
มิตเชลล์เล่าว่า เมื่อนโยบายห้ามค้าฉลามอย่างสิ้นเชิงมีผลบังคับใช้ในปี 2012 พวกผู้ตรวจการก็ลดภาระลง เพราะไม่มีช่องโหว่ให้กับการตีความเรื่องนี้อีก นับตั้งแต่นั้นเรือสี่ลำต้องจ่ายค่าปรับรวมทั้งหมด 247,000 ดอลลาร์สหรัฐ
แครมป์ใช้เวลาสามปีคำนวณข้อมูลทั่วโลกเพื่อประเมินว่า เขตอนุรักษ์ขนาดใหญ่อย่างเขตอนุรักษ์แห่งหนึ่งที่เธอช่วยออกแบบทำให้ฉลามมีชีวิตรอดได้หรือไม่ เธอหวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้นักอนุรักษ์และผู้ออกกฎหมายพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น “ฉันแค่รู้ว่าฉลามยังคงล้มตายภายในเขตอนุรักษ์” แครมป์บอกและเสริมว่า “และถ้านโยบายเหล่านั้นไม่ได้ผล เจตจำนงทางการเมือง คำยกย่องสรรเสริญ และแรงผลักดันทั้งหลายก็คงไร้ความหมาย”
เธอเริ่มตระหนักว่า กระทั่งกฎหมายที่ดูเหมือนเด็ดขาด ก็ยังมีพื้นที่สีเทา ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่ทางการของหมู่เกาะคุก ไม่ได้ปรับเรือที่มีชิ้นส่วนฉลามอยู่บนเรือ เพราะเรือแค่แล่นผ่านน่านนํ้าของประเทศหรือเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์
ไม่กี่วันก่อนออกไปวางกล้อง แครมป์แวะที่ท่าเรือเพื่อหาเหยื่อ “วันนี้พวกคุณจับอะไรได้บ้างคะ” เธอถามกลุ่มชาวประมงที่ชุมนุมกันรอบโต๊ะปิกนิก “เห็นฉลามบ้างไหม” คำตอบของทั้งสองคำถามคือ ไม่ แต่แครมป์ได้ยินว่าคนหนึ่งในพวกเขาเพิ่งฆ่าฉลามไปตัวหนึ่ง และเธอก็เผชิญหน้ากับเขา “ก็มันมายุ่งวุ่นวายกับผม!” เขาตะโกนกลับ
แครมป์เป็นคนดังในท่าเรือ พวกชาวประมงเรียกเธอว่า คุณผู้หญิงฉลาม เธอพยายามไม่เทศนาชายผู้นี้เรื่องการฆ่า แค่พูดพอให้เรื่องนี้ติดอยู่ในหัวของเขา “เขาจะเริ่มฆ่าฉลามน้อยลง เพราะเขาจะรู้สึกไม่ดีค่ะ” เธอบอก
ระหว่างแล่นเรือออกไปวางและเก็บกล้องกลับมา ผู้ช่วย วัยเยาว์ของแครมป์ไม่พบฉลามเลย วันต่อมาพวกเธอดูฟุตเทจ จากกล้อง เป็นภาพปลาตอดแท่งไม้เสียบเหยื่อ ปลาไหลสู้กันอยู่หน้ากล้อง สองชั่วโมงต่อมา แครมป์เห็นบางสิ่งว่าย เป็นวงกลมอยู่ในฉากหลัง “นั่นฉลามนี่!” พวกเธอแปะมือกันรอบวง “นั่นเป็นจุดที่ฉันวางกล้องไว้” รองโกพูดอย่างภูมิใจ
แครมป์นึกภาพว่าสักวันหนึ่งจะส่งต่องานของเธอให้ชาวหมู่เกาะคุก รองโกและสมิทซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ทั้งคู่ กำลังคิดว่าจะไปเรียนชีววิทยาทางทะเลในมหาวิทยาลัย “แทนที่จะพูดว่า ‘ฉันทำงานในสำนักงาน’ คุณจะพูดว่า ‘ฉันเป็นคุณผู้หญิงฉลาม’ ” สมิทใคร่ครวญ “ช่างเป็นฉายาที่เท่อะไรอย่างนี้”
เรื่อง นีนา สตรอคลิก
ภาพถ่าย แอนดี แมนน์
อ่านเพิ่มเติม