นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบ ฟอสซิลลูกงู สภาพสมบูรณ์ในก้อนอำพัน ฟอสซิลหายากดังกล่าวนี้มีอายุเก่าแก่ถึง 99 ล้านปี และถือได้ว่าเป็นฟอสซิลของงูในระบบนิเวศแบบป่าที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา รายงานการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Science Advances
ทีมนักวิจัยตั้งชื่อให้แก่งูสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า Xiaophis myanmarensis ดูเหมือนว่ามันจะเป็นญาติกับงูสมัยใหม่ที่มีถิ่นอาศัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นงูเขียวหางไหม้ และงูแสงอาทิตย์ รายงานจาก Lida Xing หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีน และยังเป็นนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกอีกด้วย
“ไม่เคยมีใครค้นพบฟอสซิลของลูกงูมาก่อน และฟอสซิลชิ้นนี้มีความเก่าแก่ถึงเกือบร้อยล้านปี ซึ่งมันน่ามหัศจรรย์มาก” Michael Caldwell หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ในเมืองอัดมันตัน ของแคนาดากล่าว “แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเจ้างูโบราณนี้ถือกำเนิด หรือออกจากไข่อย่างไร แต่จากขนาดและระยะการพัฒนาของร่างกายแล้วบ่งชี้ว่ามันเป็นงูที่เพิ่งเกิด”
“ผมบอกไม่ได้ว่าเจ้างูน้อยตัวนี้ถูกยางไม้กลบทับตั้งแต่มันยังอยู่ในไข่ หรือมันเพิ่งฟักออกมาได้ไม่นานแล้วก็มาติดในอำพัน” Caldwell กล่าวเสริม
นอกจากนั้นยังพบอำพันอีกก้อนหนึ่งจากเหมืองอำพันในเมียนมาเช่นกัน ภายในบรรจุเศษผิวหนังของงูที่มีลวดลายทั้งสีอ่อนและสีเข้ม ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นของงู Xiaophis โตเต็มวัย หรือไม่ก็มาจากงูโบราณสายพันธุ์อื่นๆ
อย่างไรก็ดีทีมนักวิจัยไม่อาจยืนยันได้ว่าเศษผิวหนังดังกล่าวเป็นของงูจริงหรือไม่ แต่ด้วยขนาด รูปร่าง และการเรียงตัวของเกล็ดบ่งชี้ว่าผิวหนังนี้น่าจะเป็นของงูโบราณ และหากพิสูจน์ว่าเป็นเกล็ดของงูจริง นี่จะเป็นการค้นพบเกล็ดงูในอำพันครั้งแรกด้วยเช่นกัน
อำพันมากมายจากเหมืองในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของเมียนมา มีส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลทางบรรพชีวินวิทยา ก่อนหน้านี้มีการค้นพบฟอสซิลของนก, กบจากป่าฝนเขตร้อน ไปจนถึงหมัดที่ดูดเลือดไดโนเสาร์จนอิ่ม หรือแม้แต่หางไดโนเสาร์ที่ยังมีเส้นขนอยู่ และ Xing ยังเสริมว่าตัวเขาเพิ่งจะได้รับตัวอย่างผิวหนังที่ถูกค้นพบเมื่อต้นปี 2016 จากสถาบันบรรพชีวินวิทยา Dexu ในเมืองแต้จิ๋วของจีน ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นผิวหนังของจระเข้โบราณ
สำหรับฟอสซิลของงูน้อยในก้อนอำพันนั้น ทีมวิจัยใช้รังสีเอ็กซ์สแกน เพื่อสร้างโมเดลภาพสามมิติของอนาโตมีสัตว์ที่ฝังอยู่ในก้อนอำพันขึ้นมา พวกเขาพบว่ามันมีความยาวที่น้อยกว่า 2 นิ้ว เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นว่าลูกงูมีขนาดเล็กมากจนยากที่จะเห็นรายละเอียด ทว่าข้อมูลจากการสแกนช่วยให้ทีมวิจัยสามารถศึกษาลักษณะของรูปร่าง และกระดูกสันหลังจำนวน 97 ชิ้นของมันได้
ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ดูเหมือนว่าลูกงูตัวนี้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับงูที่พบทางตอนเหนือของมหาทวีปลอเรเซีย ทว่าในยุคครีเตเชียสนั้น ผืนดินของพม่าเป็นส่วนหนึ่งของทางตอนใต้ของทวีปกอนด์วานา นั่นหมายความว่าในอดีตระหว่างสองทวีปนี้อาจมีผินแผ่นดินเชื่อมต่อถึงกัน ส่งผลให้งูดังกล่าวสามารถกระจายพันธุ์ไปได้
ที่น่าสนใจก็คือ ฟอสซิลของลูกงูนั้นมีคุณสมบัติบางประการที่ไม่พบในงูปัจจุบัน เช่น เงี่ยงรูปตัววีที่ปรากฏอยู่ปลายกระดูกหาง เป็นไปได้ว่าเงี่ยงนี้อาจช่วยปกป้องหลอดเลือดแดงบริเวณหาง หรือไม่ก็ช่วยในการทรงตัวเมื่อพวกมันวิวัฒนาการให้สูญเสียขาไป
“เราไม่มีฟอสซิลสมบูรณ์ของงูโบราณมากพอ” John Scanlon นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ในนครซิดนีย์ ของออสเตรเลียกล่าว เมื่อเที่ยบกับฟอสซิลของกิ้งก่าโบราณที่มักพบเจอได้บ่อยครั้งกว่า “ก่อนหน้านี้มีฟอสซิลสภาพสมบูรณ์ของงูโบราณถูกค้นพบอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกมันเป็นงูน้ำที่อาศัยอยูบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเป็นตัวแทนของสายพันธุ์สัตว์เลื้อยคลานในน้ำมากกว่า ทว่าการค้นพบ Xiaophis แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมบนบกเมื่อร้อยล้านปีก่อน ก็เป็นที่อยู่อาศัยของงูเช่นกัน”
น่าเศร้าที่หัวกะโหลกของลูกงงูตัวนี้สูญหายไป ไม่เช่นนั้นทีมนักวิจัยคงได้ข้อมูลมากกว่านี้ในด้านนิเวศวิทยา, ลักษณะอาหาร ไปจนถึงความเชื่อมโยงกับงูสายพันธุ์อื่นๆ ของมันมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี Scanlon ชี้ว่าการพบเจอฟอสซิลงูตัวแรกจากก้อนอำพันในเมียนมา บ่งบอกว่ายังมีฟอสซิลอีกมากมาที่รอให้พวกเขาได้ค้นพบต่อ “เราต้องเดินหน้าค้นหากันต่อไป และไม่ใช่แค่ศึกษาจากอำพันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพื้นที่อื่นๆ ที่เจ้างู Xiaophis อาจมีถิ่นอาศัยอยู่ เช่น มองโกเลีย เป็นต้น”
เรื่อง John Pickrell
อ่านเพิ่มเติม