ชาวมาไซเหล่านี้ต้อนปศุสัตว์และแกะจากหมู่บ้านของตนเข้าไปหากินในเขตสงวนมาไซมารา แย่งพืชอาหารของสัตว์ป่าที่สิงโตและไฮยีนาล่ากินตามปกติ เมื่อสัตว์นักล่าหันมาจับปศุสัตว์กิน คน
ในเคนยาและทั่วทั้ง แอฟริกา ยาเบื่อถูกนำมาใช้ฆ่าสัตว์เล็กเพื่อเป็นอาหาร (ผลที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์ยังไม่ชัดเจน) ล้มช้างหรือแรดเพื่อเอางาและเขา ไปจนถึงเอาอวัยวะหรือชิ้นส่วนสัตว์ไปปรุงเป็นเครื่องยา สาเหตุน่ากังวลอีกประการของการใช้ยาเบื่อเกิดจากการเผชิญหน้าของคนกับสัตว์ป่า เช่น เมื่อสิงโตหรือไฮยีนาฆ่าปศุสัตว์ หรือช้างบุกเข้าไปกินพืชผลในไร่ ชาวบ้านมักใช้ยาฆ่าแมลงเพราะมีราคาถูก หาซื้อง่าย และรุนแรงถึงตาย
การวางยาเบื่อเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไร้ทางแก้ การวางยาเพื่อแก้แค้นอาจเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ แต่หลักฐานการทำเช่นนั้นมักเป็นเรื่องเล่าลือและมักจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ถึงอย่างนั้น เกือบทุกคนที่เฝ้าระวังสัตว์ป่าในเคนยา ทั้งนักชีววิทยา เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และกลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ ล้วนเห็นตรงกันว่า การวางยามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่ามีมากขึ้น
คนทั่วโลกใช้ยาพิษล่าสัตว์และสังหารศัตรูมานานแล้ว ในแอฟริกาตะวันออก ต้น อโคคันทีรา มีสารประกอบที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหัวใจหยุดเต้นและเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาหลายร้อยปีแล้ว ในระยะหลังมานี้ การใช้สารสตริกนินเพื่อกำจัด “สัตว์รบกวน” เป็นเรื่องปกติเสียจนกระทั่ง จอร์จ แอดัมสัน นักอนุรักษ์ชื่อดังซึ่งชาวเคนยารู้จักกันในชื่อที่เรียกอย่างนับถือว่า บาบา ยา ซิมบา (พ่อสิงโตในภาษาสวาฮิลี) ใช้มันฆ่าไฮยีนาที่สร้างความรำคาญให้เขา
แต่การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลที่สุดซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และยังก่อปัญหาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของแอฟริกาและประเทศอื่นๆ คือการพัฒนายาพิษสังเคราะห์เพื่อการเกษตร ซึ่งก็คือยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เมื่อประชากรมนุษย์เริ่มพุ่งสูงในแอฟริกาและการแย่งชิงที่ทำกินและอาหารรุนแรงขึ้น เจ้าของที่ดินและคนเลี้ยงสัตว์พบว่า ยาฆ่าแมลงยังใช้ฆ่าสัตว์นักล่าต่างๆ (สิงโต เสือดาว หมาป่า แจ็กคัล) สัตว์กินซาก (ไฮยีนา แร้ง) และสัตว์รบกวนพืชผล (ช้าง และนกบางชนิด) ได้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง คนก็เริ่มหันมาใช้สารเคมีอันตรายล่าเป็ดและนกน้ำอื่นๆ เพื่อขายเป็นอาหาร
การเคลื่อนไหวระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาการวางยาเบื่อเริ่มขึ้นเมื่อเนเจอร์เคนยา (Nature Kenya) องค์กรธรรมชาติวิทยาเก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออก รู้ว่าเกษตรกรทางเหนือใช้ยาฆ่าแมลงฆ่าสิงโต ดาร์ซี โอกาดา ซึ่งอยู่ในคณะทำงานด้านนกของเนเจอร์เคนยา อาสาออกแบบและควบคุมกการสำรวจเพื่อวัดระดับของปัญหา เธอรับนักปักษีวิทยาชื่อมาร์ติน โอดีโน มาช่วยทำแบบสอบถาม
สถานที่หนึ่งที่ทั้งคู่สนใจคือทุ่งนาบุนยาลาริมทะเลสาบวิกตอเรีย ทางตะวันตกของเคนยา จากรายงานอย่างไม่เป็นทางการ คนที่นั่นฆ่านกด้วยยาฆ่าแมลงฟูราดาน 5จี (Furadan 5G) ซึ่งมีสารประกอบคาร์โบฟูรานที่เป็นพิษต่อระบบประสาทอย่างรุนแรงจนถูกห้ามใช้หรือจำกัดการใช้อย่างเข้มงวดในแคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และจีน และสหรัฐฯ
ตอนที่โอนดีโนไปภูมิภาคบุนยาลาครั้งแรก เขาพบว่าร้านจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตรส่วนใหญ่ในชนบทขายฟูราดานให้คนทั่วไป เขายืนยันว่าพรานผสมฟูราดานในข้าวเพื่อฆ่าเป็ด และใส่ในหอยทากเพื่อฆ่านกกระสาปากห่างที่กินหอยเหล่านั้น มีสัตว์ตายหลายพันตัว พรานขายนกให้ชาวบ้านซึ่งเชื่อว่า เนื้อสัตว์ป่าแม้จะปนเปื้อน แต่หากปรุงอย่างดีจะไม่เป็นหรือเกือบไม่เป็นอันตราย
โอกาดานำข้อค้นพบเหล่านี้ไปรายงานแก่เปาลา คาฮุมบู ซีอีโอของไวลด์ไลฟ์ไดเร็กต์ และนักอนุรักษ์ผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในเคนยา ซึ่งได้ยินเรื่องทำนองเดียวกันจากพื้นที่อื่นๆในประเทศ คาฮุมบูตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้การประชุมครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2008 คือ “จุดเปลี่ยนสำคัญ” โอกาดาบอก “เป็นครั้งแรกที่นักอนุรักษ์ทั้งกลุ่มหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาถกเถียงในห้องเดียวกัน” ถึงอย่างนั้น คาฮุมบูก็รู้ดีว่า การโน้มน้าวให้รัฐบาลสั่งห้ามสารเคมีที่อุตสาหกรรมเกษตรซึ่งกำลังเติบโตของเคนยาต้องพึ่งพาเป็นเรื่องยาก เธอบอกว่า “พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกันและราคาถูกกว่านี้ค่ะ”
ในช่วงแล้งจัด ปศุสัตว์หลายพันตัวลักลอบเข้าไปเดินในถิ่นอาศัยของสิงโต ส่งผลให้พวกมันพัฒนาความชื่นชอบในสัตว์ที่ไม่ค่อยฉลาดและเคลื่อนไหวเชื่องช้าเหล่านี้ สิงโตล่าเหยื่อทั้งสองด้านของพรมแดน ในประเทศที่การครอบครองปืนอย่างถูกกฎหมายเป็นไปได้ยาก คนเลี้ยงสัตว์จึงหันไปหาอาวุธใกล้มือ นั่นคือยาพิษหรือหอก
เพราะรู้ว่าการยุติความวุ่นวายนี้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ไม่ลุกลามบานปลาย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของคนในท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอหลายแห่งได้ทดสอบวิธีใหม่ นั่นคือการอนุรักษ์ที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน เพื่อลดการวางยาเบื่อเแก้แค้น การลักลอบล่า และการใช้ความรุนแรงอื่นๆ กับสัตว์ป่าของเคนยา
กลยุทธ์เหล่านี้ประกอบด้วยการลาดตระเวนหากับดักลวดแบบพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิธีที่ย่อมเยาและได้ผลในการจับม้าลายหรือสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารอื่นๆ การให้เงินชดเชยปศุสัตว์หรือแพะที่หายไปแก่เจ้าของ (โดยใช้งบจากภาครัฐและเอกชน) และการปรับปรุงคอกปศุสัตว์ซึ่งมักทำจากกิ่งไม้ผอมแห้งสำหรับเก็บสัตว์ตอนกลางคืน นับตั้งแต่ปี 2010 กองทุนแอนน์เคนต์เทย์เลอร์ให้ทุนในการเสริมความแข็งแรงของรั้วเกือบ 800 คอกในภูมิภาคมารา และการล่าปศุสัตว์ก็ลดลงในเกือบทุกกรณี นั่นหมายความว่าแรงจูงใจหลักของการแก้แค้นและการวางยาเบื่อเพื่อป้องกันสัตว์หมดไป
กลยุทธ์หนึ่งที่ดูจะได้ผลที่สุดคือการจ้างคนในพื้นที่เป็นผู้พิทักษ์ คนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และนักอนุรักษ์ “การจัดการสัตว์ป่าคือการจัดการคนครับ” ริชาร์ด บอนแนม ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์บิ๊กไลฟ์ สรุปปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าในแอฟริกา
เรื่อง เอ็ดวิน ด็อบบ์
ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์
อ่านเพิ่มเติม