นกทะเลเช่นในภาพมักเผชิญกับการติดอวนหาปลาโดยไม่ตั้งใจบ่อยครั้ง แต่ผลการศึกษาใหม่พบว่า แสงแอลอีดี สีเขียวที่ใช้ไล่เต่าทะเลสามารถใช้ขับไล่นกทะเลได้ด้วยเช่นกัน
ภาพถ่ายโดย Pierre Gleizes
นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่า แสงแอลอีดี สีเขียวจากหลอดไฟจะเป็นวิธีใหม่ในการช่วยชีวิตบรรดาสัตว์น้ำ
จากผลการศึกษาใหม่พบว่า หลอดแอลอีดีสีเขียวที่ผูกกับอวนติดตา อวนประเภทหนึ่งที่ใช้ในการทำประมง มีส่วนสำคัญในการช่วยลดจำนวนนกทะเล เช่น นกกาน้ำ หรือนกอัลบาทรอสไม่ให้ไปติดกับอวนโดยไม่ได้ตั้งใจขณะกำลังดำน้ำหาปลาได้ถึง 85%
อันที่จริงวิธีการนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยชีวิตเต่าทะเลมาก่อน แสงสีเขียวกลายเป็นตัวเลือกหลักเพราะสีเขียวเป็นความยาวคลื่นที่เต่ามองเห็น ในขณะที่ปลามองไม่เห็น จึงเป็นการไล่เต่าทางอ้อมไม่ให้เข้ามายุ่มย่ามกับอวนจับปลา
ปัจจุบันเต่าทะเลทุกชนิดกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมประมงยิ่งคุกคามชีวิตของมันมากขึ้น การศึกษาก่อนหน้าโดยทีมนักวิจัยเดียวกันนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการนำแสงไฟแอลอีดีมาใช้ จำนวนเต่าที่ติดอวนจับปลาก็ลดลงถึง 64% อุปกรณ์ราคาย่อมเยานี้กำลังกลายมาเป็นความหวังใหม่ในการปกป้องสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ อย่างไรก็ดีกลุ่มสิทธิสัตว์มองว่า วิธีการนี้หาได้ช่วยปกป้องอันตรายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับสัตว์น้ำในมหาสมุทร
การทดสอบแสงสีเขียว
บรรดาสัตว์ทะเลที่ถูกจับติดอวนขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจเหล่านี้ถูกเรียกว่า สัตว์พลอยได้ (bycatch) มันเป็นสถานการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นได้แม้ชาวประมงจะหลีกเลี่ยงแล้วก็ตาม ในจำนวนนี้สัตว์พลอยได้มีตั้งแต่โลมา, วาฬ, เต่า ไปจนถึงฉลามซึ่งมีจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายพันธุ์สัตว์หายากที่มีประชากรน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำพลอยได้เป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกทั้งต่อนักอนุรักษ์และชาวประมงเอง
ด้านอุตสาหกรรมประมงเองมีแรงจูงใจในการลดจำนวนสัตว์พลอยได้ เนื่องจากสัตว์ที่เข้ามาติดอวนโดยไม่ตั้งใจมักทำลายอวนให้เสียหายไปด้วย
ในการทดสอบว่าแสงไฟใช้ได้ผลกับนกหรือไม่ Jeffery Mangel นักชีววิทยา มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ทำงานร่วมกับกลุ่มนักอนุรักษ์ชาวเปรู “Pro Delphinus” ศึกษาเปรียบเทียบอวนจำนวน 114 อวน โดยแต่ละอวนมีความยาวเฉลี่ย 500 เมตร นอกชายฝั่งเปรู ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งติดไฟส่องสว่างทุกๆ 10 เมตร ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งไม่มีไฟแอลอีดี
“เราเลือกศึกษาพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นสถานที่มีเต่าติดอวนกันชุกชุม” Mangel หมายถึงแนวชายฝั่งดังกล่าวที่นกทะเลตายเป็นพันตัวทุกๆ ปี จากการติดอวนโดยไม่ตั้งใจ
ผลการศึกษาพบว่า อวนฝั่งที่มีไฟแอลอีดีลดจำนวนนกาน้ำที่ติดอวนโดยไม่ตั้งใจลงถึง 85% เมื่อเทียบกับอวนที่ไม่ได้ติดไฟ อวนปกติมีนก 39 ตัวที่ติดอวน ส่วนในอวนติดไฟแอลอีดีมีเพียง 6 ตัวเท่านั้น คาดการณ์ว่าแสงไฟจากหลอดแอลอีดีช่วยให้นกมองเห็นอวนชัดขึ้น และหลีกเลี่ยงที่จะบินเข้ามาติด
ก่อนหน้านี้เครื่องมือส่งสัญญาณนำเสียงที่ใช้ขับไล่โลมาและวาฬได้ผลสำเร็จดีเยี่ยม เนื่องจากว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลเหล่านี้สื่อสารกันด้วยคลื่นเสียง ทว่าสำหรับเครื่องมือที่ใช้ยับยั้งนกและเต่ายังคงเป็นปริศนา ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ไม่มั่นใจว่าเหตุใดแสงสีเขียวจึงมีผลกับพวกมัน
“ที่เรารู้แน่นอนคือมันได้ผล แต่อย่างไรเนี่ยสิที่เป็นประเด็น?” Mangel กล่าว
นำไปประยุกต์ใช้ต่อ?
ในเปรู อวนติดตาคือเครื่องมือทำกินสำคัญของอุตสาหกรรมประมงขนาดเล็ก และ Mangel คาดหวังว่าการเพิ่มหลอดแอลอีดีเข้าไปจะช่วยให้บรรดาชาวประมงพบพื้นที่ตรงกลางระหว่างชางบ้านที่ยังต้องทำมาหากิน กับบรรดานักอนุรักษ์ที่ไม่ต้องการเห็นสัตว์พลอยได้ต้องมาตายลงเพราะอวนติดตา “ชุมชนแห่งนี้คือชุมชนชาวประมง และเราพยายามหาหนทางแก้ปัญหาเพื่อให้พวกเขายังคงทำมาหากินต่อไปได้” เขากล่าว
“ข้อดีของการติดไฟให้อวนนอกจากจะลดจำนวนสัตว์พลอยได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการทำประมงแบบยั่งยืนในเปรูอีกด้วย” Juan Carlos Riveros ผู้อำนวยการสถาบัน Oceana Peru กล่าว พร้อมเน้นย้ำให้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของการติดไฟให้อวน “มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการใช้เทคโนโลยีนี้ ก่อนที่วิธีดังกล่าวจะแพร่หลายไปทั่ว”
ด้านบรรดานักสิทธิสัตว์เองไม่เห็นด้วยกับการใช้อวนติดตาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว “โดยทั่วไปอวนติดตาคือความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของสัตว์น้ำเป้าหมาย และสัตว์พลอยได้” Todd Steiner ผู้อำนวยการพิเศษองค์กร Turtle Island Restoration Network ระบุผ่านอีเมล์ ตัวเขากังวลว่าแสงไฟที่มีขึ้นเพื่อปกป้องสายพันธุ์หนึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงในการคร่าชีวิตอีกสายพันธุ์
ในอนาคต Mangel มีแผนที่จะศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าแสงไฟแอลอีดีจะสามารถใช้ขับไล่สัตว์น้ำอย่างวาฬ โลมา และพอร์พอยส์ ซึ่งเป็นวาฬขนาดเล็กได้หรือไม่
เรื่อง ซาราห์ กิบเบนส์
อ่านเพิ่มเติม