เอเลี่ยนสปีชีส์เดินทางข้ามมหาสมุทรด้วยขยะพลาสติก

ลังพลาสติกที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตตามแนวชายฝั่งชิ้นนี้เป็นหนึ่งในขยะพลาสติกจากเหตุสึนามิ ในญี่ปุ่น ปี 2011 มันเดินทางถึงหาดในนครซานฟรานซิสโก เมื่อปี 2014
ภาพถ่ายโดย Gail Ashton และ Katherine Newcomer

เอเลี่ยนสปีชีส์ เดินทางข้ามมหาสมุทรด้วยขยะพลาสติก

เราทราบกันดีว่าทุกวันนี้มหาสมุทรเต็มไปด้วยขยะพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ทว่าจากผลการศึกษาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยคิดมาก่อนว่าขยะเหล่านี้จะทำหน้าที่ดั่งเรือโดยสาร นำพาสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่น หรือที่เรียกกันว่า เอเลี่ยนสปีชีส์ เข้ามายังสหรัฐอเมริกา เท่านั้นยังไม่พอที่น่าประหลาดใจก็คือบรรดาสัตว์เหล่านั้นยังสามารถเจริญเติบโตระหว่างทางได้อีกด้วย

หลังคลื่นสึนามิถาโถมเข้ายังชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น อุปกรณ์จับปลาอย่าง อวน ไปจนถึงเรือหาปลาถูกคลื่นพัดพาให้ลอยออกทะเลไปยังหมู่เกาะฮาวาย และอ่าวทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมถึงขยะพลาสติกอื่นๆ ปริมาณมหาศาลด้วยเช่นกัน เรื่องเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์ทราบดี แต่สิ่งที่พวกเขาเพิ่งพบเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ บนขยะมีผู้โดยสารร่วมเดินทางมาด้วย มันคือ หอยแมลงภู่, หอยแครง และเพรียงจากญี่ปุ่น ที่น่าทึ่งก็คือพวกมันสามารถมีชีวิตรอดได้ตลอดการเดินทางยาวนานถึง 6 ปี ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก และไม่ใช่แค่รอดชีวิต แต่ยังพร้อมที่จะผสมพันธุ์อีกด้วย

“จนตอนนี้ เราก็ไม่อยากจะเชื่อว่าเจ้าสิ่งมีชีวิตตามแนวชายฝั่งจะอยู่รอดปลอดภัยตลอดการเดินทาง” Greg Ruiz นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมทางทะเล สถาบันสมิธโซเนียน (SERC) กล่าว “มันแสดงให้เราเห็นถึงความสามารถที่ไม่เคยพบมาก่อน และผมเชื่อว่ากรณีนี้จะถูกพบเจออีกมากจากจำนวนขยะในทะเลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

ทีมวิจัยเก็บรวบรวมขยะให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในช่วงระยะเวลา 6 ปี ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบสิ่งมีชีวิตจากญี่ปุ่นมากถึง 289 สายพันธุ์ที่รอดชีวิตมากับขยะ

ขณะนี้ Christina Simkanin นักวิจัยด้านชีววิทยากำลังศึกษาดูว่ามีสายพันธุ์ไหนบ้างที่พร้อมจะผลิตประชากรเพิ่ม เมื่อพวกมันเดินทางถึงชายฝั่งสหรัฐฯ เนื่องจากสัตว์เหล่านี้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ จึงอาจเป็นอันตรายต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่ได้

ยกตัวอย่างเช่น สาหร่ายญี่ปุ่นพันธุ์หนึ่ง ที่ปัจจุบันได้แพร่พันธุ์ไปแล้วในนครซานฟรานซิสโก และนครซานดิเอโก ปูที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งของญี่ปุ่นเอง ตลอดจนหอยแมลงภู่ที่มาจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็อยู่ในลิสต์ความกังวลนี้ เนื่องจากพวกมันอาจนำเอาปรสิตที่ไม่เคยพบมาก่อนมาเยือนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และแคนาดา

ในบรรดาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่เดินทางมากับขยะพลาสติก คือเพรียงหัวหอมตัวนี้ด้วย ปกติแล้วมักพบเกาะอยู่กับสถานีวิจัยหรือท่าเรือ
ภาพถ่ายโดย Brianna Tracy, สถาบันสมิธโซเนียน

ปกติแล้วเมื่อบรรดานักวิทยาศาสตร์ออกมาป่าวประกาศว่ามีสัตว์ต่างถิ่นเดินทางมาถึง พวกเขามักให้ความรู้เพิ่มด้วยว่าพวกมันเดินทางมาอย่างไร ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ บรรดาสัตว์น้ำเดินทางมาพร้อมกับเรือประมง สายพันธุ์เอเลี่ยนสปีชีส์ถูกขายต่อ และปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติในที่สุด แต่สำหรับการมาถึงของสัตว์ที่เป็นผลพวงจากคลื่นสึนามินี้ยังคงเป็นปริศนา และกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์คิดว่า มีผู้โดยสารประเภทนี้ข้ามมหาสมุทรมามากน้อยแค่ไหนกัน?

“มันอาจเกิดขึ้นมาเป็นพักใหญ่แล้ว” Simkanin กล่าว ซากขยะเหล่านี้คงลอยตัวอยู่บริเวณชายฝั่ง เย้ายวนให้บรรดาหอย ปู กุ้งนี้สงสัยเข้ามาสำรวจ จากนั้นด้วยอะไรบางอย่างขยะเหล่านี้ก็ลอยออกสู่ทะเล “อะไรที่ว่าอาจจะเป็นพายุที่พัดพวกมันออกไป” และเหตุการณ์ทำนองนี้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในอดีต สิ่งมีชีวิตตามแนวชายฝั่งเหล่านี้เดินทางข้ามทะเลผ่านเศษไม้เช่นกัน แต่พลาสติกช่วยให้การเดินทางของพวกมันมั่นคงกว่า เมื่อขยะพลาสติกไม่แตกหักระหว่างทางเช่นเศษไม้ และเรือเหล่านี้จะทำหน้าที่บรรทุกผู้โดยสารไปอีกนานเท่านานจนกว่ามันจะแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไป ซึ่งอาจใช้เวลานานนับร้อยปี

นอกจากนั้นการที่มีขยะพลาสติกลอยเต็มทะเลเช่นนี้ยังก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ ว่าพวกมันมีชีวิตบนวัสดุอย่างพลาสติกได้อย่างไร? หรือขยะเหล่านี้กระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยระหว่างทาง ถ้าเช่นนั้นโรงแรมลอยน้ำเหล่านี้เสิร์ฟอาหารให้แขกที่พักได้อย่างไร? ตลอดจนจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกมันถ้าขยะไม่ลอยเข้าฝั่ง แต่ไปติดอยู่กับแพขยะพลาสติกอื่นๆ กลางมหาสมุทร?

แม้แต่ทากทะเลเองก็ถูกพบในขยะที่ถูกพัดเข้าหาชายฝั่ง
ภาพถ่ายโดย Brianna Tracy, สถาบันสมิธโซเนียน

Linsey Haram นักวิจัยหลังปริญญาเอก คือหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการหาคำตอบ และในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ เธอจะทำงานร่วมกับ The Ocean Cleanup มูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเก็บขยะปริมาณ 80,000 เมตริกตันออกจากมหาสมุทร ในการศึกษาแพขยะใหญ่แปซิฟิกที่ลอยตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือ ทีมวิจัยคาดหวังว่าพวกเขาจะพบสิ่งมีชีวิตเอเลี่ยนสปีชีส์ชนิดเดียวกันกับที่พบในอ่าวทางตะวันตก ของสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกันพวกเขาก็คาดหวังว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่บนแพขยะอาจปรับตัวให้สามารถรอดชีวิตบนสิ่งปลูกสร้างจากน้ำมือมนุษย์ได้

“สมมุติฐานของเรามาจากการที่สัตว์ตามชายฝั่งเหล่านี้สามารถเอาชีวิตรอดได้ในทะเล และยังออกลูกหลานได้อีก” Ruiz กล่าว ตัวเขาต้องการทราบมากว่าพวกมันกินอะไรเป็นอาหารขณะลอยเคว้งคว้างกลางทะเล ปกติแล้วบรรดาหอย เพรียง อาจเกาะมากับเรือโดยสารที่พาพวกมันเดินทางจากชายฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่งในเวลาไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ แต่สำหรับกรณีนี้ การที่พวกมันยังรอดชีวิตแม้เดินทางเป็นปีๆ เป็นอะไรที่ Simkanin กล่าวว่า “เล่นเอาอึ้งไปเลย” ทั้งยังยากอีกด้วยที่จะเดาว่ามหากาพย์การเดินทางนี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร

เรื่อง Whitney Pipkin

 

อ่านเพิ่มเติม

บรรดาผู้ศรัทธาเหล่านี้นับถือ เอเลี่ยน

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.