แกะเขาใหญ่เรียนรู้เส้นทางอพยพผ่านแม่

แกะเขาใหญ่จากอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน
ภาพถ่ายโดย Robbie George

แกะเขาใหญ่ เรียนรู้เส้นทางอพยพผ่านแม่

การอพยพครั้งใหญ่ในโลกของสัตว์คือภาพธรรมชาติที่น่าตื่นตาตื่นใจ วิลเดอบีสต์และม้าลายไล่ล่าสายฝนในเขตอนุรักษ์แห่งชาติมาไซมาราของเคนยาเป็นประจำทุกปี ผีเสื้อจักรพรรดิบินข้ามประเทศจากเม็กซิโกไปยังแคนาดา และบินกลับมาพวกมันทำได้อย่างไรเมื่อไม่มีแผนที่หรือ GPS คอยช่วย?

สัตว์บางชนิดมีเส้นทางการอพยพฝังอยู่ในยีนของพวกมัน สัญชาตญาณเหล่านี้ช่วยให้พวกมันรู้ว่าควรเริ่มต้นอพยพเมื่อใด และไปในทิศทางใด ทว่าสำหรับแกะเขาใหญ่และกวางมูสนั้นต่างออกไป นักวิจัยสัตว์ป่าตั้งข้อสังเกตมานานแล้วว่าพวกมันใช้ประสบการณ์เก่าๆ นำทาง หาใช่พันธุกรรม และผลการศึกษาใหม่ยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น สัตว์บางชนิดเรียนรู้ที่จะอพยพจริง รายงานการค้นพบล่าสุดนี้เผยแพร่ลงในวารสาร Science

(เหตุใดผีเสื้อจักรพรรดิจึงอพยพไกลกว่า 4,800 กิโลเมตร?)

ทีมวิจัยอธิบายว่าข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับการอพยพสามารถส่งต่อจากสัตว์ที่แก่กว่าไปยังสัตว์ที่อ่อนกว่าได้ หรือเรียกอีกอย่างว่าพวกมันมี “วัฒนธรรม” บนที่ราบสูงของเทือกเขาในทวีปอเมริกาเหนือมีสัตว์กีบเท้ามากมายเช่น กวางเรนเดียร์, กวางเอลก์, กวางมูส และแกะเขาใหญ่ เมื่อถึงฤดูอพยพพวกมันจะเดินทางลงไปยังพื้นที่ที่อบอุ่นกว่า และเดินทางกลับมายังถิ่นเดิมในฤดูร้อน เมื่อทุ่งหญ้าสีเขียวกลับมา นักนิเวศวิทยาเรียกการอพยพทุกปีนี้ว่า “surfing the green wave”

 

แม่รู้ดีที่สุด

การล่าสัตว์และการระบาดของโรคในแกะ ส่งผลให้ประชากรแกะเขาใหญ่ลดลงมากในปลายศตวรรษที่ 18 ต่อมาช่วงต้นทศวรรษ 1970 เจ้าหน้าที่สัตว์ป่าและกลุ่มนักล่าสัตว์ตัดสินใจเพิ่มประชากรแกะเขาใหญ่ให้มากขึ้น โดยการย้ายแกะบางตัวที่รอดชีวิตจากโรคให้กลับไปอาศัยอยู่ยังถิ่นเดิมในอดีต รวมกับแกะที่มีอยู่แล้วแต่กำลังเผชิญกับปัญหาประชากรลดลง

การย้ายถิ่นที่อยู่ครั้งนี้ถูกติดตามด้วยเทคโนโลยี GPS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในขณะนั้น เพื่อเอื้อให้ Matthew Kauffman นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยไวโอมิงสามารถศึกษาพฤติกรรมการอพยพ งานวิจัยนำโดย Brett Jesmer ผู้เป็นนักศึกษา พวกเขาติดตั้งปลอกคอ GPS ให้กับแกะจำนวน 129 ตัวที่สืบเชื้อสายมาจากแกะเขาใหญ่ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นี้อย่างน้อย 200 ปีก่อน รวมทั้งยังติดตั้งให้กับแกะหน้าใหม่จำนวน 80 ตัวที่เพิ่งย้ายมา และกวางมูสอีก 189 ตัว

องค์ความรู้เกี่ยวกับเส้นทางการอพยพจะถูกส่งต่อจากแม่ไปสู่ลูกผ่านการเรียนรู้ จากภาพฝูงแกะเขาใหญ่กำลังลงจากภูเขาของอุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน
ภาพถ่ายโดย Robbie George

“เราเชื่อกันว่าบรรดาสัตว์กีบเท้าเหล่านี้ไม่มีสัญชาตญาณอพยพ แต่พวกมันรู้จักเรียนรู้” Kauffman และหากเป็นเช่นนั้นจริง บรรดาแกะที่เพิ่งย้ายมาใหม่จะไม่สามารถอพยพไปไหนได้เนื่องจากพวกมันยังไม่ได้เรียนรู้เส้นทาง…และใช่นั่นคือสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

“สำหรับแกะเขาใหญ่และกวางมูส ชีวิตของลูกๆ ขึ้นอยู่กับแม่ ในปีแรกของชีวิตพวกมันจะอยู่ติดกับแม่ตลอดเพื่อเรียนรู้ทุกอย่าง” เขากล่าว “ดังนั้นมันจึงจดจำเส้นทางการอพยพจากแม่ด้วย” สำหรับในกลุ่มประชากรแกะ 80 ตัวที่เพิ่งย้ายมาใหม่ มีเพียง 7 ตัวเท่านั้นที่เดินทางอพยพ การทดลองนี้บ่งชี้ว่าองค์ความรู้เกี่ยวกับการอพยพนั้นถูกส่งต่อจากแกะที่โตกว่าไปยังแกะที่อ่อนกว่า

อย่างไรก็ดีการค้นพบนี้ไม่ได้จะบอกว่าบรรดาสัตว์กีบเท้าเหล่านี้จะไม่สามารถอพยพได้เลย ถ้าไม่ได้ถูกสอน แต่งานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่การอพยพอันปลอดภัย ไม่ใช่การอพยพเพราะปัจจัยกดดันอื่นๆ “การรับรู้ว่าต้องเดินทางจากสถานที่ A ไป B นั้น เต็มไปด้วยความเสี่ยงจากผู้ล่าอื่นๆ และบางครั้งอาหารก็หายาก ดังนั้นพวกมันต้องรู้แน่ชัดว่าจะไปที่ไหน” Marco Festa-Bianchet นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัย Sherbrooke ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยกล่าว “ทั้งหมดนี้มันจำเป็นที่ต้องเรียนรู้”

 

เรียนรู้การอพยพ

เวลาที่ดีที่สุดของการอพยพคือช่วงเวลาที่พืชขึ้นในที่ใหม่พอดี ในขณะเดียวกันก็ต้องคอยระวังความเสี่ยงจากบรรดาผู้ล่า ผลการศึกษาใหม่บ่งชี้ว่าทั้งแกะเขาใหญ่ และกวางมูสนั้นเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ยิ่งพวกมันรอดชีวิตจากการเดินทางอันยาวนานได้มากเท่าไหร่ องค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับเส้นทางก็ยิ่งถูกจดจำและยิ่งพวกมันมีลูกหลานมากขึ้น เรื่องราวเกี่ยวกับเส้นทางการอพยพก็ยิ่งถูกส่งต่อ หรือเทียบเท่ากับ เราได้ความรู้พื้นฐานจากแม่ และนำมาปรับเข้ากับสิ่งใหม่ที่เราเรียนรู้ผ่านการเดินทางจริง ฉะนั้นแล้วการอพยพประจำปีจึงเป็นตัวอย่างของวัฒนธรรมที่สะสมเรื่อยมา รายงานจาก Kauffman

กวางมูสจากอุทยานแห่งชาติเดนาลี รัฐอลาสกา
ภาพถ่ายโดย Bob Smith

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ จากการทดลองในครั้งนั้นพวกเขาพบว่า กลุ่มประชากรแกะเขาใหญ่ที่มาใหม่ต้องใช้เวลาราว 50 – 60 ปี กว่าที่จะชำนาญเส้นทางการอพยพ สำหรับกวางมูส เนื่องจากว่าพวกมันเป็นสัตว์สันโดษ ดังนั้นอาจใช้เวลาราวศตวรรษ หรือนานกว่านั้น

“หลายครั้งที่การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติมักล้มเหลว งานวิจัยนี้ฉายภาพบางอย่างให้เราเริ่มมองเห็นว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น” Kauffman กล่าว “ที่ล้มเหลวก็เพราะบรรดาสัตว์ไม่มีองค์ความรู้ว่าจะจัดการกับพื้นที่ใหม่อย่างไร”

ฉะนั้นแล้ว เมื่อถนน, รั้ว หรือโครงการบ้านจัดสรรถูกก่อสร้างขึ้นบนเส้นทางการอพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เฉพาะกระทบความอยู่รอดของฝูง แต่ยังสะเทือนถึงองค์ความรู้ที่จะถูกส่งต่ออีกด้วย และหากโครงการที่ช่วยเหลือพวกมันอย่างการสร้างรั้วที่เป็นมิตรกับสัตว์ ไปจนถึงสะพานข้ามทางหลวงของสัตว์ไม่รีบดำเนินการขึ้นอย่างรวดเร็ว กว่าพวกมันจะเรียนรู้ว่านี่คือเส้นทางปลอดภัยก็คงอีกนาน บางทีอาจหลายสิบปีไปจนถึงร้อยปีด้วยซ้ำ

เรื่อง Jason G. Goldman

 

อ่านเพิ่มเติม

มหากาพย์ “นกอพยพ”

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.