สารเคมีจากพลาสติกและเครื่องสำอางปนเปื้อนใน โลมา

สารเคมีจากพลาสติก และเครื่องสำอางปนเปื้อนใน โลมา

โลมาปากขวดที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวซาราโซตา ขึ้นชื่อว่าเป็นสัตว์ขี้เล่น และขี้สงสัย ความน่ารักของพวกมันดึงดูดนักท่องเที่ยวมากมาย ทว่ารายงานการศึกษาใหม่บ่งชี้ว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้แม้จะเป็นมิตรกับผู้คนมากแค่ไหน แต่มันไม่อาจหลีกหนีจากผลกระทบของ สารเคมีจากพลาสติก และข้าวของอื่นๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ได้ ขณะนี้สารพิษดังกล่าวกำลังสะสมอยู่ในร่างกาย และมีปริมาณมากพอที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกมันในระยะยาว

รายงานการค้นพบล่าสุดนี้เผยแพร่ลงในวารสาร American Geophysical Union มันคือสารพทาเลท (Phthalates) สารเคมีชนิดหนึ่งที่พบในข้าวของเครื่องใช้มากมายไม่ว่าจะเป็น วัสดุพลาสติก, เครื่องสำอาง, สี และปัจุบันยังพบตกค้างในโลมาปากขวดด้วย

ในปี 2016 – 2017 ทีมนักวิจัยจากสถาบัน Charleston ร่วมกับสมาคมสัตววิทยาชิคาโก เก็บรวบรวมตัวอย่างปัสสาวะจากโลมา 17 ตัวที่พบในอ่าว เพื่อมองหาว่ามีสารเคมีตกค้างใดในร่างกายของพวกมัน หลังเข้ามาคลุกคลีอยู่ในสถานที่แห่งนี้ได้ราว 3 – 6 เดือน

นี่เป็นครั้งแรกที่สารเคมีปนเปื้อนถูกพบในโลมาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ปกติแล้วพวกมันคุ้นเคยกันดีกับบรรดานักวิจัยที่ลงพื้นที่สำรวจอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 40 ปี “เราไม่แปลกใจที่พบการปนเปื้อน แต่ปริมาณสารเคมีต่างหากที่น่าตกใจ” Leslie Hart ผู้นำการวิจัยกล่าว หลังพบรูปแบบหนึ่งของพทาเลท ใน 71% ของโลมาที่ถูกเก็บตัวอย่างปัสสาวะ

เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกของการเก็บปัสสาวะตรวจ Hart ระบุว่าทีมวิจัยกำลังพิจารณาว่าสารเคมีที่พวกเขาพบในร่างกายของพวกมันนั้นถือว่าเป็นปกติ หรือไม่ปกติกันแน่ อย่างไรก็ดีในจำนวนของโลมาที่พบนั้น บางตัวมีปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีเทียบเท่ากับมนุษย์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ

พทาเลทในสิ่งแวดล้อม

สารพทาเลทถูกนำมาใช้ในทั่วโลก เพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านความยืดยุ่น โปรงใส ทนทาน และมีอายุการใช้งานยาวนาน ก่อนปี 1999 มีรายางนพบสารเคมีดังกล่าวในของเล่นที่ใช้กัดของทารก แม้ว่าจะมีคำสั่งแบนก็ตาม ด้านสมาคมแพทยศาสตร์สหรัฐฯ ระบุปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการได้รับสารเคมีชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังทราบน้อยมาก แม้ว่าจะเกิดการปนเปื้อนไปแล้วในน้ำ, ดิน และอากาศก็ตาม ทว่าในหลายประเทศวารดังกล่าวกำลังถูกยกเลิกใช้จากความกงัวลด้านสุขภาพ

และเพราะโลมาเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่อยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร พวกมันมีชีวิตที่ยืนยาว ทั้งยังว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลจากชายฝั่งหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง นั่นทำให้พวกมันเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีที่จะบ่งชี้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ รายงานจาก Tara Cox นักวิจัยโลมา มหาวิทยาลัยซาวานนาห์

จากการศึกษาก่อนหน้าเกี่ยวกับผลกระทบของพทาเลทพบว่า หากได้รับสารเคมีดังกล่าวเป็นเวลานานอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง และเกิดปัญหากับระบบสืบพันธุ์ได้

งานวิจัยของ Hart เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจคศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากพทาเลท ตลอดจนมองหารูปแบบว่าพวกมันกระจายเข้าไปในสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร นอกจากนั้นเธอยังศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการสัมผัสพทาเลท เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตอีกด้วย ซึ่งในบางกรณีการทดลองให้นักศึกษาลดปริมาณการใช้แชมพูและสบู่ลง พบว่าปริมาณของพทาเลทที่สะสมในร่างกายลดลงตาม

ในระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์ยังมีอะไรที่ต้องศึกษาอีกมากเกี่ยวกับอันตรายของพทาเลท Hart คาดหวังว่าในอนาคตหากสามารถระบุแหล่งที่มาใหญ่ของสารดังกล่าวได้ชัดเจน ข้อมูลนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพลงไปได้มาก และหากผู้บริโภคลดปริมาณการใข้งานลง “ผลกระทบในสิ่งแวดล้อมก็จะลดลงตาม”

โลมาได้รับสารเคมีได้อย่างไร

ในขั้นต่อไปของทีมวิจัยโลมาในอ่าวซาราโซตา คือการหาคำตอบว่าร่างกายของโลมามีวิธีจัดการกับสารเคมีอย่างไร นักวิทยาศาสตร์พยายามทำความเข้าใจว่าพทาเลทเข้าไปปนเปื้อนในร่างกายโลมาด้วยวิธีใด จากการสำรวจในสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่นๆ เช่น สาหร่าย, ปลา และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ มีรายงานพบพทาเลทปนเปื้อนเช่นกัน จึงเกิดข้อสมมุติฐานตามมาว่า โลมาอาจล่าสัตว์เหล่านี้เป็นอาหาร

เมื่อขยะพลาสติกแตกหัก มันจะปลดปล่อยสารพทาเลทปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ นั่นแปลว่าร่องรอยการเดินทางของพทาเลสอาจพอมองเห็นภาพได้จากเมืองสู่มหาสมุทร ขณะนี้เนื่องจากยังไม่มีการทดสอบสัตว์น้ำในภูมิภาคอื่นๆ Hart จึงยังตอบไม่ได้ว่าวิกฤตดังกล่าวแพร่กระจายไปมากน้อยแค่ไหน ด้าน Cox เองเชื่อว่าผลกระทบจากพทาเลทในสัตว์น้ำย่อมแพร่กระจายไปไกลกว่าในรัฐฟลอริดาแน่นอน “ทุกที่ที่มีมนุษย์แหละค่ะ” เธอกล่าว

เรื่อง ซาราห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม

http://ngthai.com/animals/13548/invasive-species-ride-on-plastic/

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.