ทะเลร้อนคร่าแปซิฟิก

เรื่อง เครก เวลช์
ภาพถ่าย พอล นิกเคลน

ช่วงปลายปี 2013 บริเวณน้ำอุ่นอันน่าพิศวงเริ่มก่อตัวขึ้นในอ่าวอะแลสกา ระบบความกดอากาศสูงที่คงอยู่นานสะกดพายุให้สงบนิ่ง โดยปกติแล้วลมจะพัดกวนให้ผิวทะเลเย็นลง ในทำนองเดียวกับที่การเป่ากาแฟร้อนๆช่วยคายความร้อนออกมา แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ความร้อนภายใน “มวลน้ำอุ่นยักษ์” นี้กลับสะสมตัวขึ้น และแปรสภาพไปเป็นบริเวณกว้างกว่าเดิมโดยเลียบไปตามชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือ ในบางบริเวณอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 4 องศาเซลเซียส  ในช่วงสูงสุด มวลน้ำอุ่นนี้ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 9 ล้านตารางกิโลเมตร จากเม็กซิโกถึงอะแลสกา คิดเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศเสียอีก

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งทำให้โลกอุ่นขึ้นมีส่วนก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้หรือไม่ ไม่มีใครรู้แน่ชัด แนวคิดที่ยังถกเถียงกันอยู่แนวคิดหนึ่งเสนอว่า น้ำแข็งทะเลในแถบอาร์กติกซึ่งหดหายไปอย่างรวดเร็วทำให้กระแสลมกรดขั้วโลก (polar jet stream) แปรปรวนมากขึ้น เอื้อให้ระบบลมฟ้าอากาศคงอยู่นานขึ้น ทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับมากกว่าชี้ว่า ความร้อนนี้เป็นผลจากความผันผวนตามปกติของบรรยากาศในกระแสลมกรดซึ่งความอบอุ่นในเขตร้อนกระตุ้นให้เกิดขึ้น แต่แม้กระทั่งนักวิจัยผู้สนับสนุนทฤษฎีหลังนี้ก็ไม่จำเป็นต้องตัดบทบาทรองของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกไป

พฤติกรรมประหลาดนี้ทำความเข้าใจได้ยาก เพราะมหาสมุทรขนาดใหญ่แห่งนี้ยุ่งเหยิงมาก รูปแบบที่คาบเกี่ยวกันซึ่งคงอยู่ได้นานหลายทศวรรษ ควบคุมการแกว่งของอุณหภูมิ  ทุกๆสองสามปีหรืออาจถึงทศวรรษ มหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันออกเปลี่ยนจากบริเวณน้ำเย็นที่อุดมด้วยอาหารเป็นบริเวณที่น้ำอุ่นขึ้น อันเป็นวัฏจักรที่เรียกว่า การผันผวนทุกสิบปีของมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Decadal Oscillation) ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้ทวีปอเมริกาเหนือมีอุณหภูมิสูงขึ้น กระแสน้ำสายหลักในมหาสมุทรกระแสหนึ่ง คือกระแสน้ำแคลิฟอร์เนีย นำน้ำเย็นจากแคนาดาลงไปทางใต้ถึงบาฮากาลีฟอร์เนีย ตลอดเส้นทางนั้นลมพัดน้ำอุ่นบนพื้นผิวออกนอกชายฝั่ง ทำให้น้ำทะเลที่เย็นและอุดมสารอาหารมากกว่าลอยตัวขึ้นจากด้านล่าง

การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทั้งหมดนี้สามารถทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลกระจายพันธุ์ไปยังสถานที่หรือน่านน้ำใหม่ๆ แต่ก็ไม่ได้ผลเช่นนี้เสมอไป

เด็บบี โบ๊ก-โทบิน นักชีววิทยา พยายามข่มใจขณะปลอบประโลมนากทะเลที่ใกล้ตายบนหาดกรวดในเมืองโฮเมอร์ รัฐอะแลสกา ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน คือเดือนกันยายน ปี 2015 ที่นี่พบนากตายถึง 79 ตัว

เพื่อทำความเข้าใจความรุนแรงของปรากฏการณ์นี้ ผมจึงออกเรือไปนอกชายฝั่งรัฐออริกอนหลายกิโลเมตรในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนไปเยือนอะแลสกา เรือวิจัยขนาด 16 เมตรชื่อ เอลาคา แล่นฝ่าคลื่นที่ม้วนตัว บิล ปีเตอร์สัน ในชุดกางเกงยีนและเสื้อยืดเก่าๆ คุกเข่าลงบนดาดฟ้าเรือ ยื่นใบหน้าเข้าไปในถังน้ำแข็งสีแดง ภายในบรรจุสิ่งที่เพื่อนร่วมงานของเขาเพิ่งลากอวนขึ้นมาจากก้นมหาสมุทร นักสมุทรศาสตร์จากโนอา (NOAA) ผู้นี้มาที่นี่เพื่อแสดงให้ผมเห็นว่า น่านน้ำทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเช่นไร

ทุกสองสัปดาห์เป็นเวลาติดต่อกันถึง 20 ปี ทีมวิจัยของปีเตอร์สันมาที่นี่เพื่อเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์ขนาดจิ๋วซึ่งเป็นรากฐานของระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อาหารสำคัญในสายใยอาหารนี้คือคริลล์ตัวยาวสองเซนติเมตร ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกุ้ง เป็นอาหารของนกออกเล็ต ปลาแซลมอนโคโฮ ฉลามแบสกิง และวาฬ ปลากะตักและปลาซาร์ดีนก็กินคริลล์เช่นกัน จากนั้นปลาเหล่านี้จะถูกปลาขนาดใหญ่กว่าและสิงโตทะเลกินอีกทอดหนึ่ง ณ เวลานี้ของปีคริลล์ควรมีอยู่อย่างชุกชุม แต่สิ่งที่ปีเตอร์สันลากขึ้นมาส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายเหลวๆและแมงกะพรุนขนาดเล็ก ซึ่งให้คุณค่าทางอาหารเพียงเล็กน้อย ทีมของเขาไม่เห็นคริลล์มาหลายเดือนแล้ว

อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้ระบบนี้เสียศูนย์ ไม่นานหลังจากน้ำอุ่นมาถึง หอยงวงช้างกระดาษซึ่งพบได้บ่อยกว่าในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ก็ปรากฏตัวขึ้นนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ปลาพระอาทิตย์หรือปลาโมลาจากเขตร้อนและฉลามสีน้ำเงินถูกจับได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ หมึกกล้วยแคลิฟอร์เนียซึ่งพบบ่อยนอกชายฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วางไข่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอะแลสกา งูทะเลท้องเหลืองมีพิษจากอเมริกากลางสองสามตัวเลื้อยไปบนชายหาดใกล้นครลอสแอนเจลิส ทีมของปีเตอร์สันจับแพลงก์ตอนสัตว์เขตร้อนหรือกึ่งโซนร้อนที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนได้หลายชนิดเขาทำบัญชีรายชื่อสัตว์ชนิดใหม่ๆซึ่งปกติอาศัยอยู่ไกลจากที่นี่ได้เกือบ 20 ชนิด

เมื่อเทียบกับคริลล์ แพลงก์ตอนสัตว์เหล่านี้เป็นได้แค่เพียงเครื่องเคียง กล่าวคือมีขนาดเล็กกว่าและคุณค่าทางอาหารน้อยกว่า ขณะที่อาหารพลังงานต่ำนี้เคลื่อนผ่านไปตามสายใยอาหาร ตัวอ่อนปลาพอลล็อกอะแลสกาซึ่งพบบ่อยในอ่าวอะแลสกา ก็มีจำนวนต่ำที่สุดในรอบสามทศวรรษ ปลาแฮลิบัตที่จับได้ในอ่าวคุกมีเนื้อเละๆ อันเป็นอาการเกี่ยวข้องกับภาวะทุพโภชนาการ ปลาแซลมอนโคโฮกลับมายังลำธารทางชายฝั่งตะวันตกในลักษณะแคระแกร็นขาดสารอาหาร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ปลาซาร์ดีนซึ่งมีน้อยอยู่แล้วลดจำนวนลงมากจนอุตสาหกรรมแปรรูปต้องปิดกิจการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฟื้นตัวจากการล่มสลายในช่วงทศวรรษ 1950 การเพิ่มขึ้นและลดลงของประชากรปลาซาร์ดีนและปลากะตักเป็นไปตามวัฏจักร การลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วแทบไม่เกี่ยวข้องกับมวลน้ำอุ่น แต่ผลกระทบเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะความร้อนผิดปกติทำให้ปลาที่เหลืออยู่กระจายพันธุ์ไปยังสถานที่ใหม่ๆ ปลากะตักที่ลดจำนวนลงอยู่แล้วดูเหมือนจะหายไปเกือบทุกแห่ง ยกเว้นที่อ่าวมอนเทเรย์ซึ่งพวกมันมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก เกิดเป็นงานกินเลี้ยงครั้งใหญ่ ช่วงหนึ่งวาฬ 50 ตัวหรือมากกว่าเข้ามากินปลาในอ่าวในเวลาเดียวกัน พวกนกก็ตกที่นั่งลำบากเช่นกัน นกออกเล็ตแคสซินซึ่งกินคริลล์เป็นอาหารไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนตัวอดตาย จากนั้นหลายเดือนต่อมา นกเมอร์ธรรมดาหลายแสนตัวก็พบจุดจบเช่นกัน

คนงานตรวจสอบครีบหลังของวาฬเพชฌฆาตใกล้เมืองปีเตอร์สเบิร์ก รัฐอะแลสกา วาฬตัวนี้น่าจะตายจากสาเหตุธรรมชาติ แต่การได้รับพิษจากสาหร่ายซึ่งเกิดจากน้ำอุ่นผิดปกติต้องสงสัยว่าเป็นสาเหตุการตายของวาฬหลังค่อมและวาฬฟินจำนวนมาก

สิ่งที่อาจเห็นได้ชัดเจนที่สุด คือลูกสิงโตทะเลซูบผอมและเจ็บป่วยซึ่งถูกซัดขึ้นมาเกยฝั่งรัฐแคลิฟอร์เนีย พวกมันล้มพับอยู่ใต้ระเบียงบ้านและรถบรรทุกที่จอดอยู่ เมื่อไม่มีปลาซาร์ดีนหรือปลากะตัก แม่ของพวกมันก็กินอาหารขยะ เช่น หมึกกล้วย ปลาเฮก ปลาร็อกฟิช และหย่านมลูกเร็วขึ้น ในช่วงเวลาห้าเดือนมีสิงโตทะเลมาเกยตื้นมากกว่า 3,000 ตัว

เมื่อกลับมาที่สำนักงานในเมืองนิวพอร์ต รัฐออริกอน ปีเตอร์สันรู้สึกงุนงง หลังจากศึกษาทะเลมาตลอดชีวิต เขาพบว่า มวลน้ำอุ่นในมหาสมุทรนี้ผิดแผกไปจากปกติวิสัยและเกิดผิดที่ผิดทาง

ใช่ว่ามวลน้ำอุ่นยักษ์นี้จะเป็นภาวะหรือความปกติใหม่ (new normal – ปรากฏการณ์ผิดปกติที่เกิดขึ้นซ้ำๆจนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัยหรือคาดเดาได้) ไม่ใช่เลย การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีน้อยมากที่เกิดขึ้นอย่างถาวร แต่ถึงแม้จะเกิดอย่างถาวร ก็ไม่ได้หมายความว่าทะเลกำลังจะตาย ชีวิตในมหาสมุทรจะดำเนินต่อไป แต่มวลน้ำอุ่นยักษ์แสดงให้เห็นว่า ทะเลในอนาคตจะเป็นคล้ายๆอย่างนี้ภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งมีชีวิตในทะเลแห่งอนาคตจะแตกต่างไปจากเดิมมาก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.