มังกรโคโมโดกำลังเผชิญอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา

มังกรโคโมโด กำลังเผชิญอนาคตที่ไม่อาจคาดเดา

หากคิดจะจับมังกร ต้องเริ่มจากฆ่าแพะ ชำแหละเป็นชิ้น ๆ ขอให้เพื่อนที่แข็งแรงสองสามคนช่วยกันยกกับดักเหล็กยาวสามเมตรไปสักสามอันคว้าถุงเนื้อแพะ แล้วเดินขึ้นเขาลงห้วยไปอีกสองสามกิโลเมตร ไม่ต้องใส่ใจกับอากาศร้อนอบอ้าวกว่า 30 องศาเซลเซียส  วางกับดักอันแรกพร้อมเนื้อชิ้นโต ๆ และแขวนถุงเนื้อแพะอีกสองสามถุงไว้ตามต้นไม้เพื่อให้ “กลิ่นคลุ้ง” ในอากาศ ทำซํ้าแบบนี้ทุกห้าหรือหกกิโลเมตรจนกับดักหมด ก่อนกลับมาที่แคมป์ ตักนํ้าเย็นใส่ถังราดศีรษะให้คลายร้อน เข้านอน แล้วค่อยย้อนกลับไปดูกับดักแต่ละอันในช่วงเช้าและบ่ายของวันรุ่งขึ้นและวันถัดไป ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรมาติดกับ แต่ถ้าโชคดี มันก็จะเข้ามาใกล้กับดัก และคุณจะได้พบกิ้งก่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ยักษ์ใหญ่หน้าถมึงทึงที่เรียกกันว่า มังกรโคโมโด

ชายที่คิดแผนนี้ขึ้นมาคือ เกลาดีโอ โชฟี นักชีววิทยาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบปลายผู้นี้เดินทางมาอินโดนีเซียเมื่อปี 1994 เพื่อหาข้อมูลทำวิจัยปริญญาเอกด้านพันธุศาสตร์ของมังกรโคโมโด เขาได้เห็นสัตว์โบราณชนิดนี้อย่างใกล้ชิดและหลงใหลพวกมันทันที ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ไม่ได้ใส่ใจพวกมันเท่าใดนักโชฟีเท้าความหลังว่า “ผมคาดหวังว่าจะพบองค์กรที่ศึกษาเรื่องมังกรโคโมโด พวกมันเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์และน่าสนใจพอ ๆ กับเสือและอุรังอุตัง แต่ไม่มีองค์กรที่ว่าเลยสักแห่งครับ มังกรโคโมโดอยู่กันตามลำพังจริง ๆ”

ดังนั้น โชฟีจึงขยายขอบเขตงานวิจัยของเขา เพื่อทำความเข้าใจชีวิตมังกรโคโมโดในทุกแง่มุม ด้วยความทุ่มเททำงานแบบปิดทองหลังพระ พร้อมกับทีมนักวิจัยระดับหัวกะทิชาวอินโดนีเซียและออสเตรเลีย โชฟีไม่เพียงเป็นแหล่งความรู้ส่วนใหญ่ของเราเกี่ยวกับมังกรโคโมโด แต่ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมโอกาสอยู่รอดของพวกมันท่ามกลางความท้าทายมากมายในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด แม้ว่ามังกรเหล่านี้อาจเติบโตได้ถึงสามเมตรและหนักร่วม90 กิโลกรัม แต่พวกมันก็ยังสุ่มเสี่ยงต่ออุปสรรคมากมายในปัจจุบันซึ่งส่งผลต่อสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่การสูญเสียถิ่นอาศัยไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

มังกรโคโมโดตัวเต็มวัยป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้หมู่บ้านโคโมโด การที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติและการกำหนดแนวถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างไม่ชัดเจนทำให้การเผชิญหน้ากับมังกรเป็นเรื่องที่ ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ส่วนใหญ่จบลงโดยไม่มีเลือดตกยางออก

อันที่จริง ตะกวดซึ่งเป็นชื่อวงศ์ของมังกรโคโมโด เอาชีวิตรอดผ่านวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงของโลกมาหลายยุคหลายสมัย ชนิดพันธุ์ที่ว่านี้น่าจะถือกำเนิดขึ้นเมื่อห้าล้านปีก่อน แต่สกุลของมันอาจย้อนหลังกลับไปถึงราว 40 ล้านปีและบรรพบุรุษที่เป็นไดโนเสาร์ของมันก็เคยท่องโลกเมื่อ 200 ล้านปีล่วงมาแล้ว

มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ใช้ชีวิตเยี่ยงกิ้งก่าอย่างสมบูรณ์ ทั้งนอนอาบแดด ล่าเหยื่อและกินซากสัตว์ วางไข่และปกป้องไข่ โดยไม่คิดจะเลี้ยงดูหลังจากฟักเป็นตัว โดยทั่วไปมังกรโคโมโดมีอายุขัยระหว่าง 30 – 50 ปี และใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตอาศัยตามลำพัง ขณะที่ถิ่นกระจายพันธุ์ของพวกมันมีอยู่อย่างจำกัด โดยพบได้บนเกาะเพียงไม่กี่แห่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเกาะอินโดนีเซีย

ในฐานะสัตว์นักล่ามือฉมัง มังกรโคโมโดสามารถวิ่งได้เร็วถึง 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นช่วงสั้น ๆ พวกมันซุ่มโจมตีเหยื่อและฉีกเนื้อส่วนที่อ่อนที่สุด เช่น ท้อง หรือกัดให้ขาขาด นอกจากนี้ มังกรยังพ่น “ไฟ” ได้สมชื่ออีกด้วย เพราะในปากมีนํ้าลายพิษที่ทำให้เลือดไม่แข็งตัว เหยื่อที่ถูกกัดจึงเสียเลือดอย่างรวดเร็ว พวกที่บาดเจ็บและหนีรอดไปได้มักได้รับเชื้อโรคจากแอ่งนํ้า และลงเอยด้วยการติดเชื้อไม่ว่าทางใด จุดจบก็ดูเหมือนไม่อาจหลีกเลี่ยง มิหนำซํ้ามังกรยังมีนํ้าอดนํ้าทนเป็นเลิศอีกด้วย

กิ้งก่าพวกนี้ยังกินซากด้วย พวกมันเป็นนักฉวยโอกาสที่สอดส่ายสายตาหาอาหารตลอดเวลา ไม่ว่าจะยังเป็น ๆหรือตายแล้ว การหากินซากใช้พลังงานน้อยกว่าการล่า และมังกรโคโมโดก็สามารถดมกลิ่นซากเน่าเปื่อยได้ไกลหลายกิโลเมตร กิ้งก่ายักษ์ยังไม่จู้จี้เลือกกิน พวกมันไม่กินทิ้งกินขว้าง และแทบไม่ปล่อยให้อะไรเสียของเลย

แม้นิสัยของมังกรโคโมโดออกจะน่าสะอิดสะเอียน แต่ก็ใช่ว่าชาวเกาะจะมีทีท่าหวาดกลัวหรือรังเกียจพวกมันเสมอไปที่หมู่บ้านโคโมโด ฉันปีนบันไดไม้หงิก ๆ งอ ๆ ขึ้นไปบนบ้านใต้ถุนสูงของผู้เฒ่าชื่อจาโจซึ่งเดาว่าตัวเองน่าจะอายุ 85 ปี คนนำทางของฉันบอกว่า ชายร่างเล็กผู้นี้เป็นหมอมังกร

ซึ่งผู้เฒ่าก็ไม่ได้ปฏิเสธ ฉันถามแกว่าชาวบ้านรู้สึกกับมังกรและอันตรายที่พวกมันอาจก่อขึ้นอย่างไร “คนที่นี่เชื่อว่ามังกรเป็นบรรพบุรุษของเรา เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ครับ” ผู้เฒ่าจาโจตอบและเล่าต่อว่า สมัยก่อนเมื่อชาวเกาะฆ่ากวาง พวกเขาจะทิ้งเนื้อไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อแบ่งปันให้ญาติมีเกล็ดของพวกเขา

จากนั้น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป แม้จะไม่มีใครมีตัวเลขที่แน่ชัด แต่ดูเหมือนว่าประชากรมังกรโคโมโดจะลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายคุ้มครอง นัยว่าเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันจากนักอนุรักษ์ และตระหนักถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับมังกรโคโมโด พอถึงปี 1980 ถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ของมังกรโคโมโดได้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติโคโมโด (Komodo National Park: KNP) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของเกาะโคโมโด เกาะรินจา และเกาะขนาดเล็กอีกหลายเกาะ ต่อมา เขตอนุรักษ์ธรรมชาติอีกสามแห่งก็เกิดขึ้นโดยสองในสามแห่งอยู่บนเกาะฟลอเรส

 

มังกรโคโมโดเพศผู้ตัวเต็มวัยสองตัวบนเกาะโคโมโดช่วยกันทึ้งซากแพะ พวกมันแบ่งปันเหยื่อกันหากมีมากพอ แต่ต่อสู้แย่งชิงหากอาหารขาดแคลน ทว่าไม่ค่อยพบเห็นการบาดเจ็บรุนแรง มังกรโคโมโดไม่ต่างจากสัตว์พิษทั้งหลาย ตรงที่มีภูมิคุ้มกันพิษของพวกเดียวกัน

ภายในเขตอุทยานแห่งชาติโคโมโด มังกรได้รับการปกป้องจากการรุกรานของมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้น เหยื่อของพวกมันยังเป็นสิ่งต้องห้ามอีกด้วย การฆ่ากวางถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงไม่สามารถแบ่งเนื้อให้มังกรได้อีกต่อไป บางคนบอกว่านั่นทำให้มังกรขุ่นเคืองไม่น้อย

การโจมตีของมังกรโคโมโดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่สองสามครั้งหลังเมื่อไม่นานมานี้กลายเป็นข่าวใหญ่ ปีที่แล้วมังกรโคโมโดตัวยาวร่วมสองเมตรหลุดเข้าไปในที่ทำการอุทยานแห่งชาติโคโมโดและกัดเจ้าหน้าที่สองนายบริเวณขาซ้าย ทั้งคู่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลบนเกาะบาหลีโดยทางเครื่องบินเพื่อรับการรักษาป้องกันการติดเชื้อ และฟื้นตัวในเวลาต่อมา อีกกรณีเป็นหญิงชราวัย 83 ปีที่สู้กับมังกรโคโมโดตัวยาวกว่าสองเมตรด้วยด้ามไม้กวาดทำเองและลูกเตะที่เข้าตรงจุด มังกรกัดมือหญิงชราทำให้ต้องเย็บถึง 35 เข็ม

กรณีอื่น ๆ จบลงอย่างน่าสลด เมื่อปี 2007 มังกรโคโมโดทำร้ายมันซูร์ เด็กชายในหมู่บ้านที่ปลีกตัวจากเกมฟุตบอลเพื่อไปถ่ายปัสสาวะหลังต้นไม้ เขาเสียชีวิตเพราะเสียเลือดมาก ทุกวันนี้ เวลาชาวบ้านเห็นมังกรโคโมโดย่างกรายเข้าใกล้ หรือย่องตามปศุสัตว์ พวกเขาก็แค่ตะโกนไล่หรือไม่ก็ขว้างหินใส่ สำหรับมังกรที่โจมตีผู้คน รัฐบาลจะนำตัวออกนอกพื้นที่ให้ห่างไกลจากหมู่บ้าน แต่สุดท้ายพวกมันก็มักหวนคืนถิ่น

ใช่ว่าการเผชิญหน้าจะเลวร้ายไปเสียทุกครั้ง ชายคนแรกที่นั่งกับมังกรได้ราวมีมนตร์สะกดคือ วอลเตอร์ ออฟเฟนเบิร์กภัณฑารักษ์จากพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐฟลอริดา ในช่วงปี 1969 ถึง 1970 เขาและครอบครัวตั้งแคมป์บนเกาะโคโมโดนาน 13เดือน เพื่อบันทึกรายละเอียดทุกย่างก้าวของมังกรโคโมโดซึ่งเป็นที่มาของผลงานหนังสืออันลุ่มลึกเรื่อง นิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมของมังกรโคโมโด (The Behavioral Ecology of the Komodo Monitor)

ออฟเฟนเบิร์กบันทึกเหตุการณ์ตอนที่พวกมังกรโคโมโดขี้สงสัยเข้ามาป้วนเปี้ยนในที่พัก ตัวหนึ่งแลบลิ้นเลียเครื่องบันทึกเทป มีด และเท้าของเขา เพื่อกระตุ้นให้มันออกไปแต่โดยดี เขาลองทำเป็นแลบลิ้นตอบด้วยการใช้ดินสอเคาะหัวมัน ปรากฏว่าได้ผล หรือจะเป็นตอนที่มังกรอีกตัวหนึ่ง “นอนเหยียดแข้งเหยียดขาในที่ร่ม… ขาหน้าของมันพาดอยู่บนขาผม และนอนครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ตรงนั้น” ออฟเฟนเบิร์กแหย่ให้เจ้าตัวหลังยอมจากไปโดยไม่เกิดเหตุใด ๆ

กลิ่นอาหารดึงดูดมังกรโคโมโดวัยเยาว์มายังครัวของที่ทำการอุทยานแห่งชาติโคโมโด มันยอมล่าถอยไปหลังเจ้าหน้าที่งัดไม้แข็งข่มขู่ น้อยครั้งนักที่การเผชิญหน้านำไปสู่การบาดเจ็บ กระนั้นเจ้าหน้าที่ก็มักนำตัวผู้บุกรุกไปปล่อยที่อื่น แต่พวกมันก็หาทางกลับถิ่นเดิมได้เสมอ

ย้อนหลังไปในช่วงทศวรรษ 1970 ออฟเฟนเบิร์กไม่กังวลเรื่องความอยู่รอดของมังกรโคโมโดเท่าไรนัก มาวันนี้นักวิทยาศาสตร์พากันตั้งคำถามว่า มังกรเหล่านี้จะอยู่รอดได้หรือไม่

ความอยู่รอดของมังกรโคโมโดขึ้นอยู่กับเรื่องพื้น ๆ อย่างการบริหารจัดการที่ดินเป็นอย่างมาก บนเกาะฟลอเรสแม้จะมีเขตอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่ง แต่ชาวบ้านยังคงจุดไฟเผาเพื่อเปิดพื้นที่ทำไร่และเลี้ยงสัตว์ ทำให้ถิ่นอาศัยของมังกรโคโมโดกระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็ก ๆ นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนรวมทั้งสุนัขจรจัดยังล่ากวางและหมูป่าที่มังกรโปรดปรานด้วย นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยว่าสุนัขจรจัดเหล่านั้นอาจไล่ และกระทั่งฆ่ามังกรวัยเยาว์ที่ใช้ชีวิตขวบปีแรกบนยอดไม้ ก่อนจะลงมายังพื้นดิน

หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อภูมิประเทศมังกรโคโมโดก็ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โชฟีและทิม เจสซอป นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ผู้ทำการวิจัยเรื่องมังกรโคโมโดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อธิบายว่า ด้วยจำนวนประชากรน้อยกว่า 5,000 ตัวที่กระจัดกระจายอยู่บนเกาะไม่กี่แห่ง ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงส่งผลให้ขีดความสามารถในการปรับตัวของพวกมันมีจำกัด

เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมังกรโคโมโดให้มากขึ้น โชฟี, เจสซอป และเพื่อนร่วมงานชาวอินโดนีเซีย ได้ดักจับและติดแถบข้อมูลให้มังกรโคโมโดราวหนึ่งพันตัวและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอราว 800 ตัว ความพยายามของพวกเขาให้ความรู้ไม่น้อย ตั้งแต่เรื่องจำนวนประชากร อัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมีย อัตราการรอดชีวิต ความสำเร็จในการสืบพันธุ์ ไปจนถึงระดับหรือความเข้มข้นของการผสมพันธุ์กันเองภายในกลุ่มประชากร ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของการจับคู่  เพื่อหาหนทางในการย้ายมังกรจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่งและให้มั่นใจได้ว่าสมาชิกใหม่จะไม่เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดในเชิงพันธุกรรม

สำหรับหนทางที่สุดโต่งกว่านั้น ในกรณีที่จำนวนประชากรลดฮวบลง ก็คือการนำประชากรจากสวนสัตว์เข้ามาเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรม ในอินโดนีเซีย มังกรโคโมโดได้รับการผสมพันธุ์ในสถานเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 1965 นับแต่นั้นความพยายามเพาะพันธุ์ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกวันนี้มีมังกรโคโมโดราว 400 ตัวอาศัยอยู่ในสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก

 

มังกรโคโมโดนํ้าลายไหลย้อยตัวนี้เดินส่ายอาดๆ บนเกาะรินจาในช่วงนํ้าลง แม้นํ้าลายของกิ้งก่าชนิดนี้จะเป็นพิษ แต่เหยื่อมักตายจากการถูกฉีกร่างให้ขาด หรือหากถูกกัดแล้วหนีรอดไปได้ ก็มักตายจากการติดเชื้อที่บาดแผล

กระนั้น เจสซอปยอมรับว่า การเล่นบทเป็นพระเจ้าเสียเองเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบ “เราอาจทำลายกระบวนการวิวัฒนาการโดยเข้าไปจุ้นจ้านกับวิถีทางตามธรรมชาติของสัตว์ต่าง ๆ บางคนลังเลที่จะทำอะไรทำนองนั้น” นอกจากนี้ โครงการย้ายถิ่นพำนักให้สัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ “มักได้ผลเพียงแค่ครึ่งเดียว” อีกทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสัตว์ในสถานเพาะเลี้ยงให้กลับคืนสู่ธรรมชาติยังไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่มีสิ่งใดรับประกันว่า เมื่อนำมังกรโคโมโดตัวเต็มวัยมาอยู่ด้วยกันแล้วจะได้ลูกมังกรเกิดใหม่ หรือเผ่าพันธุ์มังกรจะอยู่รอดได้ในระยะยาวท่ามกลางถิ่นอาศัยที่ได้รับการปกป้องอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

โชฟีและเพื่อนร่วมงานกระตุ้นการทำงานของเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียอย่างให้เกียรติ และระดมการสนับสนุนเพื่ออนุรักษ์มังกรโคโมโด พวกเขาไม่เพียงพูดคุยกับชาวเกาะฟลอเรสว่า การสูญเสียถิ่นอาศัยและการลักลอบล่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อของมังกรโคโมโดส่งผลร้ายต่อพวกมันอย่างไร   แต่ยังหวังด้วยว่าจะสามารถเฝ้าติดตามพื้นที่คุ้มครองได้ดีขึ้นและให้การอบรมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเกี่ยวกับชีววิทยาของมังกรโคโมโด เพื่อที่บุคลากรเหล่านั้นจะสามารถให้ข้อมูลแก่นักวิทยาศาสตร์ได้ว่า เหล่ามังกรยังอยู่ดีมีสุขหรือไม่อย่างไร

ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมมังกรโคโมโดก็ต้องอดทนด้วย เพราะมังกรโคโมโดป่าไม่ชอบให้ใครเห็นตัวง่าย ๆ ตลอดสองสัปดาห์ที่อยู่บนเกาะ ฉันต้องวิ่งไล่ตามทีมนักชีววิทยาในการออกล่าหามังกรและส่วนใหญ่มักลงเอยด้วยการคว้านํ้าเหลว โดยมีเดนี ปูร์วันดานา และอัคหมัด อารีฟีอานดี สองหนุ่มชาวอินโดนีเซีย ผู้นำโครงการเพื่อความอยู่รอดของมังกรโคโมโด (Komodo Survival Program) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 เป็นผู้กำหนดความเร็วในการเดินป่าของเรา ตามมาด้วยเจสซอป ชาวออสเตรเลียร่างสูงใหญ่ที่ก้าวเดียวของเขาทำให้ฉันต้องวิ่งตามถึงสามก้าว ปิดท้ายขบวนด้วยเจ้าหน้าที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติสองสามคน และชาวบ้านผู้ไม่สะทกสะท้านกับความร้อนและภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาอีกไม่กี่คน

พายุตั้งเค้าเหนือเกาะรินจาในฤดูมรสุมตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ความชุ่มชื้นตลอดหลายเดือนเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงผืนป่าอันเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของมังกรโคโมโด กิ้งก่าชราตัวนี้อาจอ่อนแรงเกินกว่าจะออกล่าเหยื่อได้

ตอนที่โชฟีและฉันไปถึงเกาะฟลอเรส กับดัก 26 อันที่ทีมงานวางไว้จับมังกรโคโมโดได้เพียงสี่ตัว (ที่เหลือเป็นสุนัขจรจัดมากกว่า) ลดลงจาก 14 ตัวที่จับได้ในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน แต่นี่อาจไม่ได้บ่งบอกถึงจำนวนประชากรที่ลดลง กล้องที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่บันทึกภาพมังกรมาด้อม ๆ มอง ๆ และดมกับดัก แต่ไม่เดินเข้าไป

ก่อนกำหนดกลับสองวัน โชคก็เข้าข้างฉัน ยังเหลือกับดักให้ตรวจดูอีกสามอัน รอบแรกทุกอันว่างเปล่าระหว่างการเดินตรวจรอบที่สอง เราเห็นผิวหนังตะปุ่มตะปํ่าผ่านช่องว่างของกับดักอันที่สาม มันเป็นเพียงมังกรโคโมโดวัยเยาว์ ความยาวจากจมูกจรดปลายหางราวหนึ่งเมตร น่าจะอายุประมาณสามปี หน้าตาน่าเอ็นดู (ถ้าคุณมองแบบเปิดใจกว้าง) มีเกล็ดสีเทาเข้ม เหลือง และส้มทั่วตัว และแถบเกล็ดสีเข้มค่อย ๆ จางไล่ไปสู่ปลายหาง ฉันคุกเข่าลงเพื่อให้มองผ่านช่องกับดักโลหะได้อย่างถนัดถนี่ มันปรายตาที่มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบตอบกลับมา ก่อนที่คนจับมังกรจะนำมันออกจากกรงด้วยตะขอและบ่วงบาศ ใช้แถบกาวพันปาก (เพื่อป้องกันอันตรายให้เรา) และมัดขามันแนบกับลำตัวอย่างเบามือแต่แน่นหนาเพื่อให้อยู่นิ่ง ๆ

ต่อจากนั้นเป็นกิจกรรมอันชุลมุน ทีมงานกระวีกระวาดช่วยกันวัดขนาดมังกรโคโมโดที่จับได้ ชั่งนํ้าหนัก และใช้เครื่องอ่านไมโครชิปตรวจหาแถบข้อมูลใต้ผิวหนังซึ่งจะระบุถึงการจับครั้งก่อนหน้านี้ (แต่ไม่พบ) เจาะเลือดจากหางเพื่อนำไปวิเคราะห์ทางพันธุกรรม และถ่ายภาพจากทุกมุม  ไม่ถึง 20 นาทีต่อมา พวกเขาดึงแถบกาวที่พันปากออกและเจ้ามังกรโคโมโดก็ได้รับอิสรภาพ มันวิ่งปรูดหายเข้าไปในป่าทันที พลางตะกุยฝุ่นและหินอย่างร้อนรน ช่างเป็นการล่าถอยอย่างเอาจริงเอาจังของพญามังกรในโลกแห่งความจริงโดยแท้

เรื่อง เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์

ภาพถ่าย สเตฟาโน อุนแตร์ทีแนร์

 

อ่านเพิ่มเติม

ค้นพบฟอสซิลกิ้งก่าเก่าแก่ที่สุดในโลก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.