พบพลาสติกห่อบุหรี่ในตัวแมงกะพรุน

พบพลาสติกห่อบุหรี่ในตัว แมงกะพรุน

ถ้าคุณมองเข้าไปใกล้ๆ คุณจะเห็นข้อความพิมพ์ว่า “Philip Morris International” มันคือชื่อของบริษัทยาสูบเจ้าของห่อพลาสติกหุ้มกล่องบุหรี่ชิ้นนี้ที่บังเอิญไปอยู่ในร่างกายของ แมงกะพรุน mauve stinger เข้า ช่างภาพบังเอิญบันทึกภาพถ่ายที่น่าจดจำนี้เอาไว้ได้ขณะที่กำลังว่ายน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

หากให้สรรพสัตว์พยายามใช้ชีวิตหลีกเลี่ยงขยะพลาสติก คงไม่ต่างอะไรกับการเดินในดงทุ่นระเบิด ทุกวันนี้มีขยะปริมาณ 18 พันล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทรแต่ละปี แน่นอนว่าปริมาณที่มากมายมหาศาลเช่นนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับแมงกะพรุนตัวนี้

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา งานวิจัยที่เผยแพร่ลงในวารสาร Scientific Reports ตีพิมพ์การค้นพบครั้งแรกของขยะพลาสติกในตัวแมงกะพรุน มันคือแมงกะพรุนจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกเช่นกัน ค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Aquatilis Expedition เมื่อปี 2016 พวกเขาระบุว่าจากการสำรวจพบแมงกะพรุน Mauve Stinger จำนวนหนึ่งมีขยะพลาสติกติดอยู่บริเวณหนวดส่วนที่เชื่อมต่อกับร่างกาย

และเมื่อพิจารณาดูแมงกะพรุนจำนวน 20 ตัวอย่างใกล้ชิด พบว่ามีสี่ตัวที่มีขยะพลาสติกในระบบย่อยอาหาร บ่งชี้ว่าแมงกะพรุนเหล่านี้เข้าใจผิดว่าขยะพลาสติกคืออาหาร “ดูเหมือนพวกมันจะชอบพลาสติกเอามากๆ” Armando Macali นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัย Tuscia ในอิตาลี หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว ตัวเขาและเพื่อนร่วมงานค่อยข้างมั่นใจว่าแมงกะพรุนตั้งใจหิ้วพลาสติกไปไหนมาไหนด้วย เนื่องจากมันพยายาที่จะกินขยะเหล่านั้น

แตกต่างจากในงานวิจัยก่อนหน้าที่ระบุว่าบรรดาสัตว์น้ำบังเอิญกินขยะพลาสติกเข้าไปด้วยความเข้าใจผิด เช่น เต่าทะเลที่กินถุงพลาสติก เพราะมันดูคล้ายกบัแมงกะพรุน หรือปลาทะเลที่กินพลาสติกชิ้นเล็กๆ เท่าเมล็ดข้าว เนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร รายงานจากปี 2016 ชี้ว่าหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามเป็นวงกว้างก็เพราะ เมื่อพลาสติกทำปฏิกิริยากับน้ำทะเล มันจะปลดปล่อยสาร Dimethyl Sulfide (DMS) ที่มีกลิ่นคล้ายกับสาหร่ายทะเลออกมา

พลาสติกห่อกล่องบุหรี่ Philip Morris ในตัวแมงกะพรุนยังคงอ่านชื่อยี่ห้อได้ชัดเจน
ภาพถ่ายโดย Alexander Semenov

ด้าน Macali ชี้ว่าขณะนี้พวกเขายังไม่ได้คำตอบชัดเจนว่าทำไมแมงกะพรุนจึงสนใจขยะพลาสติก เมื่อขยะพลาสติกหลุดลงสู่ทะเล มันจะเผชิญกับน้ำ แสงแดด และสภาพอากาศจนแตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ตัวเขาตั้งข้อสังเกตว่าชั้นไบโอฟิล์มที่เคลือบพลาสติก หรือโมเลกุลเล็กๆ จากการแตกตัวอาจไปดึงดูดความสนใจของแมงกะพรุนเข้า

ในการทดลองครั้งหน้า Macali มีแผนที่จะศึกษาชนิดของพลาสติกที่พบในตัวแมงกะพรุน หากนักวิทยาศาสตร์ได้คำตอบว่าพลาสติกชนิดใดที่ล่อตาล่อใจสัตว์นั้นๆ เป็นพิเศษ พวกเขาอาจร่วมมือกับหน่วยงานผู้ผลิต เพื่อแก้ไขมันตั้งแต่ต้นทางได้

เท่านั้นยังไม่พอ การที่แมงกะพรุนพยายามกินขยะพลาสติกนี้ กำลังเป็นสัญญาณอันตราย ปกติแล้วแมงกะพรุน Mauve Stingers สามารถบริโภคอาหารได้มากถึง 50% ของน้ำหนักตัว การกินขยะพลาสติกปริมาณมากๆ จะทำให้พวกมันเคลื่อนไหวได้ช้าลง และตกเป็นเหยื่อของผู้ล่าได้ง่ายขึ้น เช่น ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน หนึ่งในปลาที่ผู้นิยมนำมาบริโภค นั่นหมายความว่าไมโครพลาสติกจากแมงกะพรุนจะเดินทางมาถึงเราด้วย ในท้ายที่สุด

นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และการทำความเข้าใจว่าแมงกะพรุนมีปฏิสัมพันธ์กับขยะพลาสติกในมหาสมุทรอย่างไร เป็นเพียงแค่ชิ้นส่วนเล็กๆ ในปริศนาขนาดมโหฬารเท่านั้น รายงานจาก Macali “แต่หากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางของพลาสติกในมหาสมุทรทั้งหมด ก็ต้องเริ่มจากจุดล่างสุดของห่วงโซ่อาหารนี่แหละครับ” เขากล่าว

เรื่อง Sarah Gibbens

 

อ่านเพิ่มเติม

แมงกะพรุนทำสิ่งเหล่านี้ได้ แม้ไม่มีสมอง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.