ปลาพยาบาลจดจำตัวเองในกระจกได้

ปลาพยาบาล จดจำตัวเองในกระจกได้

เป็นปฏิกิริยาออโต้ หากคุณเห็นรอยเปื้อนบนใบหน้าของคุณในกระจก แน่นอนคุณต้องเช็ดมันออก ทว่าบนโลกนี้มีสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่ทำเช่นนั้นได้ นอกเหนือจากมนุษย์แล้วก็มีอุรังอุตัง และโลมา ดูเหมือนว่าเราจะเป็นส่วนน้อยบนโลกใช่ไหม? อันที่จริงในมนุษย์เอง เด็กเล็กๆ ก็ยังไม่เข้าใจว่าภาพที่ปรากฏนกระจกคือตัวของพวกเขาเอง ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เผยผลการวิจัยใหม่ที่บ่งชี้ว่า ปลาพยาบาล (Bluestreak cleaner wrasse) ปลาขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังก็สามารถจดจำตนเองในกระจกเช่นกัน และพวกมันคือปลาสายพันธุ์แรกที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความสามารถนี้

ย้อนกลับไปในอดีต นักวิทยาศาสตร์ทดสอบสรรพสัตว์กับกระจกมานาน เพื่อมองหาว่าสัตว์ชนิดใดที่มีความตระหนักรู้ (Self-awareness) ด้วยการแต้มจุดสีลงไปบนตัว จากนั้นก็วางพวกมันไว้ที่หน้ากระจก และสังเกตดูว่าสัตว์ชนิดนั้นๆ มีปฏิกิริยาอย่างไรกับจุดแปลกปลอมบนร่างกาย  สัตว์ที่ผ่านการทดสอบนี้ก็ได้แก่ เอป, โลมา, ชิมแปนซี และนกสาลิกา ส่งผลให้เกิดข้อสันนิษฐานตามมาว่า ความตระหนักรู้อาจมีแค่ในสัตว์เลือดอุ่นอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนกเท่านั้น

งานวิจัยใหม่นี้นำทีมโดย Masanori Kohda นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโอซากา ตัวเขาทดลองใช้กระจกกับปลาหลายชนิด โดยหนึ่งในความคาดหวังคือ ปลาหมอสี เนื่องจากพวกมันสามารถจดจำสมาชิกในฝูงได้ ไม่ต่างจากไพรเมต ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่าพวกมันน่าจะมีความสามารถในการตระหนักรู้ด้วย ทว่าปลาหมอสีกลับสอบตก

ทีมวิจัยเปลี่ยนความสนใจไปที่ปลาพยาบาล พวกมันมีความยาวไม่มากไปกว่านิ้วมือของมนุษย์ มีถิ่นอาศัยตามแนวปะการังน้ำตื้น เช่น ในมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิก ชื่ออันนุ่มนวลของมันนี้ได้มาจากพฤติกรรมที่ชอบไล่กินเศษผิวหนัง, ของเสีย ไปจนถึงปรสิตบนตัวปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า

 

ปลาอะไรในกระจก?

ในการหาคำตอบ Kohda และทีมวิจัยนำปลาพยาบาลที่จับได้จากแหล่งธรรมชาติจำนวน 10 ตัว ใส่ลงไปในแต่ละแทงค์น้ำที่มีกระจก ปลาส่วนมากมีปฏิกิริยาก้าวร้าวเมื่อเห็นภาพสะท้อน เนื่องจากเข้าใจว่าปลาพยาบาลตัวอื่นเข้ามาในเขตของมัน แต่ในที่สุดพฤติกรรมของมันก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป พวกมันเริ่มรู้สึกประหลาดใจกับภาพตรงหน้า และว่ายผ่านกระจกไปมาอย่างรวดเร็ว บ้างก็ว่ายมาแล้วหยุดก่อนที่จะชนเข้ากับกระจก ในช่วงนี้นักวิจัยระบุว่าพวกมันกำลังตรวจสอบภาพสะท้อน และเริ่มจะทำความเข้าใจว่ามันกำลังมองตัวเอง ไม่ใช่ปลาพยาบาลตัวอื่น

เมื่อปล่อยให้ปลาได้ทำความคุ้นเคยกับกระจกแล้ว นักวิทยาศาสตร์ทดลองฉีดเจลสีน้ำตาลเข้าไปใต้ผิวหนังของปลาพยาบาลจำนวน 8 ตัว จุดสีเกิดขึ้นบนหัวในจุดที่ไม่สามารถมองเห็นได้หากไม่ใช้กระจก และเมื่อปลาพยาบาลมองเห็นเงาสะท้อนและแต้มจุดในกระจก พวกมันก็พยายามขูดแต้มดังกล่าวออกกับพื้นผิวรอบๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันอาจเข้าใจว่าจุดดังกล่าวคือปรสิต ที่น่าจดจำก็คือพวกมันพยายามถูจุดออกก็ต่อเมื่อมีกระจกเท่านั้น บ่งชี้ว่าพวกมันตระหนักรู้ได้ว่าภาพที่สะท้อนคือร่างกายของตนเอง

และเมื่อ Kohda เห็นพฤติกรรมนี้ เขาอึ้งไปเลยที่ปลาพยาบาลเหล่านี้ใช้กระจกส่องตัวเองหลังถูตัวไปมาว่า “ปรสิต” ที่พวกมันเห็นยังปรากฏอยู่หรือไม่

 

ผ่านการทดสอบชั่วคราว?

Redouan Bshary นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Neuchâtel ในสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ศึกษาพฤติกรรของปลาพยาบาล รู้สึกประทับใจกับการค้นพบครั้งนี้ “ผมไม่เคยเห็นปลาพยาบาลว่ายกลับหลังไปมา หรือเห็นพวกมันถูตัวเช่นนี้” Bshary กล่าว “นี่เป็นพฤติกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงกับกระจก”

ปลาพยาบาลถือได้ว่าเป็นสัตว์ฉลาด เมื่อเทียบกับขนาดสมองอันเล็กน้อยของมัน มันรู้จักการผูกสัมพันธ์และพึ่งพาสัตว์อื่นๆ แต่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าพวกมันสามารถจดจำตนเองในกระจกได้
ภาพถ่ายโดย Paul Sutherland

แต่ Gordon Gallup นักจิตวิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยรัฐนิวยอร์ก ระบุว่าตัวเขาไม่เชื่อการทดสอบนี้ พร้อมชี้ว่าโดยธรรมชาติปลาพยาบาลมักเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายของปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าอยู่แล้ว นี่น่าจะเป็นที่มาของพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า “เดิมทีพวกมันสนใจปลาตัวอื่นๆ อยู่แล้ว ดังนั้นการใช้เวลาหน้ากระจกอาจเป็นเพราะ กระจกคือจุดเดียวที่มันจะมองเห็นปลาตัวอื่นๆ” เขาเชื่อว่าภาพสะท้อนที่ปลาพยาบาลเห็นนั้นพวกมันเข้าใจว่าเป็นปลาตัวอื่นมากกว่าตัวมันเอง พร้อมระบุว่าสาเหตุที่มันถูตัวไปมาอาจเป็นเพราะกำลังเรียกร้องความสนใจจากปลาตัวอื่นอยู่หรือไม่?

ด้าน Kohda เอง ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลนี้ อีกทั้ง Gallup เองไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมปลาพยาบาลจึงส่องดูตัวเองในกระจกอีกครั้ง หลังพยายามถูแต้มสีออก

 

ใช่ความตระหนักรู้ในตนเองไหม?

ถ้าปลาพยาบาลผ่านบททดสอบกระจกนี้ นั่นหมายความว่าพวกมันมีความตระหนักรู้ใช่ไหม? ก็เป็นไปได้ เนื่องจากการทดสอบนี้ไม่ได้บอกว่าพวกมันคิดอย่างไรกันแน่ ด้าน Michael Platt นักประสาทวิทยา ด้านจิตวิทยาการับรู้ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียชี้ว่า การศึกษานี้ช่วยให้เราพบว่าสรรพสัตว์เองก็มีความตระหนักรู้มากกว่าที่เราคิด และบททดสอบกับกระจกนี้อาจช่วยให้พวกมันรู้จักร่างกายตัวเองมากยิ่งขึ้น

“มันยากที่จะทราบว่าบทสรุปใดกันแน่ที่ถูกต้อง เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถสื่อสารประสบการณ์ของพวกมันให้มนุษย์รับรู้ได้” Platt กล่าว ฉะนั้นแล้วเมื่อผลการวิจัยยังเป็นเพียงสมมุติฐาน นั่นหมายความว่าอาจยังมีสัตว์อีกหลายชนิดก็เป็นได้ ที่มีความสามารถในการจดจำร่างกายตนเองเช่นเดียวกับปลาพยาบาล

เรื่อง Jake Buehler

 

อ่านเพิ่มเติม

หมึกสาย: นักมายากลแปดหนวด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.