พบอุรังอุตัง “เผือก” ในอินโดนีเซีย

เรื่อง ฮีเธอร์ แบรดี

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ปี 2017 อุรังอุตังเผือกตัวหนึ่งถูกนำมาจากหมู่บ้านในอินโดนีเซีย ที่ซึ่งมันถูกขังไว้ในกรง

อุรังอุตังตัวนี้ มีอายุ 5 ปี ถูกพบในอำเภอกาปูอัสฮูลู บนเกาะบอร์เนียว หลังจากเรานำมันมาดูแล มันมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นราวสิบปอนด์ภายในไม่กี่สัปดาห์

กองทุนเพื่อความอยู่รอดของอุรังอุตังในบอร์เนียว ทำหน้าที่ในการดูแลสัตว์ในตระกูลไพรเมต ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Telegraph กล่าวว่า อุรังอุตังเป็นเอปที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ หมายความว่า พวกมันอยู่ห่างจากคำว่าสูญพันธุ์เพียงก้าวเดียว และตอนนี้ กองทุนฯ กำลังดูแลอุรังอุตังอยู่เกือบห้าร้อยตัว เจ้าหน้าที่กองทุนฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการก่อตั้งมาตลอด 25 ปี เราไม่เคยดูแลอุรังอุตังเผือกมาก่อนเลย

ทางกองทุนฯ ได้เปิดกิจกรรมการตั้งชื่อเจ้าเอปเผือกตัวนี้ โดยเปิดรับชื่อต่างๆ จากทั่วโลก และชื่อที่ถูกเลือกคือ “อัลบา” (Alba) ในภาษาละตินแปลว่า “สีขาว” และยังหมายถึง “รุ่งเช้า” ในภาษาสเปน

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รุ่งอรุณแห่งวันใหม่จะมาเยือนสัตว์ที่มีคุณค่าเหล่านี้” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ จาการ์ตาโพสต์

โดยธรรมชาติแล้ว ขนยาวๆ ของอุรังอุตังจะปรากฏสีน้ำตาลส้ม และเป็นที่รู้กันว่าพวกมันเป็นเอปที่ฉลาดมาก การพบอุรังอุตังเผือกเป็นเรื่องที่พบได้น้อยมาก แม้จะมีรายงานว่า พบภาวะเผือกในไพรเมตชนิดอื่น เช่น กอริลลา และลิงสไปเดอร์ ในฮอนดูรัส

จาการ์ตาโพสต์ รายงานว่า ทางกองทุนฯ กำลังศึกษาภาวะเผือกในเอปอย่างใกล้ชิด เพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดในการช่วยเหลืออัลบา เจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาตัวอย่างพันธุกรรมที่แสดงออกในอุรังอุตังได้ และภาวะเผือกมักจะส่งผลต่อประสาทรับสัมผัสอย่างการมองเห็น ปัจจุบัน ภาวะเผือกพบได้บ่อยครั้งมากขึ้นในสัตว์ตระกูลไพรเมต และสัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ เนื่องจาก สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการผสมพันธุ์ในเครือญาติของกลุ่มสัตว์ชนิดเดียวกัน อ้างอิงจากการศึกษาใน SciLEO ประเทศอาร์เจนตินา

องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือไอยูซีเอ็น ประมาณการณ์ว่า มีอุรังอุตังราว 104.000 ตัวอาศัยอยู่บนเกาะบอร์เนียว ซึ่งลดลงจาก 288,000 ตัว ที่รายงานในปี 1973 การประมาณการณ์ของไอยูซีเอ็นคาดว่า ภายในปี 2025 อุรังอุตังจะมีจำนวนเหลือเพียง 47,000 ตัว จากสาเหตุหลักๆ ได้แก่ การล่า และการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่อาศัยของอุรังอุตัง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.