หมู่เกาะกาลาปากอส แดนวิกฤติ ถิ่นอิกัวนา แห่งเอกวาดอร์

เรื่อง คริสโตเฟอร์ โซโลมอน

ภาพถ่าย ทอมัส พี. เพสแชก

อน วิตแมน ตรวจสอบมาตรวัดความดันอากาศ  ขยับตีนกบให้เข้าที่ แล้วหงายหลังทิ้งตัวลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้ๆกันนั้น มหาสมุทรซัดสาดเกาะอิสลาบีเกิล ซึ่งเป็นหนึ่งในเกาะน้อยใหญ่นับร้อยที่ประกอบกันขึ้นเป็นหมู่เกาะกาลาปากอส จังหวัดหนึ่งของประเทศเอกวาดอร์และทอดตัวคร่อมเส้นศูนย์สูตรพอดี

บนชะโงกหินเหนือฟองคลื่นที่ซัดกระเซ็น นกบูบีตีนน้ำเงินเต้นรำด้วยท่วงท่างุ่มง่าม สิงโตทะเลกาลาปาโกสสองตัวกำลังทะเลาะกันบนโขดหินที่อยู่ต่ำลงมา ภาพที่เห็นและเสียงที่ได้ยินน่าจะเป็นเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ชาร์ลส์ ดาร์วิน แล่นเรือมาที่นี่เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน  สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ปรับตัวให้เข้ากับเกาะที่มีสภาพแวดล้อมรุนแรงได้เป็นอย่างดี ประหนึ่งว่าทนทานต่ออะไรก็ได้  ไม่เว้นแม้แต่กาลเวลา

ทันใดนั้น วิตแมนก็ทะลึ่งพรวดขึ้นมาเหนือน้ำ “เริ่มแล้วครับ” เขาบอกผมด้วยสีหน้าบูดบึ้ง

เขาคว้ากล้องวิดีโอจากเรือที่พาไปดำน้ำ  แล้วหายลงไปใต้น้ำอีกครั้ง ผมกระโดดตามเขาไป  ที่ระดับความลึกห้าเมตรใต้ผิวน้ำ วิตแมนชี้ให้ผมดูปะการังโขด Porites lobata   ซึ่งควรมีรูปร่างเหมือนเจดีย์สีเขียวอมเหลือง แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น  มันกลับกลายเป็นสีขาวตัดกับสีชมพูและสีเขียวเข้มของปะการังอื่นๆบนพื้นทะเล  ปะการังกลุ่มนี้กำลังฟอกขาวอันเป็นผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นเกินไป มันจะตายในไม่ช้า

ในฉากที่อาจเก่าแก่ถึง 10,000 ปี เต่ายักษ์พักผ่อนอยู่กลางบ่อโคลนในปล่องภูเขาไฟโบลกานอัลเซโดบนเกาะ อิสลาอีซาเบลา อุณหภูมิทรายในช่วงฟักไข่เป็นตัวกำหนดเพศของสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ อุณหภูมิอากาศที่นี่ซึ่งพยากรณ์ว่าจะอบอุ่นขึ้น อาจส่งผลให้ทรายอุ่นขึ้นและทำให้ได้ลูกเต่าเพศเมียมากขึ้น

วิตแมนและคณะกำลังเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงในบริเวณต่างๆ เช่นที่เกาะอิสลาบีเกิล  พวกเขาพบปัญหานี้ได้ไม่ยาก  และกำลัง “วัดไข้” ชุมชนก้นทะเลแห่งนี้ ทั้งในแง่รูปธรรมตามตัวอักษรและอุปมาอุปไมย  ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญเมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสภาพภูมิอากาศที่นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของที่นี่  อุณหภูมิในบริเวณที่เขาดำน้ำพุ่งสูงขึ้นไปถึง 31 องศาเซลเซียส (โดยรวมแล้ว อุณหภูมิน้ำในแถบกาลาปากอสสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในระยะยาวสององศาเซลเซียส) วิตแมนกลัวว่าปะการังฟอกขาวจะเป็นลางบอกเหตุถึงการฟอกขาวที่จะกระจายไปอย่างรวดเร็วในไม่ช่วงกี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะรวมถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อื่นๆทั่วทั้งสิ่งแวดล้อมที่นี่ด้วย

หมู่เกาะกาลาปากอสประกอบด้วยเกาะหลักๆ 13 เกาะ  ดาร์วินมาถึงหมู่เกาะแห่งนี้เมื่อปี 1835 และเริ่มการสังเกตการณ์ซึ่งต่อมาแสดงให้เขาและเราเห็นว่า ชีวิตบนโลกวิวัฒน์ขึ้นอย่างไร

แม้กาลาปากอสจะดูเหมือนอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่หมู่เกาะแห่งนี้ก็หาได้รอดพ้นจากผลกระทบของชีวิตสมัยใหม่  นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังมาเยือนถึงต้นกำเนิดของทฤษฎีวิวัฒนาการ  ชนิดพันธุ์อันเป็นสัญลักษณ์ของเกาะอย่างเต่ายักษ์ นกฟินช์ นกบูบี และอิกัวนาทะเล ล้วนอาจเดือดร้อน ระบบนิเวศอันโด่งดังที่สอนโลกเกี่ยวกับกระบวนการการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection)  อาจมอบบทเรียนให้เราอีกครั้งด้วย การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสถานที่อื่นๆแก่เรา  วิตแมนบอกว่า กาลาปากอส “เป็นห้องปฏิบัติการชั้นเลิศเพื่อศึกษาวิธีที่ชนิดพันธุ์ต่างๆตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครับ”

สิงโตทะเลกาลาปากอสฝูงเล็กๆ ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นบนชายฝั่งทางตะวันออกของเกาะอิสลาอีซาเบลา ล่าปลาทูนาครีบเหลืองที่มีอยู่อย่างชุกชุมโดยการต้อนเข้าไปในอ่าว จากนั้นก็บีบให้กระโดดขึ้นไปบนโขดหินหรือกัดหัวให้ตาย คาดกันว่าสิงโตทะเลจะมีจำนวนลดลงเมื่อสภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง

การถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ของอเมริกาใต้โดยผืนน้ำเป็นระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร  เปิดโอกาสให้ธรรมชาติที่นี่มีอิสรเสรีอย่างเต็มที่  ในบรรดาสัตว์ที่เดินทางจากแผ่นดินใหญ่มายังหมู่เกาะแห่งนี้  มีไม่กี่ตัวที่รอดชีวิต  พวกที่รอดวิวัฒน์ไปสู่รูปแบบที่แตกต่างออกไป โดยปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของแต่ละเกาะ  พวกที่ปรับตัวไม่ได้ก็สูญพันธุ์ไปจนหมดสิ้น

แต่ปัจจุบัน  กาลาปากอสกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอื่นๆด้วย   ไม่ใช่แค่จากวิวัฒนาการ  มีสถานที่เพียงไม่กี่แห่งบนโลกที่นักวิทยาศาสตร์จะได้นั่งแถวหน้าเพื่อเฝ้าดูระบบนิเวศถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ซึ่งบางครั้งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระยะเวลาสั้นๆ

ปัจจุบัน ขณะที่โลกร้อนขึ้น วิตแมนและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ กำลังพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตบนหมู่เกาะแห่งนี้  อาจไม่มีสถานที่อื่นใดในโลกอีกแล้วที่วัฏจักรของชีวิตและความตายจะถูกผลักดันอย่างรุนแรงโดยปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศซึ่งรู้จักกันในนามเอลนีโญและลานีญา  เมื่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน และกระแสน้ำในมหาสมุทร ส่งผลให้สภาพลมฟ้าอากาศและการมีอาหารอย่างพอเพียงทั้งบนบกและในทะเลเกิดความผันผวนอย่างรุนแรง  ผู้เชี่ยวชาญพยากรณ์ด้วยว่า อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มอัตราการเกิดเอลนีโญซึ่งจะทำให้ฝนตกชุกจากประมาณทุก 20 ปี เป็นทุกๆสิบปี

นกฟินช์บนเกาะอิสลาวุล์ฟอันห่างไกลหาอาหารได้อย่างยากลำบากกว่านกบกในที่อื่นๆของหมู่เกาะ ในการดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดเมื่อปริมาณเมล็ดพืชและแมลงที่ขาดแคลนอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก นกฟินช์ปากเรียวจึงกลายเป็น “ผีดูดเลือด” พวกมันจิกโคนขนสำหรับใช้บินของนกบูบี แล้วดื่มเลือด

แอนดรูว์ วิตเทนเบิร์ก นักวิทยาศาสตร์จากสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือโนอา ชี้ว่า แบบจำลองยังทำนายว่ามหาสมุทรใกล้เส้นศูนย์สูตรจะอุ่นขึ้นเร็วกว่าบริเวณที่เหลือของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนเล็กน้อย   การคาดการณ์ของบางสำนักชี้ว่า  เมื่อถึงปี 2100 ระดับทะเลจะสูงขึ้นด้วย  กล่าวคือจาก  55 เซนติเมตรเป็น 76 เซนติเมตร  นักวิทยาศาสตร์ยังคิดว่า น่านน้ำที่อุ่นขึ้นในช่วงฤดูหนาวอาจลดปริมาณ การัว หรือหมอกหนาทึบที่ปกคลุมป่าบนที่ราบสูงของกาลาปากอสมาประมาณ 48,000 ปี  นี่อาจเป็นหายนะของสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยความชื้นจากสายหมอก  นอกจากนี้  ขณะที่มหาสมุทรของโลกยังดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้น กาลาปากอสถูกจัดว่าเป็น “แดนวิกฤติ” ของภาวะทะเลเป็นกรด  ซึ่งสามารถละลายโครงสร้างหินปูนของปะการังและมอลลัสก์ จนอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร

ขณะเดียวกันนั้นเอง วิตแมนและทีมงานคาดว่า การฟอกขาวของปะการังที่พวกเขาพบเห็นรอบหมู่เกาะจะเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลจากน้ำที่อุ่นมากเป็นพิเศษ (ultrawarm) จากปรากฏการณ์เอลนีโญ  เมื่อสูญเสียถิ่นที่อยู่บางส่วนไป  ปลาและสรรพชีวิตอื่นๆในทะเลที่พึ่งพาอาศัยปะการังย่อมมีแหล่งพักพิงและแหล่งหากินน้อยลง   ระบบนิเวศที่รุ่มรวยกลับแร้นแค้นขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นก็จะไม่สามารถทนทานแรงกระทบกระเทือนต่างๆได้อีก รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต  ที่แย่ไปกว่านั้นคือ หมู่เกาะกาลาปากอสยังได้รับแรงกดดันจากประชากรที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ผู้มีถิ่นพำนักบนเกาะประมาณ 25,000 คน และนักท่องเที่ยวอีกประมาณ 220,000 คนต่อปี

จากนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2560

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.