เดิมทีการเลี้ยงลูกของตัวเองก็ว่ายากและลำบากแล้ว แต่ “ลิงจมูกเชิดสีทอง” กลับไม่คิดเช่นนั้น จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances กล่าวว่า จำนวนกว่าร้อยละ 87 ของลิงจมูกเชิดสีทองวัยแรกเกิด (Infant) ต่างได้รับการเลี้ยงดูจากลิงตัวอื่นที่ไม่ใช่แม่ของตัวเอง โดยปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Allonursing หรือ “การร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิด”
แม้ว่าการร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิด (Allonursing) จะถูกบันทึกว่าเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสัตว์จำพวกหนู สัตว์กินเนื้อ รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เช่น มนุษย์ แต่การกระทำเหล่านี้ถือเป็นเรื่องแปลกใหม่มากๆ ในกลุ่มลิงโลกเก่า (Old World Monkeys)
การร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิด
มีการบันทึกไว้ว่า การร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสัตว์ลูกด้วยนมเพียงแค่ประมาณ 40 สายพันธุ์เท่านั้น โดยนักวิจัยไม่ได้คาดหวังว่าจะพบพฤติกรรมเช่นนี้ในลิง
การสำรวจพฤติกรรมของกลุ่มลิงในเสิ่นหนงเจี้ย ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติของประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2555 Zuofu Ziang ศาสตราจารย์ด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าประจำมหาวิทยาลัยป่าไม้และเทคโนโลยี (CSUFT) ในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในคณะผู้จัดทำการศึกษาครั้งนี้ ยอมรับว่าตอนแรกพวกเขาแทบจะไม่ได้สังเกตเลยว่าเหล่าพวกลิงจะมีพฤติกรรมช่วยเลี้ยงดูลูกๆ ของลิงตัวอื่น จนกระทั่งพวกเขาเห็นลิงเพศเมียตัวหนึ่งให้นมลูกลิงวัยแรกเกิดสองตัวพร้อมกัน ทำให้พวกเขาฉุกคิดถึงไอเดียการร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดของลิงตัวอื่นขึ้นมา
“ตอนเริ่มสังเกตพฤติกรรมลิงแรกเกิด พวกเราเกิดความประหลาดใจอย่างมากที่พบว่าการร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดนั้นถือเป็นเรื่องปกติช่วงสามเดือนแรกของเหล่าลูกลิง” Xiang เปิดใจกับปรากฏการณ์ประหลาดครั้งนี้
โดยลูกลิงวัยแรกเกิดจำนวนกว่าร้อยะ 87 ต่างได้รับการเลี้ยงดูจากลิงตัวอื่นที่ไม่ใช่แม่ของตัวเอง
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการแสดงออกพฤติกรรมนี้คือ ความสัมพันธ์ทางสายเลือด (Relatedness) โดยคุณย่าหรือคุณป้ามักจะมีแนวโน้มที่จะไปช่วยแม่ลิงเลี้ยงลูก การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในฝูงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักของการเกิดพฤติกรรมช่วยเลี้ยงลูกในครั้งนี้
ความเกี่ยวข้องทางสายเลือดเป็นปัจจัยสำคัญ โดยทั้งคุณย่าหรือคุณป้ามีแนวโน้มที่จะได้รับสารอาหารเสริม การแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันดูเหมือนว่าจะมีบทบาทเช่นกัน เพราะแม่ส่วนใหญ่เลี้ยงลูกของผู้หญิงอีกคนหนึ่งหากผู้หญิงคนนั้นเคยดูแลลูกของตัวเอง
ป้าๆ ขอกินนมหน่อย
เหตุผลหลักของความประหลาดใจเกิดขึ้นมา เนื่องจากน้ำนมถือเป็นอาหารที่จำเป็นอย่างมากของลูกลิงวัยแรกเกิด แต่ทำไมแม่ลิงส่วนใหญ่ถึงเลือกที่จะยอมให้น้ำนมอันมีค่าของตัวเองให้ลิงตัวอื่น แทนที่จะเก็บไว้ให้ลูกของตัวเองล่ะ?
“การให้น้ำนมถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถทำได้ นอกเหนือไปจากการตั้งท้อง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศเมียจำเป็นต้องสร้างแร่ธาตุ สารอาหารโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในร่างกายของพวกเธอเองในการสร้างน้ำนมแต่ละหยด ถือเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากมากๆ” เคิร์สตี้ แมคลีออด นักนิเวศวิทยาที่มหาวิทยาลัยลุนด์ในประเทศสวีเดน กล่าว
“การร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดนี้สามารถพบเห็นได้บ่อยในฝูงครอบครัวสัตว์ที่มีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างมาก หรือในสัตว์ที่มักจะออกลูกทีละหลายๆ ตัวในครั้งเดียว ทำให้การไปช่วยเลี้ยงดูลูกนั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไร เพราะถึงอย่างไรก็ถือว่าลูกหลานเหล่านั้นเป็นสายเลือดเดียวกันอยู่ดี” เคิร์สตี้ กล่าวเสริม
“สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างลิง โดยปกติแล้วจะไม่มีพฤติกรรมช่วยเลี้ยงลูกในทำนองที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การค้นพบว่าลิงจมูกเชิดสีทองมีพฤติกรรมเช่นนี้ถือว่ามีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไปเป็นอย่างมาก”
ว่าแต่ทำไมเหล่าลิงจมูกเชิดสีทองถึงใจดีกันจังเลยล่ะ?
สาเหตุของพฤติกรรมการร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิดในลิงจมูกเชิดสีทอง มาจากการที่ลิงเหล่านี้มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าที่มีฤดูหนาวที่หนาวเย็นและมีความยาวนานมาก (ในตอนกลางคืน อุณหภูมิมักจะลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสเป็นประจำ) อีกทั้งอาหารที่ลิงส่วนใหญ่บริโภคมักจะขาดแคลนในบางช่วงฤดูกาล ทำให้การช่วยเหลือเลี้ยงดูลูกลิงตัวอื่น จะช่วยเพิ่มโอกาสการอยู่รอดให้แก่ลูกลิงเหล่านั้น ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ได้
ในการศึกษาครั้งนี้ Xiang และผู้ร่วมวิจัย ได้ทำการบันทึกและติดตามลูกลิงวัยแรกเกิดจำนวน 6 ตัว ซึ่งทั้งหมดไม่ได้รับการดูแลจากแม่ลิงตัวอื่นๆ ผลปรากฏว่ามีเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้นที่มีชีวิตรอดในการเผชิญหน้ากับฤดูหนาวอันโหดร้าย ในขณะที่มีลูกลิงเพียง 6 ตัวที่ตายลง จากลูกทั้งหมด 40 ตัว ซึ่งได้รับการเลี้ยงดูจากลิงตัวอื่นๆ ในฝูง (ซึ่งในหกตัวนั้น มีสองตัวที่ถูกฆ่าตาย เนื่องจากมีลิงตัวใหม่เข้ามายึดครองฝูง)
การร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูลูกวัยแรกเกิด มีส่วนช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของลูกลิงวัยแรกเกิด ทั้งในเรื่องของการได้รับสารอาหารเพิ่มเติม และเข้าไปเพิ่มชุดภูมิคุ้มกันที่หลากหลายเพื่อที่จะไปต้านทานโรคภัยไข้เจ็บและปรสิตต่างๆ ต่อไป
ทั้งนี้พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะเป็นผลประโยชน์ต่อตัวแม่ลิงเองด้วย เนื่องจากการที่มีลิงตัวอื่นมาช่วยเลี้ยงดูหรือให้น้ำนมลูกลิง ทำให้ภาระหน้าที่ไม่ตกอยู่ที่แม่ลิงเพียงแค่ตัวเดียว
แม้ว่าสัตว์บางสายพันธุ์ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่คล้ายคลึงกับลิงจมูกเชิดสีทอง แต่ก็ไม่เสมอไปที่สัตว์พวกนั้นจะมีพฤติกรรมช่วยเลี้ยงลูกแบบนี้
แต่ในสำหรับลิงจมูกเชิดสีทองแล้ว การแบ่งหน้าที่ช่วยเลี้ยงดูลูกลิงวัยแรกเกิดกันในฝูง ไม่ถือเป็นที่เรื่องที่น่าแปลกใจกันแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรก็เป็นครอบครัวสายเลือดเดียวกัน ถ้าไม่ช่วยกันแล้วใครจะมาช่วยล่ะ จริงไหม..
***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย