พฤติกรรมอันแปลกประหลาดของสัตว์ : ทำไมสุนัขถึงฉี่ใส่ชามข้าว

ทำไมนกแก้วถึงชอบส่องกระจก ทำไมแมวมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเวลาดูคลิปวิดีโอ และทำไมสุนัขต้องฉี่ในชามข้าวของมัน พฤติกรรมสัตว์ เหล่านี้บ่งบอกถึงอะไร?

กระจกวิเศษบอกข้าเถิดใครงามเลิศในปฐพี

Gaia Restrepo เป็นเจ้าของนกแก้วเพิร์ลลี่คอนัวร์เพศเมียที่ชื่อว่า Priprie นกแก้วชนิดนี้เป็นสัตว์ท้องถิ่นของประเทศบราซิล โดยคนส่วนใหญ่เรียกนกแก้วชนิดนี้ว่า “เจ้าหญิงแห่งการส่องกระจก”

“มัน (นกแก้ว) ชื่นชอบการส่องกระจกมากๆ” Restrepo กล่าว แต่เธอสงสัยว่าทำไมนกแก้วของเธอถึงหลงใหลในการส่องกระจกขนาดนี้ มีอะไรผิดปกติกับมันหรือเปล่า?

ภาพของนกแก้วเล็ก กำลังส่องเงาตัวเองเล่นอยู่หน้ากระจก

ก่อนจะหาคำตอบ ต้องขอบอกก่อนว่าเจ้า Priprie ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงาในกระจกที่สะท้อนกลับมาคือตัวมัน โดยส่วนใหญ่แล้วสัตว์ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าเงาในกระจกที่สะท้อนกลับมาคือเงาของพวกมันเอง กล่าวโดย Bob Mulvihill นักปักษีวิทยาประจำ National Aviary ในเมืองพิตต์สเบิร์ก

ในบรรดานกจะมีเพียงนกพิราบและนกกางเขนเท่านั้นที่สามารถส่องกระจกแล้วรับรู้ว่าเงาในนั้นคือตัวมันเอง ไม่เพียงเท่านั้น นกพิราบยังสามารถจดจำตัวเองได้ในคลิปวิดีโออีกด้วย แต่กว่าจะรู้ว่าเป็นตัวเองก็ต้องใช้เวลาจ้องนานกว่า 7 วินาทีเลยทีเดียว

กลับมาที่นกแก้ว แม้ว่าพวกมันจะเป็นสัตว์ที่ชาญฉลาดเป็นอย่างมาก แต่พอถึงเวลาอยู่หน้ากระจกแล้ว พวกมันกลับไม่สามารถจดจำใบหน้าของตัวเองได้ นอกจากนี้ Mulvihill ยังเสริมว่า มีความเป็นไปได้ที่ Priprie จะมองเงาของตัวเองว่าเป็น “ศัตรู” หรืออาจจะมองว่าเป็น “เพื่อน” ก็เป็นได้ นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมมันถึงมีอาการก้าวร้าวเวลาส่องกระจก

หากนกแก้วมีท่าทีแทะหรือจิกกระจก นั่นอาจเป็นสัญญาณของการแสดงความเป็นมิตรของเหล่านกแก้ว โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “การไซ้ขนให้กันและกัน (allopreening)” Mulvihill กล่าว

ตามคำแนะนำจากนักปักษีวิทยา Gaia Restrepo ได้นำราวมาตั้งไว้หน้ากระจกเพื่อให้นกแก้วของเธอได้มาเกาะส่องดูเงาของตัวเอง

Mulvihill ยังได้แนะนำเพิ่มอีกว่า หากการกระทำของเจ้า Priprie ไม่ได้มีอันตรายหรือมีเจตนาที่จะทำลายข้าวของ ก็ควรปล่อยมันส่องกระจกไป เพราะอาจเป็นไปได้ที่มันจะรู้สึกสบายใจเวลาส่องกระจก เพราะสำหรับมัน เงาที่สะท้อนกลับมาอาจเป็นเพื่อนก็ได้

พฤติกรรมก้าวร้าวของแมวเวลาดูคลิปวิดิโอ

ทุกครั้งที่ “วาซาบิ” ดูวิดีโออะไรก็ตามบนอินเตอร์เน็ต มันจะดูตื่นเต้นมากๆ จนถึงขนาดกัดไปที่หน้าจอเลยทีเดียว..

(รับชมคลิปวิดิโอเจ้าเหมียวพยายามตะครุบนกที่อยู่ในหน้าจอคอมพิวเตอร์)

แน่นอน ผมคิดว่ามันคงชอบดูวิดีโอพวกนี้ แต่ผมสงสัยว่าพวกภาพนิ่ง วิดีโอแบบโทรทัศน์หรือแสงเลเซอร์เนี่ย จะไปสร้างความรำคาญให้กับสัตว์หรือเปล่า เพราะไม่ว่าพวกมันจะพยายามออกแรงมากแค่ไหน ก็ดูเหมือนว่าจะจับหรือทำร้ายสิ่งที่อยู่ในหน้าจอไม่ได้สักที

John Bradshaw ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมแมวจากมหาวิทยาลัยบริสตอลในประเทศอังกฤษกล่าวในอีเมลว่า เป็นไปได้ที่แมวจะรู้สึกไม่พอใจเนื่องจากพวกมันไม่สามารถแตะต้องหรือโจมตีสิ่งที่อยู่ในหน้าจอได้เลย

Carlo Siracusa จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้สนับสนุนข้อสันนิษฐานดังกล่าวพร้อมกับเสริมว่า “พฤติกรรมการเล่นของแมวนั้นใกล้เคียงกับพฤติกรรมการล่าเอามากๆ”

แมวตัวนี้มีชื่อว่า “นายพล Boots” เป็นแมวพันธุ์ผสม ภาพนี้ถ่ายที่ Capital Humane Society ใน Lincoln, Nebraska

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองไม่ได้กล่าวอะไรในเรื่องผลเสียเกี่ยวกับการหงุดหงิดของเจ้าแมวตัวดังกล่าว โดยพวกเขาแนะนำว่าให้นำตุ๊กตาอะไรก็ได้ไว้ข้างๆ หน้าจอเวลาเปิดคลิปวิดิโอทำนองนี้ให้แมวดู เนื่องจากการได้ขย้ำอะไรสักอย่าง คงจะเป็นสิ่งที่มีความสุขมากๆ สำหรับสัตว์อย่างแมว

จิตวิทยาเงียบๆ ของเหล่าสุนัข

Joyce Jefferson สงสัยว่าทำไมสุนัขของเธอถึงฉี่ใส่ชามข้าวของมันเอง หากเธอไม่มาเก็บทันทีหลังจากพวกมันกินเสร็จ

การกระทำแบบนี้เหมือนกับว่าสุนัขต้องการป่าวประกาศว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นของพวกมัน “พวกมันจะฉี่ใส่บริเวณรอบๆ หรือบางทีอาจจะในชามอาหารของพวกมันเลย” Leticia Fanucchi นักศึกษาพฤติกรรมสัตว์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตต กล่าว

(รับชมวิดิโอ อะไรเป็นปัจจัยทำให้สุนัขมีความก้าวร้าว?)

เนื่องจาก Jefferson เลี้ยงสุนัขมากกว่าหนึ่งตัว หมายความว่าการกระทำของเจ้าหมาอาจมีนัยยะว่าอาหาร ชาม และพื้นที่ในบริเวณที่มันฉี่ใส่นั้นเป็นของมันแต่เพียงตัวเดียวเท่านั้น

แต่ในบางกรณี ความวิตกกังวลหรือการโดนสุนัขตัวอื่นทำร้ายมาในอดีต อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมฉี่ใส่ชามข้าวเพื่อที่จะจองพื้นที่ก็เป็นได้ วิธีแก้ปัญหาคือการแยกให้อาหาร และใช้วัสดุเซรามิกหรือสแตนเลสแทนพลาสติก เพราะวัสดุสองสิ่งนั้นจะช่วยระงับกลิ่นของเจ้าสุนัขเอง ไม่ให้มีกลิ่นติดภาชนะอาหาร

เรื่องโดย 

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : หากเจ้าของมี ความวิตกกังวล จะทำให้สุนัขกังวลด้วยหรือไม่?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.