โลมาปากขวดที่ชื่อว่า เค-ด็อก กระโดดโผล่ขึ้นจากน้ำระหว่างการฝึกของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่อ่าวเปอร์เซีย ภาพถ่ายโดย พันจ่าเอก BRIAN AHO แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ
หลังจากมีข่าวว่าชาวประมงประเทศนอร์เวย์พบวาฬเบลูกาเข้ามาใกล้เรือ และติดตั้งอปุกรณ์ที่ดูเหมือนเป็นกล้องบันทึกภาพ ซึ่งภายหลังพบว่าเป็น “อุปกรณ์ที่มาจากเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” โดยผู้เชี่ยวชาญทางทะเลให้ความเห็นว่า วาฬตัวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการฝึกทางทหาร ที่ใช้สัตว์จำพวก วาฬ (cataceans) เพื่อการทำภารกิจต่างๆ อาจดูเป็นเรื่องประหลาด แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน
เมื่อปี 2017 สถานีโทรทัศน์รัฐบาลของประเทศรัสเซียได้รายงานว่า รัสเซียกำลังทดลองใช้วาฬเบลูกา โลมาปากขวด (Bottlenose dolphin) และแมวน้ำหลายชนิด เพื่อลาดตระเวนบริเวณทางเข้าฐานทัพเรือ ช่วยเหลือนักดำน้ำ หรือแม้กระทั่งสังหารคนแปลกหน้าที่บุกรุกดินแดน
การใช้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลเพื่อจุดประสงค์ทางการทหารไม่ถือเป็นข้อห้ามในประเทศรัสเซีย นอกจากนี้ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 สัตว์เหล่านี้มีความสามารถตรวจจับและค้นหาเป้าหมายในน้ำลึกและดำมืด ซึ่งยังไม่มีเทคโนโลยีใดเทียบเคียงความสามารถของพวกมันได้
กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ฝึกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล ซึ่งรวมไปถึงสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนียและโลมาปากขวด เพื่อค้นหาและกู้คืนวัตถุที่สูญหายไปในท้องทะเล รวมถึงระบุตัวผู้บุกรุกที่พยายามว่ายน้ำเข้ามาในเขตหวงห้าม นอกจากนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ใช้งานบรรดาโลมาเพื่อตรวจจับทุ่นระเบิดทั้งที่ฝังอยู่บนพื้นทะเล ลอยอยู่บนน้ำ หรือถูกผูกไว้กับสมอเรือ
“[โลมาปากขวด] นั้นดีกว่าเครื่องมือที่ใช้ตรวจจับทุ่นระเบิดเสียอีก และทำงานได้เร็วกว่าด้วยครับ” พอล แนชติแกลล์ (Paul Nachtigall) หัวหน้าโครงการวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของมหาวิทยาลัยฮาวายแห่งอ่าวเคน’โอ (Kane’ohe Bay) กล่าว
ทักษะของโลมาจะมีประสิทธิภาพเมื่ออยู่ใกล้กับชายฝั่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คลื่นชายฝั่งและการจราจรทางเรือผลิตคลื่นเสียงจำนวนมาก แนชติแกลล์กล่าวเพิ่มเติม โดยกลไกของอุปกรณ์ที่ใช้งานปกตินั้นอาจสับสนกับแหล่งกำเนิดคลื่นเสียงที่มีจำนวนมากในทะเล แต่ไม่ใช่กับเหล่าวาฬ
นั่นเป็นเพราะว่าระบบหาตำแหน่งของวัตถุใต้น้ำ (sonar) ของเหล่าวาฬมีการปรับจูนคลื่นมาเป็นอย่างดี แนชติแกลล์กล่าว ทั้ง วาฬ และสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันอย่างวาฬเพชฌฆาตนั้น ส่งคลื่นเสียงซึ่งสะท้อนวัตถุที่อยู่โดยรอบ โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ตรวจจับคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาและสามารถรับรู้ภาพบรรยากาศในสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า การกำหนดที่ตั้งวัตถุด้วยเสียงสะท้อน (echolocation)
ตามหาของที่สูญหาย
ในขณะที่สิงโตทะเลแคลิฟอร์เนีย แม้จะไม่ได้มีทักษะการหาตำแหน่งของวัตถุใต้น้ำ แต่ก็มีสายตาที่ยอดเยี่ยม “พวกมันเก่งในเรื่องค้นหาสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอ เช่นอุปกรณ์เครื่องมือที่สูญหายไปครับ” แนชติแกลล์กล่าว
กองทัพเรือสหรัฐฯ ใช้งานมันเพื่อค้นหาและกู้วัตถุระเบิดที่ใช้ฝึก เช่น ทุ่นระเบิดสำหรับฝึก โดยครูฝึกจะให้เครื่องมือที่ติดกับตัวสิงโตทะเลตรงปากของมันและปล่อยกลับลงน้ำ และเมื่อมันพบเจอเป้าหมายแล้ว มันจะคีบวัตถุด้วยเครื่องมือนี้มาให้ครูฝึกบนเรือที่อยู่บนระดับผิวน้ำที่สามารถให้ของสิ่งนั้นกับครูฝึกได้
ในปี 2011 ในงานทดสอบและแสดงการฝึกสัตว์เพื่อภารกิจทางการทหารต่อสื่อมวลชนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้มีการปล่อยเหล่าวาฬและสิงโตทะเลเพื่อลาดตระเวนในอ่าวซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย และพวกมันทั้งสองสามารถจับนักดำน้ำได้ และสิงโตทะเลสามารถคล้องเครื่องมือที่ติดตัวมันไว้ไปที่ขาของนักดำน้ำ และครูฝึกที่อยู่บนผิวน้ำก็ดึงสิงโตทะเลขึ้นมาเหมือนปลาตัวหนึ่ง
ทั้งสิงโตทะเลแคลิฟอร์เนียและโลมาปากขวดนั้นทั้งแข็งแรง ฉลาด และสามารถฝึกได้ แนชติแกลล์กล่าว เหล่าสิงโตทะเลนั้นมีข้อดีในการเป็นสัตว์ทะเทินน้ำสะเทินบก นี่เป็นเหตุผลว่าเหตุใดกองทัพเรือสหรัฐฯ จึงใช้งานพวกมันแทนที่จะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลชนิดอื่น เช่น วาฬเพชฌฆาตหรือวาฬเบลูกา เป็นต้น