ทะเลไทย ในคลื่นยักษ์ของนักท่องเที่ยว

ทะเลไทย ในคลื่นยักษ์ของนักท่องเที่ยว

หากไม่นับ พะยูนน้อย “มาเรียม” ขวัญใจล่าสุดของ ทะเลไทย แล้ว  “เจ้าหลังลาย” แห่งเกาะลิบง ก็เป็นหนึ่งในพะยูนดาราที่คัมภีร์ ผาติเสนะ ช่างภาพ พบเห็นเสมอยามเขาออกเรือไปถ่ายภาพช่วงสายถึงเที่ยง  มันอยู่มานานและเชื่องคน  ชื่อหลังลายมาจากรอยแผลเป็นบนหลังที่อาจเกิดจากขูดกับหินเอง ถ้าไม่ใช่เพราะใบพัดเรือ

เมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน อาจพูดได้ว่าพะยูนอย่างเจ้าหลังลายได้รับการคุ้มครองดูแลจากชาวบ้านลิบง เกาะมุกด์ และที่อื่นๆ ในจังหวัดตรังเป็นอย่างดี  “การอนุรักษ์พะยูนในพื้นที่ทำกันมาเป็นสิบปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งทำ” ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน เล่าและเสริมว่า “ชาวบ้าน โดยเฉพาะที่ลิบงซึ่งเป็นถิ่นที่มีพะยูนฝูงใหญ่  ร่วมกันหากระบวนการดูแลมานานแล้วครับ อัตราการตายของพะยูนลดลงตั้งแต่ปี 2553-2554  ตอนนั้นมีพะยูนอยู่ 134 ตัว”  ในช่วงนั้นการตายของพะยูนมาจากการใช้อวนลากอวนรุนของประมงพาณิชย์  ซึ่งทั้งทำให้พะยูนติดอวน ทั้งทำลายแหล่งหญ้าทะเล  จำนวนพะยูนจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง

แต่หลังจากที่ชาวบ้านประชุมหารือตกลงร่วมกันยกเลิกใช้เครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพะยูน ช่วยกันดูแลแหล่งหญ้าทะเล “จนหญ้าทะเลมีมากขึ้น พะยูนก็เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย สถานการณ์ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา อัตราการพบซากพะยูนลดลง และพบคู่แม่ลูกว่ายน้ำอยู่ด้วยกันนับสิบคู่ และยังพบเต่าทะเลเพิ่มขึ้นด้วย” ภาคภูมิเล่า ปัจจุบันมีการสำรวจพบพะยูน 180-200 ตัวในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากมีแหล่งอาหารหรือหญ้าทะเลอยู่มากที่สุด

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลตัวอ้วนอุ้ยอ้ายที่ผู้คนสนใจจนอยากจะเห็นตัวจริงใกล้ๆ  การท่องเที่ยวดูพะยูนจึงค่อยๆ เกิดขึ้นที่ลิบงราวทศวรรษก่อน โดยมีชาวท้องถิ่นผู้รู้จักพะยูนเป็นผู้นำทางไปในช่วงแรก  ต่อมาการท่องเที่ยวพะยูนค่อยๆ ขยายออกไปเป็นบริการของรีสอร์ตที่พัก รวมทั้งผู้ประกอบการต่างถิ่น  ความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามพะยูนโดยไม่ตั้งใจจากเรือนักท่องเที่ยวทำให้ผู้แทนชุมชน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ประกอบการ มูลนิธิอันดามัน รวมทั้งนักวิชาการ ช่วยกันกำหนดกติกาชมพะยูนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

มาตรการสำคัญคือ ให้นักท่องเที่ยวขึ้นชมพะยูนจากภูเขาบาตูปูเต๊ะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเส้นทางขึ้นจุดชมพะยูน  ระหว่างนี้งดไม่ให้เรือติดเครื่องยนต์ติดตามพะยูน แต่ให้ชมจากจุดจอดเรือและผูกทุ่นลอยเรือแทน ห้ามดำน้ำตามพะยูนหรือใช้กล้องดำน้ำติดตาม  เรือนำเที่ยวต้องขึ้นทะเบียนและทำตามกฎระเบียบ  เป็นต้น

“เจ้าหลังลาย” พะยูนดาราประจำถิ่นเกาะลิบง กำลังไล่เล็มกินหญ้าทะเล  ในวันที่น้ำลงต่ำพะยูนจะเข้ามาหากินใกล้ชายฝั่ง ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือชมได้อย่างใกล้ชิด (ภาพถ่าย: คัมภีร์ ผาติเสนะ)
นักท่องเที่ยวเฝ้ารอคอยอย่างจดจ่ออยู่ในเรือบริเวณอ่าวเขาบาตูปูเต๊ะ เกาะลิบง ด้วยความหวังที่จะได้ชมพะยูนอย่างใกล้ชิด (ภาพถ่าย: คัมภีร์ ผาติเสนะ)

ต่างจากสัตว์ป่าที่ถูกกักขังในสวนสัตว์ สวนน้ำ หรือถูกเร่แสดงโชว์  พะยูนและสัตว์หายากอื่นๆ ใช้ชีวิตอย่างเสรีในถิ่นที่ของมัน  นักท่องเที่ยวจำเป็นต้องเดินทางไปหาเพื่อจะได้มีประสบการณ์เห็นด้วยตา ได้เข้าใกล้และถ่ายภาพ ตลอดจนถ่ายภาพตัวเองกับสัตว์เพื่อลงในโซเชียลมีเดีย  การกำหนดกติกาเช่นนี้จึงเป็นการคุ้มครองดูแลสัตว์ทะเลในถิ่นธรรมชาติจากการเดินทางมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งนับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการผลักดันให้สัตว์ทะเลหายากอีกสี่ชนิด ได้แก่ วาฬบรูดา วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ให้เป็นสัตว์ป่าสงวน (เพิ่มจากเดิมที่มีพะยูนเพียงชนิดพันธุ์เดียวที่เป็นสัตว์ทะเล และล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ “พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ.2562” โดยรวมทั้งสี่ชนนิดในรายชื่อสัตว์ป่าสงวนของไทยแล้ว) นับเป็นการให้ความคุ้มครองสัตว์หายาก ทางกฎหมายที่มีบทบัญญัติสูงสุด  แต่ความจำเป็นในการวางมาตรการทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญในการพิทักษ์สัตว์ทะเล โดยเฉพาะในกรณีของการชมวาฬซึ่งได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีการกำหนดกรอบร่วมกันอย่างชัดเจน เช่น กรณีพะยูนที่ลิบงหรือโลมาที่ขนอม

สำหรับ ดร. ธรณ์ การปกปักรักษาถิ่นอาศัยของสัตว์และแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลวัยอ่อน (nursery ground) เป็นสิ่งสำคัญมาก  ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการปิดอ่าวมาหยาไม่ให้เรือเข้าเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ฉลามหูดำกลับมาในบริเวณนั้นกว่า 60 ตัว ปะการังฟื้นตัวและปลาการ์ตูนเริ่มกลับมา “สิ่งสำคัญสุดคือตัวถิ่นอาศัยของสัตว์ (habitat)  เราต้องแยกเป็นสองอย่างคือ อนุรักษ์สัตว์กับอนุรักษ์พื้นที่  เมื่อคนเห็นฉลามหูดำที่อ่าวมาหยา ก็เริ่มเข้าใจว่าการอนุรักษ์สัตว์หมายถึงการอนุรักษ์พื้นที่ด้วย จะเอ็นดูอนุรักษ์แต่ตัวมันอย่างเดียวไม่ได้”   ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชยืดการปิดอ่าวมาหยาออกไปอีกสองปีเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ สร้างระบบจัดการการท่องเที่ยว และจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว

ยิ่งไปกว่านั้น การปิดอ่าวมาหยาได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีในระดับนานาชาติ รวมทั้งสื่อหลักของโลก  เมื่อการปิดอ่าวเห็นผลเป็นรูปธรรมให้คนทั่วโลกเห็นอย่างชัดเจนผ่านทางโซเชียลมีเดีย

“โซเชียลมีเดียมีข้อเสียตอนแรก แต่ตอนหลังกลายเป็นข้อดี” ดร.ธรณ์ พูดถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ก่อนหน้านี้ที่นักท่องเที่ยวมักนิยมถ่ายภาพกับสัตว์ทะเลเพื่อโพสต์อวดบนเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมที่ “เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ช่วงพีคๆ มีคนส่งภาพแบบนี้มาให้วันละสองสามภาพจากที่โน่นที่นี่” แต่หลังจากที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในทางที่ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ภาพในลักษณะดังกล่าวก็ลดลงไป

“เราพยายามสื่อว่าคุณจะจับสัตว์มาถ่ายรูปทำไม ในเมื่ออย่างแรกสัตว์ได้รับอันตราย อย่างที่สองคือคุณได้รับอันตราย เพราะจะถูกด่า ถูกจับ ถูกสั่งฟ้อง ต้องขึ้นศาล เสียทั้งเงินทั้งเวลา โดยที่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ถ้าเซลฟี เราก็อยากให้คนมาคลิกไลค์ใช่ไหม ไม่ได้อยากได้เฮต (hate)” ดร. ธรณ์ เจ้าของเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ซึ่งมีผู้ติดตาม 1.3 แสนคน กล่าว  อินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าใจถึงท่าทีที่ควรมีต่อสัตว์ในอาศัยถิ่นของมัน (แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของมนุษย์) ผู้นี้เชื่อว่า “กระแสสังคมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้”

นักดำน้ำห้อมล้อมฉลามวาฬในน่านน้ำบริเวณกองหินเกาะตาชัย จังหวัดพังงา ภาพถ่ายลักษณะนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงเรื่องความเหมาะสม (ภาพถ่าย: นัท สุมนเตมีย์)

ดร. ธรณ์ ยังเห็นว่า การเฝ้าดูลูกเต่ามะเฟืองฟักออกจากไข่ที่เกาะตาชัยเมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้น เป็นการท่องเที่ยวมิติใหม่ทางออนไลน์  เมื่อพื้นที่วางไข่ของเต่าอยู่ในเขตห้ามเข้าเนื่องจากเป็นเขตทหาร เช่น เกาะตาชัย เกาะคราม เกาะกระ  “เราใช้คำว่าท่องเที่ยวทางออนไลน์ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ด้วย ดูได้ทั้งประเทศ กลายเป็นข่าวดัง และปลูกจิตสำนึกด้วย…ผมยังไม่เคยเห็นที่ไหนที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามดูรังไข่เต่าทุกนาที ไลฟ์ตลอดหกวัน ติดต่อกันจนลูกเต่าฟักออกจากไข่ มีคนติดตามหลานแสนวิวเลย”

อย่างไรก็ตาม สำหรับทะเลไทย ผู้มาเยือนส่วนใหญ่มักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ  การทำงานร่วมกันจึงไม่ใช่ระหว่างชาวบ้าน ผู้ประกอบการ หน่วยราชการเท่านั้น แต่ไปไกลถึงหน่วยงานอย่างกงสุลและสถานทูตของประเทศผู้มาเยือน  ในระยะยาว ดร.ธรณ์ เสนอว่า การท่องเที่ยวที่เหมาะสมคือการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวด้วยการจัดการ โดยเป็นไปตามความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่ง (Carrying Capacity – CC) ซึ่งในไทยมีการใช้หลักการนี้แล้วกับหมู่เกาะสิมิลัน  ดร.ธรณ์ หวังว่าจะเกิดขึ้นกับอุทยานแห่งชาติและแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกแห่ง เนื่องจากนักท่องเที่ยวมาไทยเพิ่มขึ้นทุกปี

“ปัญหาคือเรามีซีซีในบางพื้นที่ว่า  กำหนดให้คนมาเท่าไร เช่น สิมิลันบางพื้นที่  เราต้องกำหนดให้มีทุกที่ และต้องเฉลี่ยนักท่องเที่ยวด้วย  ถึงอย่างไรประเทศไทยก็ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยว เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 25 ของประเทศ  ถ้าทำได้ก็ควรมีซีซีทั้งหมด” ประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายากกล่าว

เรื่อง  นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย นัท สุมนเตมีย์ และคัมภีร์ ผาติเสนะ

                                                                                               

อ่านเพิ่มเติม

มาเรียม : ดุหยงน้อยสู่ความหวังพะยูนไทย – บันทึกภาคสนามนักอนุรักษ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.