ลูกนกตัวนี้อยู่ในกลุ่มอีแนนทีออร์นีทีส (Enantiornithes) ซึ่งสูญพันธุ์ไปพร้อมๆกับไดโนเสาร์ในช่วงสิ้นสุดยุคครีเทเชียส เมื่อราว 65 ล้านปีก่อน การสำรวจครั้งนี้ที่ได้รับเงินสนับสนุนส่วนหนึ่งจากคณะกรรมการเพื่อการเดินทางสำรวจของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ได้ให้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับนกที่มีฟันในยุคโบราณชนิดนี้ และความแตกต่างระหว่างพวกมันกับนกในปัจจุบัน
ลูกนกตัวนี้ยังเป็นฟอสซิลสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่ค้นพบในอำพันจากพม่าด้วย ซึ่งขุดได้จากเหมืองในหุบเขา Hukawng ทางตอนเหนือของพม่า
จากรูปแบบการผลัดขนของมัน นักวิจัยระบุได้ว่า ลูกนกตัวนี้มีอายุเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ตอนที่มันถูกห่อหุ้มด้วยยางไม้เหนียวๆและแช่แข็งอยู่ในกาลเวลา ร่างของมันเกือบครึ่งหนึ่งได้รับการรักษาสภาพไว้ในตัวอย่างขนาด 7.5 เซนติเมตร รวมถึงส่วนหัว ปีก ผิวหนัง ขน และเท้าที่มีกรงเล็บซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ขนของมันมีหลายสีตั้งแต่สีขาวและน้ำตาลไปจนถึงเทาเข้ม
การค้นพบครั้งนี้รายงานโดยนักวิจัยกลุ่มเดียวกับที่ค้นพบหางของไดโนเสาร์เทอโรพอดที่มีขนซึ่งคงสภาพอยู่ในอำพันเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โครงสร้างของขนไดโนเสาร์บ่งชี้ว่ามันน่าจะบินไม่ได้ ในทางกลับกัน การค้นพบปีกของอีแนนทีออร์นีทีสในอำพันก่อนหน้านี้เผยให้เห็นโครงสร้างของขนที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งกับขนของนกที่บินได้ในปัจจุบัน
ในตัวอย่างชิ้นนี้ นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่า ขณะที่ลูกนกอีแนนทีออร์นีทีสมีขนสำหรับบินขึ้นเต็มที่บนปีกแล้ว ขนส่วนที่เหลือกลับหร็อมแหร็ม และเหมือนกับขนของไดโนเสาร์เทอโรพอดซึ่งไม่มีก้านขน (rachis) มากกว่า
การที่นกวัยเยาว์เช่นนี้มีขนสำหรับบินช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า นกอีแนนทีออร์นีทีสฟักออกจากไข่พร้อมกับความสามารถในการบิน ซึ่งทำให้มันพึ่งพาการดูแลจากพ่อแม่น้อยกว่านกในปัจจุบันส่วนใหญ่
กระนั้น การไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย นักวิจัยชี้ว่า อัตราการเติบโตที่ช้าทำให้นกโบราณเหล่านี้สุ่มเสี่ยงมากขึ้นเป็นเวลานานขึ้น ตามหลักฐานที่พบนกอีแนนทีออร์นีทีสวัยเยาว์จำนวนมากในอำพัน
เรื่อง คริสติน โรมีย์
อ่านเพิ่มเติม : กลายร่างเป็นหิน, เผยโฉมฟอสซิลไดโนเสาร์สภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ