วูลเวอรีน : ชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด

วูลเวอรีน : ชีวิตที่ต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอด

คืนหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน นักชีววิทยา อัลเบิร์ต แมนวิลล์ ขับรถไปยังที่ทิ้งขยะใกล้ทะเลสาบลูอิส ในอุทยานแห่งชาติแบนฟ์ รัฐแอลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ย้อนกลับไปตอนนั้น ที่ทิ้งขยะแห่งนี้ไม่ได้ล้อมรั้ว หมีกริซลีมักมาคุ้ยหาเศษอาหาร ขณะแมนวิลล์เฝ้ามองหมีกินเศษเนื้อชิ้นใหญ่ เขาสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวตรงขอบลำแสงไฟหน้ารถ วูลเวอรีน นั่นเอง มันจ้องหมีและชิ้นเนื้ออย่างไม่วางตา มันจะทำอะไรอย่างอื่นได้อีกหรือ มันหนักราว 14 กิโลกรัม ส่วนหมีกริซลีหนักกว่า 100 กิโลกรัม

“แล้วจู่ๆ วูลเวอรีน ตัวนั้นก็วิ่งตรงเข้าไปกัดก้นหมีครับ” แมนวิลล์เล่า “หมีกริซลีหมุนตัวกลับมาตะปบด้วยอุ้งเท้า แต่วูลเวอรีนหลบฉากไปด้านหนึ่งก่อนแล้ว มันฉวยเนื้อชิ้นนั้นแล้ววิ่งหายไปในความมืด”

วูลเวอรีนดูท่าจะไม่ใช่สัตว์ที่มีเหตุผล เพราะมันทำตัวแกร่งและห้าวเกินตัว แต่ด้วยความยาวที่วัดจากจมูกซึ่งไวต่อกลิ่นถึงหางที่เป็นพวงไม่ถึงหนึ่งเมตร วูลเวอรีนขนาดปานกลางจะครองอาณาเขตตั้งแต่ 250 ถึงกว่า 1,300 ตารางกิโลเมตร จากนั้นตระเวนไปในพื้นที่อย่างรวดเร็วไม่หยุดหย่อน ทั้งดมกลิ่นและปกป้องบ้านของมันจากคู่แข่ง

ช่วงเวลาห้าปีที่ผมเป็นอาสาสมัครในโครงการศึกษาที่อุทยานแห่งชาติเกลเชียร์ รัฐมอนแทนา ผมติดตามวูลเวอรีนเพศผู้ที่ติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุขณะมันปีนขึ้นทางลาดน้ำแข็งสูง 450 เมตรบนไหล่เขาที่สูงชัน

เพศผู้อีกตัวหนึ่งปีนยอดเขาสูงสุดของอุทยาน คือเมานต์คลีฟแลนด์ซึ่งสูง 3,190 เมตร ในเดือนมกราคม อันเป็นช่วงที่ยอดเขานี้เป็นเหมือนประติมากรรมน้ำแข็งสูงตระหง่าน มันใช้เวลา 90 นาทีในการปีนช่วง 1,500 เมตรสุดท้าย ในช่วง 10 วันต่อมามันปีนยอดเขาอื่นๆทางทิศตะวันตก บ่ายหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือเข้าไปในรัฐบริติชโคลัมเบีย รีบรุดไปทางตะวันออก ข้ามสันปันน้ำทวีป ผ่านอุทยานแห่งชาติวอเตอร์ตันเลกส์ในรัฐแอลเบอร์ตา แล้วย้อนลงมาทางใต้ ข้ามมวลเขาสูงอีกหลายแห่งเพื่อกลับมายังอุทยานแห่งชาติเกลเชียร์ ทั้งหมดนี้ก็แค่เรื่องขี้ผง ภายในหนึ่งถึงสองวัน มันก็ออกเดินทางเช่นนี้อีกครั้ง

การวางกับดักและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ทำให้ถิ่นกระจายพันธุ์ในอดีตของวูลเวอรีนลดลง ความที่ต้องอาศัยอยู่ในอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล วูลเวอรีนจึงหายาก แม้แต่ในป่าทางตอนเหนืออันห่างไกลและภูมิภาคทุนดรา อันเป็นถิ่นอาศัยหลัก

เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่วูลเวอรีนไม่เพียงถูกนิยามว่าตะกละตะกลาม เหม็นอย่างร้ายกาจ เจ้าเล่ห์อย่างน่ากลัว  และชอบหลบซ่อน แต่ยังขี้โมโห ชอบทำลายไม่เลือกหน้า และเป็นอันตรายต่อผู้คนในท้องถิ่นห่างไกล แต่ลักษณะที่ว่าเหล่านี้  ไม่มีข้อใดตรงกับมันสักนิด

Gulo gulo (ชื่อวิทยาศาสตร์ของวูลเวอรีน) เป็นสัตว์พื้นถิ่นในแถบอาร์กติก ซับอาร์กติก และภูมิภาคที่เป็นภูเขาในซีกโลกเหนือ สัตว์ชนิดนี้เป็นสมาชิกในวงศ์เพียงพอนซึ่งเป็นวงศ์ใหญ่และหลากหลาย วูลเวอรีนเพียงตัวเดียวสามารถล้มเหยื่อขนาดใหญ่เท่ากวางแคริบูตัวเต็มวัยได้ และมีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า บางครั้งวูลเวอรีน ขับไล่หมาป่าและแม้แต่หมีขนาดใหญ่ไปจากซากสัตว์

ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า สิ่งสุดท้ายที่วูลเวอรีนเป็นได้ คือการมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ แต่นักวางกับดักสัตว์ พราน และเจ้าของปศุสัตว์ ขจัดสัตว์ชนิดนี้ไปจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเรเซีย ในโลกใหม่ โครงการกำจัดสัตว์นักล่าที่รัฐบาลสนับสนุนสร้างผลกระทบไว้มาก พอถึงทศวรรษ 1930 สัตว์ชนิดนี้ก็หายไปจากรัฐบนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯทั้ง 48 รัฐ

กระนั้น วูลเวอรีนก็เป็นผู้รอดชีวิตที่ยืนหยัดอยู่ได้ และยังคงยึดที่มั่นอยู่ในอะแลสกาและบริเวณต่างๆทางตะวันตกของแคนาดา เนื่องจากการวางยาเบื่อสัตว์นักล่าค่อยๆหมดไปในทศวรรษ 1960 วูลเวอรีนจากเทือกเขาร็อกกีในแคนาดาจึงเริ่มเข้าครอบครองพื้นที่สูงในมอนแทนาอีกครั้ง และกระจายไปยังบริเวณต่างๆในไอดาโฮและตอนเหนือของไวโอมิง

จากนั้นในช่วงทศวรรษ 1990 วูลเวอรีนจากแคนาดาเริ่มย้ายเข้าไปในตอนเหนือของทิวเขาแคสเคดในรัฐวอชิงตัน การประเมินเมื่อไม่นานมานี้คาดว่า วูลเวอรีนทางตอนใต้ของแคนาดามีจำนวนประมาณ 300 ตัว

ราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ เพศเมียจะขุดโพรงลึกลงไปในทุ่งหิมะเพื่อสร้างรัง ที่ซึ่งพวกมันจะตกลูกหนึ่งถึงสามตัว อุณหภูมิที่สูงขึ้นและหิมะที่ตกน้อยลงในช่วงฤดูใบไม้ผลิอาจทำให้ถิ่นอาศัยของพวกมันหดหายไปมากขึ้น
วูลเวอรีนทางตอนเหนือของรัฐมอนแทนาตัวนี้เป็นหนึ่งในราว 300 ตัวที่ยังมีชีวิตอยู่ในรัฐที่อยู่ติดกันบนแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามที่จะแยกประชากรซึ่งมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ออกจากกัน

ขณะเดียวกัน ประชากรทางสองฝั่งของชายแดนสหรัฐฯ-แคนาดาต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลากหลาย ภัยส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือ สภาพภูมิอากาศที่อบอุ่นขึ้น Gulo gulo ปรับตัวมาเป็นพิเศษให้เข้ากับถิ่นอาศัยที่มีสภาวะหนาวเย็นตลอดปีและทุ่งหิมะคงสภาพอยู่นาน ถ้าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไปดังที่คาดการณ์ไว้ วูลเวอรีนอาจสูญเสียถิ่นกระจายพันธุ์ในปัจจุบันทางใต้ของแคนาดาไปหนึ่งในสามเมื่อถึงปี 2050 และสองในสามก่อนสิ้นสุดศตวรรษนี้

อุทยานแห่งชาติเกลเชียร์เป็นถิ่นอาศัยของประชากรวูลเวอรีนที่หนาแน่นที่สุดในรัฐที่อยู่ติดกันบนแผ่นดินใหญ่ ของสหรัฐฯ แต่เนื่องจากวูลเวอรีนแต่ละตัวจะปกป้องอาณาเขตขนาดมหึมาอย่างหวงแหน จำนวนรวม 30 ถึง 40 ตัวคือจำนวนเกือบทั้งหมดที่จะอยู่ได้ในเขตอุทยานขนาด 4,000 ตารางกิโลเมตร ความเป็นจริงคือ ไม่มีเขตอนุรักษ์ใดมีประชากรวูลเวอรีน   มากพอจะค้ำจุนตัวเองได้อย่างแท้จริง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ระหว่างสายเลือดเดียวกันในระยะยาว ทุกกลุ่มจำเป็นต้องเชื่อมถึงกันภายในภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ด้วยประสาทสัมผัสทุกอย่างที่กำลังตื่นตัว วูลเวอรีนตัวหนึ่งในหุบเขาสวอน รัฐมอนแทนา ทำให้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ทำงานขณะกินซากกวาง สัตว์นักล่าลึกลับเหล่านี้เกิดมาเพื่อมีชีวิตรอดในภูมิทัศน์ทางตอนเหนือที่หนาวจัด  พวกมันจะปรับตัวให้เข้ากับโลกที่อบอุ่นขึ้นได้ไหม
วูลเวอรีนไม่จู้จี้เรื่องกินเท่าเรื่องถิ่นอาศัย สัตว์ฟันแทะ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ล้วนเป็นเหยื่ออันโปรดปราน แต่ในช่วงฤดูหนาว พวกมันอาศัยซากสัตว์ เช่น ขากวางที่หาได้ในภาพนี้

นักชีววิทยาเคยบอกว่า แผนการที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์สัตว์ป่าคือการกันพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ ปัจจุบัน พวกเขาบอกว่า เราต้องปกป้องฉนวนตามธรรมชาติซึ่งเชื่อมต่อพื้นที่ที่ได้รับความคุ้มครองต่างๆด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าชนิดพันธุ์อย่างวูลเวอรีนสามารถเดินทางข้ามภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ แลกเปลี่ยนยีนกัน และปรับตัวเข้ากับสภาวะที่เปลี่ยนแปลงได้

เรื่อง ดักลาส เอช. แชดวิก

ภาพถ่าย สตีเวน แนม

*** อ่านสารคดีฉบับเต็มได้ในนิตยสาร เ่นชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 25621


สารคดีแนะนำ

ฟลายฟิชชิ่ง : เมื่อช่างภาพพบความสุขสงบจากสายน้ำ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.