‘เขาดินสอ’ จุดดูเหยี่ยวระดับโลก
ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปีจะมีเหยี่ยวอพยพนับแสนๆ ตัว หนีหนาวจากพื้นที่ผสมพันธุ์ (breeding grounds) ของประเทศรัสเซียและจีนมาอาศัยในเขตร้อนทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้เส้นทางอพยพ 2 เส้นทางด้วยกัน คือ
1. เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านมหาสมุทร (The East Asian Oceanic Flyway) เริ่มจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของเขตไซบีเรีย ลงมาตามแนวฝั่งตะวันออกของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ จนถึงประเทศอินโดนีเซีย และ
2. เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ (East Asian Continental Flyway) โดยจะเริ่มจากเขตไซบีเรีย และจีน ลงมาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย และหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ซึ่งเหยี่ยวจำนวนมากจะเลือกอพยพเส้นทางที่สอง เพราะเป็นเส้นทางข้ามแผ่นดิน มีจุดให้แวะพักและหาอาหาร ซึ่งปลอดภัยกว่าการบินข้ามทะเลที่ต้องบินต่อเนื่องไม่มีจุดหยุดพัก หากเหนื่อยหมดแรงนั่นหมายถึงเหยี่ยวต้องจมน้ำตาย
เขาดินสอ ตำบลบางสน อำเภอประทิว จังหวัดชุมพร คือหนึ่งในแหล่งดูเหยี่ยวและนกอพยพดีที่สุด 1 ใน 5 ของโลก เป็นจุดที่เหยี่ยวอพยพนับแสนตัวบินผ่านทุกปี ผู้ชมสามารถมองเหยี่ยวในระยะใกล้ที่สุด รวมทั้งเป็นจุดที่พบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำได้มากที่สุดในโลก ทั้งนี้เพราะเขาดินสอตั้งอยู่ในเส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ และอยู่ใกล้กับคอคอดกระซึ่งเป็นบริเวณที่แคบที่สุดของแผ่นดินในคาบสมุทรมลายู มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 350 เมตร อยู่ใกล้ชายฝั่งอ่าวไทย มีเขามะโรงและเขานมสาวตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งช่วยให้นกใช้ลมร้อนยกตัวสูงก่อนบินผ่านมา เขาดินสอจึงเป็นจุดที่เหมาะสมต่อการศึกษาและเก็บข้อมูลนกอพยพอย่างมาก
นายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลการนับจำนวนและจำแนกชนิด พร้อมทั้งติดห่วงขาเหยี่ยวและนกอินทรีที่อพยพผ่านเขาดินสอในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 มีรายงานการพบเหยี่ยวและนกอินทรีอย่างน้อย 38 ชนิด โดยชนิดที่พบมากที่สุด คือ เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ซึ่งบางปีมีรายงานการพบทั้ง 2 ชนิดรวมกันมากกว่า 5 แสนตัว
“นอกจากนี้ข้อมูลการศึกษายังทำให้รู้ว่าเหยี่ยวชนิดไหนจะอพยพช่วงไหนและมีจำนวนเท่าไร โดยตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมจะเริ่มพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นอพยพ และตามด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวผึ้ง ซึ่งจะมีจำนวนหนาแน่นมากขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน ถึงสัปดาห์แรกของต้นเดือนตุลาคม นอกจากนี้ยังพบเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำอพยพผ่านบริเวณนี้จำนวนหลายหมื่นตัวต่อวันในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม (ช่วงวันปิยะมหาราช) และสามารถเห็นได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้บริเวณพื้นที่เขาดินสอยังพบกลุ่มเหยี่ยวนกเขามากที่สุดในโลกจำนวน 6 ชนิดด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถพบเหยี่ยวได้ในระยะใกล้ชิดไม่เกิน 10-15 เมตร”
ติดตามเหยี่ยวนกเขาด้วย ‘เครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม’
แม้จะมีการนับจำนวนและจำแนกชนิดนกล่าเหยื่อที่อพยพผ่านเขาดินสออย่างต่อเนื่อง จนสามารถจำแนกชนิดและรู้ถึงช่วงเวลาการอพยพของเหยี่ยวแต่ละชนิด แต่การศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยวทางเอเชียตะวันออกยังมีข้อมูลและการศึกษาน้อยมาก
ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ จึงร่วมกันศึกษาเส้นทางของเหยี่ยวและนกอพยพ โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อศึกษาข้อมูลเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักที่สำคัญของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด คือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (ชื่อภาษาอังกฤษ Chinese Sparrowhawk ชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter soloensis) และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (ชื่อภาษอังกฤษ Japanese Sparrowhawk ชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter gularis) ที่มีการอพยพผ่านประเทศไทยบริเวณเขาดินสอ จำนวนนับแสนตัวทุกปี
นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ (Mr. Andrew J. Pierce) ผู้เชี่ยวชาญ สังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ทีมวิจัยได้จับเหยี่ยวนกเขาที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ ระหว่างเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม (ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหยี่ยวอพยพผ่านเขาดินสอมากที่สุดของปี) ในปี 2559 และ 2560 โดยการใช้ตาข่ายแบบพรางตาเพื่อทำการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 4% ของน้ำหนัก ตัวของเหยี่ยว โดยติดที่ตัวเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น 4 ตัว ในลักษณะสะพายหลัง ซึ่งทุกขั้นตอนดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับเหยี่ยว ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีความแม่นยำในระยะ 0.5-1.5 กิโลเมตรและสามารถติดตามเส้นทางการอพยพและตำแหน่งของเหยี่ยวได้
โดยการดาวน์โหลดหรือตรวจสอบข้อมูลออนไลน์ได้จากเว็บไซต์ http://www.argos-system.org หรือผ่านแอปพลิเคชัน CLS view บนสมาร์ทโฟน
จากการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมให้กับเหยี่ยวนกเขาทั้ง 8 ตัวทำให้ทราบว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน จะอพยพลงใต้ไปยังบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะ Nusa Tenggara และ ประเทศติมอร์-เลสเต ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) โดยจะใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 70-80 วัน และเมื่อถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม เหยี่ยวจะอพยพกลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน
หากแต่ว่าข้อมูลจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน 4 ตัวที่ทีมวิจัยติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณฯ มีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่สามารถจับสัญญาณการอพยพผ่านเขาดินสอได้อีกครั้งในปี 2561 ทำให้รู้เส้นทางการอพยพที่สมบูรณ์ของเหยี่ยวชนิดนี้ ซึ่งใช้ระยะทางในการอพยพทั้งสิ้น 14,532 กิโลเมตร (ซึ่งมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก) และ 9,710 กิโลเมตร
ในส่วนของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้น ทีมวิจัยสามารถติดตามสัญญาณไปถึงพื้นที่ของเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวและใช้เวลาบริเวณนี้ประมาณ 130-170 วัน ก่อนที่จะอพยพกลับขึ้นทางเหนือ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ทีมวิจัยสามารถรับสัญญาณจากเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นได้เพียง 1 ตัวในช่วงอพยพกลับเท่านั้น โดยเหยี่ยวตัวนี้เดินทางออกจากพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวบนเกาะ Bangka ประเทศอินโดนีเซีย ไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ (Amur) ทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย ก่อนที่สัญญาณจะขาดหายไป ทำให้สรุปรวมระยะทางอพยพได้ทั้งสิ้น 7,699 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้นประมาณ 50 วัน
นอกจากนั้นแล้วทำให้ทราบอีกว่าพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นพื้นที่ที่มีมนุษย์เข้ามาใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่ทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพาราและพืชสกุลอะเคเซีย (Acacia)
เร่งอนุรักษ์ และสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เหยี่ยวจัดเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารจึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่เหยี่ยวหลายชนิดกำลังถูกคุกคามเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อาศัย ดังนั้นการศึกษาลักษณะพื้นที่อาศัยในช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูหนาวรวมถึงเส้นทางการอพยพและจุดแวะพักระหว่างทางจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยฝ่ายบริการวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการทำวิจัยเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการติดตามเส้นทางเหยี่ยวอพยพ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยวนกเขาทั้ง 2 ชนิด นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยองค์ความรู้ที่ได้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดการและการอนุรักษ์อย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของถิ่นที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทางอพยพจากรัสเซีย ผ่านไทย ลงไปถึงอินโดนีเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทำให้ผู้คนตระหนักและสนใจถึงความสำคัญของเหยี่ยวรวมถึงภัยคุกคามที่เกิดกับเหยี่ยวมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการคาดหวังว่าความรู้จากผลงานวิจัยจะใช้ควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ที่จะช่วยนำร่องให้พื้นที่เขาดินสอเป็นจุดศึกษาวิจัยและจุดชมเหยี่ยวสำคัญของประเทศไทยและระดับโลก เป็นฟันเฟืองหนึ่งในขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจชื่นชมฝูงเหยี่ยวอพยพ สามารถติดตามได้ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ของทุกปี ณ เขาดินสอ จังหวัดชุมพร
สนับสนุนเนื้อหาโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ภาพ Desmond Allen