ประชากร “ควอกก้า” กลับมาเพิ่มจำนวนอีกครั้ง

ควอกก้า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทมีถุงหน้าท้อง ขนาดเท่าตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ เป็นสัตว์ที่พบได้ที่บริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปออสเตรเลียเท่านั้น ขณะนี้พวกมันกำลังดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตรอดจากบรรดาสัตว์นักล่า และการรุกรานที่อยู่อาศัย นั่นคือชะตากรรมของควอกก้าบนแผ่นดินใหญ่ แต่สำหรับควอกก้าบนเกาะร็อตเนสต์ นอกชายฝั่งเพิร์ท ประชากรของพวกมันกำลังเพิ่มขึ้น

ความช่วยเหลือครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 โดยสมาร์ทโฟน เมื่อชายคนหนึ่งเดินทางมายังเกาะแห่งนี้ และถ่ายภาพเซลฟี่กับเจ้าควอกก้า ด้วยรูปปากที่ดูเหมือนกับว่ายิ้มอยู่ตลอดเวลา ภาพควอกก้าดังกล่าวกลายเป็นไวรัลทันที

จากนั้นผู้คนจำนวนมากก็พากันเดินทางมายังเกาะแห่งนี้ เพื่อถ่ายภาพกับควอกก้า เรียกได้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยวเริ่มก่อสร้างเพิ่มขึ้น และเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่ม จำนวนของควอกก้าก็เพิ่มตาม

ควอกก้าโพสต์ท่าถ่ายภาพ ที่สวนสัตว์ Taronga

ย้อนกลับไปในปี 1658 เกาะควอกก้าแห่งนี้ เพิ่งจะถูกค้นพบเป็นครั้งแรกโดยชาวดัตช์ ที่เข้าใจผิดว่าควอกก้าเหล่านี้คือหนูตัวใหญ่ (คำว่า ร๊อตเนสต์ หรือ Rottnest เป็นภาษาดัตช์แปลว่ารังหนู)

“ควอกก้าเป็นสัตว์หากินกลางคืน แต่พฤติกรรมของพวกมันเปลี่ยนเพราะนักท่องเที่ยว ทุกวันนี้ควอกก้าตื่นตัวตลอดวัน และคอยป้วนเปี้ยนอยู่รอบๆตัวนักท่องเที่ยวเพื่อขออาหาร” เวโรนิกา ฟิลิป นักชีววิทยาสัตว์ป่ากล่าว

ในปี 2016 รายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Hystrix ของอิตาลี พบว่าบรรดาควอกก้าบนเกาะที่มีการพัฒนาการท่องเที่ยวมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับควอกก้าในพื้นที่อื่นเช่นในป่า และลูกควอกก้าเองก็มีแนวโน้มที่จะเอาชีวิตรอดได้มากกว่า ในพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว

บุฟเฟ่อาหารกลางวัน และเศษขนมปังจำนวนมากจากนักท่องเที่ยวช่วยให้ควอกก้าเหล่านี้มีชีวิตรอดจากฤดูร้อนอันแห้งแล้งได้ ฟิลิปกล่าว

ควอกก้า 2 ตัวพักผ่อนบนเกาะร็อตเนสต์

 

การเพิ่มความสมดุล

โชคร้ายที่การพัฒนาพื้นที่บนออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ ไม่เอื้อประโยชน์ต่อควอกก้า การขยายตัวของเมือง และการขยายตัวทางเศรษฐกิจไล่ต้อนสัตว์ป่าเหล่านี้ให้มีพื้นที่อยู่อาศัยน้อยลง

หลายสปีชีส์สูญเสียประชากรไปถึง 50% จากที่อยู่อาศัยของพวกมัน ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาบนออสเตรเลียแผ่นดินใหญ่ ข้อมูลจากการศึกษาในปี 2014 โดย จอห์น วอนาสกี จากองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมในเครือจักรภพของออสเตรเลียหรือ CSIRO

“ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ตระหนักว่ามีควอกก้าอยู่บนแผ่นดินใหญ่ และควอกก้าเหล่านี้กำลังมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก” คาสยันนา เกรย์ เจ้าหน้าที่อนุรักษ์บนเกาะร็อตเนสต์กล่าว แม้ว่าประชากรควอกก้าจะเพิ่มมากขึ้น แต่ทางสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติกำลังเตรียมพิจารณาความเสี่ยงของสัตว์ประเภทนี้ที่จะสูญพันธุ์

ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร และความปลอดภัย ควอกก้าบนเกาะร็อตเนสต์ยังมีข้อได้เปรียบควอกก้าบนแผ่นดินใหญ่มากกว่านั้น เพราะบนแผ่นดินใหญ่บรรดาควอกก้าอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจาย และถูกคุกคามโดยนักล่าอย่างสุนัขจิ้งจอกแดง หรือแมวจรจัด

ส่วนบนเกาะร็อตเนสต์ แมวจรจัดตัวสุดท้าย ผู้ล่าหนึ่งเดียวของเกาะถูกกำจัดไปในช่วงปี 2000 อย่างไรก็ตามแม้เกาะควอกก้าดูจะเป็นแดนสวรรค์ แต่บนเกาะเองก็มีปัญหาเช่นกัน

ที่สวนสัตว์ Taronga นักท่องเที่ยวช่วยควอกก้าเพ้นท์สีลงบนผืนผ้าใบ

ที่เกาะร็อตเนสต์ ควอกก้าประมาณ 13 – 20% อาศัยอยู่รอบๆสนามกอล์ฟหลายแห่ง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของปีนั้นๆ ซึ่งบรรดาผู้จัดการสนามกอล์ฟเหล่านี้ไม่ค่อยชอบใจเท่าไหร่นักที่จะต้องคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากควอกก้า และไม่ใช่เฉพาะแค่ควอกก้า แต่ตามหลักการแล้วหากสิ่งมีชีวิตชนิดในชนิดหนึ่งจับกลุ่มอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันมากๆ สุดท้ายพวกมันจะยุติการหาอาหาร และโรคระบาดก็จะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเกาะ นั่นหมายถึงจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย และเพิ่มความเสี่ยงที่ควอกก้าจะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และสิ่งมีชีวิตตัวน้อยเหล่านี้ยังอาจเผชิญอันตรายจากนักท่องเที่ยวเองที่พยายามป้อนอาหารมันเก็บมันไปเลี้ยง ตลอดจนโยนมันลงทะเล

ทางเกาะร็อตเนสต์เองทำงานร่วมกับฟิลิป และนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ รวมถึงบริษัททัวร์ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนวิธีการปฏิบัติในการอนุรักษ์ควอกก้า นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราตลอด หากเกิดปัญหาขึ้น ตลอดจนมีการแนะนำให้ใช้ไม้เซลฟี่ในการถ่ายภาพควอกก้า เพื่อสร้างระยะห่างที่เหมาะสมระหว่างคนกับสัตว์

“เรากำลังมองหาความสมดุลในการปกป้องพวกมันอยู่ค่ะ” เกรย์ กล่าว

ควอกก้านั่งกินลมชมวิวใกล้อ่าวแคทเธอรีน บนเกาะร็อตเนสต์

ในระยะยาว มีอีกหนึ่งภัยคุกคามที่เจ้าหน้าที่สัตว์ป่าไม่สามารถควบคุมได้ ตามธรรมชาติแล้วควอกก้าเป็นสัตว์กินพืชพวกมันต้องการต้นไม้เขียวชอุ่มสำหรับอาหารและการซ่อนตัวจากนักล่า คารีน เบรน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลียพบว่า การที่ควอกก้าเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นผลมาจากฝนที่ตกชุกมากขึ้น หากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลียลดลง จากภาวะโลกร้อน ตามที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ ป่าไม้ที่เคยเขียวชอุ่มจะกลับเหี่ยวแห้ง

ผลการศึกษาในปี 2010 ระบุว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส จากเดิมในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ควอกก้าจะสูญพันธ์ภายในปี 2070 นี้

“ฉันไม่ค่อยกังวลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวหรอกค่ะ” ฟิลิปกล่าว “ฉันกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนมากกว่า”

เรื่อง เอพริล รีส

 

อ่านเพิ่มเติม : ตำนานแห่งอะโซโลตล์ผู้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตัวสุดท้ายอาจสายเกินไป : ชมภาพถ่ายของเหล่าสรรพสัตว์ก่อนสูญพันธุ์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.