นกกระจอกเทศ : ใครว่าเรากระจอก

ลืมภาพลักษณ์เหมารวมที่มองว่า นกกระจอกเทศ เซ่อซ่าไปได้แล้ว
พวกมันเป็นผู้อยู่รอดที่เฉลียวฉลาด
ในโลกของสัตว์ผู้ล่าต่างหาก

พวกเราส่วนใหญ่เออออไปกับความคิดขำๆ แบบเดียวเกี่ยวกับ นกกระจอกเทศ ว่า พวกมันเป็นนกขนาดใหญ่ที่เอาหัวปักทรายเวลาเผชิญเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานเพราะคิดว่า ถ้ามันไม่เห็นอันตรายเสียแล้ว อันตรายที่ว่า ก็คงไม่เห็นมันด้วย

อันที่จริง นกกระจอกเทศก้มหัวลงมากินพืชหรือดูแลรังบนพื้นดินบ่อยๆ แต่ไม่ได้มุดลงไปใต้ผิวดิน คอของนกกระจอกเทศมีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่นด้วยกระดูกคอ 17 ชิ้นเมื่อเทียบกับมนุษย์ซึ่งมีแค่เจ็ดชิ้น จึงสามารถเคลื่อนที่ขึ้นๆ ลงๆ โยกไปด้านข้างหรือหน้าหลังได้อย่างคล่องแคล่ว ดวงตาขนาดใหญ่โตช่วยให้พวกมันระแวดระวังโลกรอบตัวได้สบาย

นกกระจอกเทศมีเหตุผลให้ต้องระวังตัวอยู่เสมอ ถ้าใครที่ยังไม่เคยรู้มาก่อนโดยพื้นฐานแล้วนกกระจอกเทศก็คือไก่ขนาดใหญ่กว่าปกติในถิ่นอาศัยที่มีสิงโต เสือดาว ไฮยีนา หมาป่าแอฟริกา และเสือชีตาห์ ที่หิวโหย และแม้ว่านกกระจอกเทศตัวเต็มวัยจะมีพละกำลังมากเกินกว่าจะตกเป็นเหยื่อได้ง่ายๆ เพราะลูกเตะ ของพวกมันอาจทำให้นอาอกระดูกหักและกรงเล็บขนาดใหญ่สองข้างก็สามารถฉีกท้องศัตรูได้ กระนั้น พวกมันก็หนีเก่งกว่าต่อสู้ด้วยฝีเท้าที่ทำความเร็วได้สูงสุดเกือบ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สิ่งที่ทำให้พวกมันต้องคอยระแวดระวังอีกประการคือ อันตรายที่จะมาถึงลูกนก นกกระจอกเทศสร้างรังในพื้นที่เปิดโล่งบนพื้นดินซึ่งไข่อาจถูกช้างซุ่มซ่ามเหยียบจนแหลกละเอียด ยังไม่ต้องพูดถึงสัตว์นักล่าที่หิวโหยเลย ความสำเร็จต้องอาศัยโชคช่วยซึ่งก็หาได้ยาก นกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและยังเตะตาที่สุดชนิดหนึ่งอีกด้วย ต้องซ่อนรังไม่ให้ถูกพบหรือพร้อมป้องกันรังอยู่เสมอนานกว่าสองเดือน ตั้งแต่วางไข่ฟองแรกจนถึงไข่ฟักเป็นตัว ความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติ และเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังพฤติกรรมการทำรังวางไข่ร่วมกันอันชาญฉลาด

อุทยานแห่งชาติทารางีรีทางตอนเหนือของแทนซาเนียเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการชมนกกระจอกเทศ แห่งหนึ่ง พื้นที่ 2,850 ตารางกิโลเมตรประกอบด้วยเนินเขาแห้งแล้งและที่ราบทุ่งหญ้าเลาะเลียบไปตามแม่น้ำทารางีรี ที่นี่เหล่าช้างป่ากระจายตัวเป็นฝูงใหญ่ๆอยู่ด้วยกันกับม้าลายและวิลเดอบีสต์จำนวนนับพันๆตัว นกกระจอกเทศก็พบได้ทั่วไปเช่นกัน แต่เมื่อผมร่วมทีมไปค้นหารังนกกระจอกเทศกับ ฟลอรา จอห์น มากิกี นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าแห่งมหาวิทยาลัยดาเอสซาลาม ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของนกกระจอกเทศ รังแรกที่เราพบประสบความล้มเหลว

ไข่เก้าฟองกระจัดกระจายเกลื่อนตามพุ่มไม้กินบริเวณกว้างประมาณ 25 เมตร มากิกีสำรวจพื้นที่ ราวกับนักสืบตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม เธอชี้ให้ดูรอยครูดจางๆ บนพื้นดินตรงที่เคยเป็นรัง และติดกันเป็นโพรงที่ตัวอาร์ดวาร์กเพิ่งขุดใหม่ๆ ไม่ใช่เจ้านี่หรอก เธอคิด ไข่ที่กระจัดกระจายลักษณะนี้น่าจะเป็นผลงานของสัตว์ผู้ล่าที่หิวโซมากกว่า แต่ตัวคงไม่ใหญ่นัก เพราะไข่ทุกฟองยังไม่แตก จะใช่สุนัขจิ้งจอกไหม ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด นกกระจอกเทศเพศผู้และเพศเมียจะใช้ชีวิตต่อไป ดังเช่นที่มันมักทำเมื่อรังถูกรบกวน เป็นไปได้ว่า พวกมันจะทำรังด้วยกันอีกครั้ง

หลังจากการเต้นรำเกี้ยวพาราสีอันน่าประทับใจโดยนกเพศผู้ มันก็ขึ้นขี่นกเพศเมีย นกกระจอกเทศเพศผู้ มีองคชาตและผสมน้ำเชื้อภายในตัวนกเพศเมีย แตกต่างจากนกส่วนใหญ่

แต่นกกระจอกเทศในฤดูผสมพันธุ์มีพฤติกรรมสำส่อนอย่างไม่หยุดหย่อน โดยทั้งเพศผู้และเพศเมีย ต่างเสาะหาคู่มาผสมพันธุ์ด้วยอีกหลายตัว ไม่ต้องสงสัยว่าพวกมันมีเหตุผล แต่จากมุมมองเชิงวิวัฒนาการ ความเจ้าชู้ไปทั่วนี้เป็นวิธีการให้ได้มาซึ่งดีเอ็นเอที่หลากหลายในการทำรังจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และชดเชยกับการทำรังวางไข่ส่วนใหญ่ที่ล้มเหลว

บ่ายวันหนึ่ง เราเข้าประจำตำแหน่งในทุ่งโล่งกว้างใหญ่ ไม่นานก็พบว่าที่นี่เป็นแหล่งรวมของนกกระจอกเทศ ตรงไหนสักแห่งข้างหน้าเราต้องมีนกเพศเมียนั่งกกรังอยู่สักตัว นกเพศผู้เจ้าของรังกำลังหากินห่างออกไป สองสามร้อยเมตรทางด้านซ้าย และดูไม่ใส่ใจนัก แต่เมื่อนกเพศผู้อีกตัวปรากฏตัวไกลออกไปในระยะ ไม่ต่ำกว่า 750 เมตรหรือมากกว่า มันก็เริ่มเดินเข้าไปหาเพศผู้ตัวนั้นด้วยท่าทีขึงขัง แล้วออกวิ่ง เช่นเดียวกับมนุษย์ ความสำส่อนและความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอาจดำรงอยู่ในเวลาเดียวกันได้ นกเพศผู้เจ้าของรังมีเป้าหมาย ที่จะผูกขาดการผสมพันธุ์กับคู่ของมัน และนั่นหมายถึงการขับไล่นกเพศผู้คู่แข่งออกไป

สิ่งที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่า คือวิธีที่คู่นกเจ้าของรังตอบสนองต่อนกเพศเมียที่แวะมาเยือน สัตว์ชนิดอื่นวิวัฒน์การป้องกันรังอย่างซับซ้อนเพื่อขัดขวาง “นกปรสิตฝากฟักไข่” ซึ่งคือการที่นกพยายามผลักภาระ งานเลี้ยงลูกนกอันน่าเบื่อหน่ายโดยลอบวางไข่ในรังของนกอื่น นกกระจอกเทศไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อนกเพศเมียอีกตัวหนึ่งเข้ามาหา นกเพศเมียเจ้าของรังมักยืนขึ้นแล้วขยับออกไป ปล่อยให้ผู้มาเยือนวางไข่เคียงข้างไข่ของมัน ผลการศึกษาบางชิ้นชี้ว่า ปกติแล้วนกเพศเมียเจ้าของรังจะเป็นแม่แท้ๆ ของไข่เพียงประมาณครึ่งหนึ่ง จากจำนวน 19 หรือ 20 ฟองที่มันกกจนฟักเป็นตัวสำเร็จ ส่วนที่เหลือเป็นของนกเพศเมียตัวรองๆ ลงมา นี่ไม่ใช่พฤติกรรมการเป็นปรสิตฝากฟักไข่ในรังนกอื่น แต่เป็นการช่วยกันทำรังซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่นกกระจอกเทศใช้เพื่อประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์ในโลกที่เต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน

นกกระจอกเทศเพศเมียสามตัว (ขนสีน้ำตาล) เพศผู้สามตัว (ขนสีดำ) และลูกนก 42 ตัว เฝ้าระวังสุนัขจิ้งจอกและสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ ในอุทยานแห่งชาติทารางีรี ประเทศแทนซาเนีย
ลูกนกพักผ่อนอยู่ระหว่างตีนขนาดใหญ่ของพ่อแม่ที่ไร่นกกระจอกเทศแห่งหนึ่งในเยอรมนี ในศตวรรษที่สิบแปด ขนนกกระจอกเทศเป็นที่นิยมในยุโรปมากเสียจนการล่าอย่างหนักหน่วงทำให้ประชากรในเขต การกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่ลดลงอย่างมาก

การศึกษาของ ไบรอัน แบร์ทรัม นักชีววิทยาผู้ให้คำอธิบายการช่วยกันทำรังวางไข่อย่างละเอียด เป็นครั้งแรกในปี 1979 พบว่า นกเพศเมียเจ้าของรังอาจไม่มีทางเลือกมากนัก การต่อต้านนกเพศเมียที่มาเยือนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและเรียกความสนใจจากสิงโตและสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ มันยังอาจทำให้ไข่แตก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นไข่ของมันเอง และกลิ่นอาจดึงดูดพวกไฮยีนาหรือสุนัขจิ้งจอก

แบร์ทรัมกล่าวว่า การช่วยกันทำรังวางไข่ให้ประโยชน์บางอย่างที่เป็นผลดีต่อคู่นกเจ้าของรังสำหรับนก เพศผู้ ความเจ้าชู้ของมันในถิ่นที่อยู่หมายความว่า มันอาจเป็นพ่อของไข่ประมาณหนึ่งในสามที่นกเพศเมีย บริเวณใกล้เคียงมาวางเพิ่มในรัง สำหรับนกเพศเมียเจ้าของรัง การมีไข่เพิ่มขึ้นมาในรังช่วยกระจายความเสี่ยง ไม่มีใครรู้ว่ามันแยกความแตกต่างได้อย่างไร แต่มันจะดูแลให้ไข่ของตัวเองอยู่กลางรังเสมอ แล้วดันไข่ของนก เพศเมียตัวอื่นไปยังบริเวณที่แบร์ทรัมเรียกว่า “วงนอกแห่งหายนะ” การมีลูกนกอยู่ด้วยกันมากขึ้นหลังจากฟัก เป็นตัวยังทำให้ลูกของมันมีโอกาสถูกสัตว์ผู้ล่าคาบไปน้อยกว่าด้วย

เรื่อง ริชาร์ด คอนนิฟฟ์
ภาพถ่าย เคลาส์ นิกก์


สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2563 

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.