นกอินทรีฮาร์ปี : พิทักษ์เจ้าเวหาป่าแอมะซอน

นักวิทยาศาสตร์ คนเก็บผลบราซิลนัต เจ้าของที่ดิน และผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ผนึกกำลังกันอนุรักษ์ นกอินทรีฮาร์ปี นกอินทรีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในโลก

เส้นทางนี้ควรเป็นทางลัด แต่ตอนนี้ ฉันกลับเดินอยู่ในน้ำสีน้ำตาลขุ่นคลั่ก สูงท่วมเอว คอยระวังไม่ให้ตัวเองสะดุดขอนไม้ใต้น้ำไปตามเส้นทางที่นักชีววิทยา ชาวบราซิล เอเวอร์ตัน มิแรนดา เบิกทางไว้ กล้องถ่ายภาพราคาแพงหนึ่งตัวเสียหายไปแล้ว

หลังจากผู้ช่วยวิจัยภาคสนาม เอ็ดสัน โอลิไวรา หน้าคะมำลงในแอ่งโคลนลึก และรอยแตนต่อยบนต้นแขนของช่างภาพ แครีน ไอก์เนอร์ ก็บวมเป่งเป็นลูกมะเขือเทศ

แต่ถ้าจะมีใครสักคนคิดหันหลังกลับแล้วละก็ คงเก็บความคิดนั้นไว้กับตนเอง เพราะภารกิจของเราสำคัญเกินกว่าจะถอย เราดั้นด้นมาที่นี่เพื่อค้นหารัง นกอินทรีฮาร์ปี ที่หายาก โดยอาศัยเบาะแสจากคำเล่าลือว่าอยู่ลึกเข้าไปประมาณกิโลเมตรครึ่งกลางป่าฝนแอมะซอนในรัฐมาตูโกรสซูของบราซิล

ปัจจุบัน นกอินทรีฮาร์ปีพบได้ในป่าฝนของแอมะซอน ซึ่งการตัดต้นไม้เพื่อทำไร่กำลังทำลายถิ่นอาศัยของพวกมัน นักอนุรักษ์หวังว่าเจ้าของไร่จะลดการแผ้วถางป่า หากพวกเขามีรายได้มากพอจากนักท่องเที่ยวซึ่งจ่ายเงินเพื่อชมนกอินทรีในรังจากหอคอยเช่นที่เห็นนี้

ด้วยร่างกายสีขาวดำมันขลับ ดวงตาดุร้าย และขนบนใบหน้าที่ดกหนา นกอินทรีฮาร์ปีซึ่งเป็นนกอินทรีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งในโลก มักถูกจัดให้อยู่ในหมู่นกที่งามสง่าที่สุดของโลก และอยู่บนสุดในรายชื่อนกสุดยอดปรารถนา ของเหล่านักดูนก กรงเล็บของนกอินทรีฮาร์ปีซึ่งสามารถจับสลอทตัวเต็มวัยจากต้นไม้ มีขนาดใหญ่กว่ากรงเล็บของหมีกริซลี และนกเพศเมียอาจหนักได้ถึงประมาณ 11 กิโลกรัม “ดูเหมือนสัตว์ที่ออกมาจากหนังสือนิยายแฟนตาซี เลยครับ” มิแรนดาบอก

ในฐานะสัตว์ผู้ล่าลำดับสูงสุด นกอินทรีฮาร์ปีจึงมีบทบาทสำคัญในทางนิเวศวิทยา โดยช่วยควบคุมประชากรเหยื่อให้อยู่ในระดับเหมาะสม “ถ้าคุณประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์นกอินทรีฮาร์ปี คุณจะประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเกือบทั้งหมดในระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน” ริชาร์ด วัตสัน ประธานและซีอีโอของกองทุนเพเรกรินฟันด์ องค์กรอนุรักษ์ไม่แสวงกำไรที่ดำเนินโครงการนกอินทรีฮาร์ปีในปานามา กล่าว

นกนักล่าเหล่านี้มีระยะห่างระหว่างปลายปีกทั้งสองข้างค่อนข้างสั้น ช่วยให้พวกมันบินฝ่าป่าทึบได้ นกอินทรีฮาร์ปีสามารถจับสลอทตัวเต็มวัยจากต้นไม้และโฉบจับกวางขนาดเล็กได้ นกอินทรีฮาร์ปีตัวนี้กำลังกลับรังพร้อมชิ้นส่วนซากเม่น

ไม่มีใครรู้ว่าในธรรมชาติมีนกอินทรีฮาร์ปีเหลืออยู่เท่าใด แต่นักวิทยาศาสตร์รู้แน่ชัดว่า พวกมันกำลังหมดไป มิแรนดาเล่าว่า นกนักล่าที่ทรงพลังนี้เคยครอบครองถิ่นอาศัยจากทางตอนใต้ของเม็กซิโกไปจนถึงตอนเหนือ ของอาร์เจนตินา ทว่าตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้าเป็นต้นมา เขตการกระจายพันธุ์ของมันลดลงกว่าร้อยละ 40 และปัจจุบันส่วนใหญ่จำกัดอยู่เพียงในป่าแอมะซอน การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพาะปลูก ทำเหมืองแร่ และพัฒนาที่ดิน ซึ่งถือเป็น ภัยคุกคามหลักต่อความอยู่รอดของนกอินทรีฮาร์ปี ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงเลย มิแรนดาประเมินว่า ช่วงต้นปี 2020 ในแต่ละชั่วโมงมีผืนป่าในเขตป่าแอมะซอนของบราซิลถูกทำลายไปกว่า 340 ไร่

มิแรนดาเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่แถวหน้าในความพยายามอนุรักษ์นกอินทรีฮาร์ปีของบราซิล เขามั่นใจว่า หากปราศจากการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ ในเวลาอีกไม่นาน นกนักล่าชนิดนี้จะหายไปจากแหล่งอาศัยหรือฐานที่มั่นสำคัญในบราซิล ซึ่งเรียกว่า แถบโค้งของการทำลายป่าอันเป็นพื้นที่แยกส่วนผืนเล็กผืนน้อยขนาดประมาณประเทศสเปน ล้อมรอบพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของแอมะซอน เขายังเชื่อว่า การต้านทานการสูญเสียถิ่นอาศัย อย่างกว้างขวางสามารถทำได้โดยการแสดงให้ชาวบราซิลเห็นว่า การมีป่าให้ผลประโยชน์มากกว่าการตัดโค่น

นกอินทรีฮาร์ปีระวังภัยให้ลูกในรังกลางป่าแอมะซอน ประเทศบราซิล นกเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่านกเพศผู้ โดยอาจหนักได้ถึงราว 11 กิโลกรัม และมักมีกรงเล็บใหญ่กว่าของหมีกริซลี ตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้าเป็นต้นมา เขตการกระจายพันธุ์ของนกอินทรีฮาร์ปีทั่วอเมริกากลางและอเมริกาใต้ลดลงกว่าร้อยละ 40

และด้วยแนวคิดนี้ เมื่อไม่นานมานี้ เขาช่วยริเริ่มโครงการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรูปแบบใหม่เพื่อสร้างแรงจูงใจ แก่เจ้าของที่ดินให้ปกป้องนกอินทรีฮาร์ปีและถิ่นอาศัย (เคราะห์ดีที่สองเดือนแรกของปี 2020 มีการจองทัวร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้มาดำเนินโครงการจนถึงสิ้นปี ซึ่งเป็นเวลาที่คาดหวังกันว่า ผลกระทบรุนแรงที่สุดของโรคระบาดจะบรรเทาลงและคนกลับมาเดินทางกันใหม่)

ถ้าเราพบรัง นั่นจะเป็นการเติมจุดข้อมูลสำคัญอีกจุดในการระบุสถานที่ที่นกอินทรีฮาร์ปียังคงอาศัยอยู่ และช่วยปกป้องสถานที่เหล่านั้น มิแรนดามองเครื่องหมายระบุตำแหน่งในจีพีเอสซึ่งระบุจุดที่เขาเชื่อว่ามีรังอยู่ ลำธารเชี่ยวกรากขวางทางเรา มิแรนดาไม่ยอมถอย เขาพบต้นไม้ล้มที่ผุไปครึ่งต้นซึ่งรับน้ำหนักเราได้อย่างน่าพิศวง ขณะเราผลัดกันเดินข้ามไป หลังจากปีนป่ายตลิ่งโคลน แล้วมาอยู่บนพื้นดินแข็งได้ในที่สุด

อาร์มาดิลโลที่เพิ่งถูกฆ่าใหม่ๆ จะเป็นอาหารสำหรับลูกนกที่หิวโหย นักวิทยาศาสตร์เฝ้าสังเกตรังอันเป็นส่วนหนึ่ง ของความพยายามคุ้มครองนกอินทรีฮาร์ปีในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุด

เราผ่านกิโลเมตรสุดท้ายอย่างรวดเร็วจนกระทั่งพบต้นบราซิลนัตลำต้นใหญ่โตต้นหนึ่ง กิ่งก้านบนเรือนยอดที่สูงลิบลิ่วของต้นไม้ที่ได้รับความคุ้มครองชนิดนี้เป็นจุดทำรังที่เหมาะสมสำหรับนกอินทรีฮาร์ปีในพื้นที่ศึกษาของมิแรนดา เรามองลอดเข้าไปในพุ่มใบหนาสูงขึ้นไปราว 30 เมตร ช่องเปิดเล็กๆ เผยให้เห็นกิ่งไม้สุมกันเป็นกองใหญ่ รัง!

แต่นอกเหนือจากขนเรียวยาวสีขาวเส้นเดียวที่มิแรนดาสังเกตเห็น เราไม่พบหลักฐานอื่นที่แสดงว่ารังมีนก อาศัยอยู่ เมื่อเปิดเสียงร้องของนกอินทรีฮาร์ปีที่บันทึกไว้ ซึ่งเป็นเสียงแหลมดังเป็นชุดๆ ไม่มีเสียงตอบกลับมา มิแรนดาคาดว่า ลูกนกที่เคยอาศัยอยู่ในรังนี้ตลอดเวลา ต้องเป็นนกวัยรุ่นที่กำลังเตรียมแยกตัวออกไป หลังจากใช้เวลาสามปีอยู่ในอาณาเขตของพ่อแม่นก
ถ้าไม่ถูกรบกวน นกอินทรีฮาร์ปีอาจใช้รังรังเดียวเป็นเวลาหลายสิบปี และมิแรนดาบอกว่า รังนี้น่าจะมีลูกนกตัวใหม่ในราวปลายปี 2020 ถ้าทุกอย่างไปได้ดี เขาหวังว่า นักท่องเที่ยวจะมีโอกาสมาชื่นชมมันที่นี่ และช่วยปกป้องมัน

เรื่อง ราเชล นูเวอร์
ภาพถ่าย แครีน ไอก์เนอร์

สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนตุลาคม 2563

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม นกกระจอกเทศ : ใครว่าเรากระจอก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.