องค์การอนามัยโลกชี้ว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการถูกงูกัดมากถึง 138,000 คน และราวร้อยละ 95 ของผู้เสียชีวิตจาก อสรพิษ นี้อาศัยอยู่ในชุมชนชนบทที่ยากจนในประเทศกำลังพัฒนา
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดแห่งหนึ่งคือภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา ซึ่งเชื่อกันว่ามีผู้เสียชีวิตจาก การถูกงูกัดมากถึงปีละ 30,000 คน แต่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการถูกงูกัดบางคนบอกว่า ยอดจริงอาจเป็นสองเท่าของจำนวนดังกล่าว ปัจจัยหลักคือยารักษาชนิดเดียวที่แก้พิษของงูอันตรายได้ คือเซรุ่มต้านพิษงูขาดแคลนอย่างรุนแรง ความซับซ้อนอยู่ที่ผู้เคราะห์ร้ายจำนวนมากไม่ไปโรงพยาบาล เพราะไม่มีเงินหรือเดินทางลำบาก หรือเพราะไม่เชื่อในการแพทย์แผนตะวันตก หรือไปถึงโรงพยาบาลไม่ทันเวลา เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยขาดการฝึกอบรมการรักษาผู้ถูกงูกัด และแม้จะมีเซรุ่มให้ใช้ ราคาก็แพงเกินไปสำหรับผู้เคราะห์ร้ายหลายคน
นอกจากนี้ เซรุ่มต้านพิษงูที่เชื่อถือได้ส่วนใหญ่ในแอฟริกาต้องแช่เย็นเพื่อคงความเสถียรและประสิทธิภาพ แต่เนื่องจากไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง แม้แต่ในเขตเมือง การรักษาความเย็นให้เซรุ่มจึงแทบเป็นไปไม่ได้
เมื่อปี 2017 เพื่อให้วิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดจากการถูกงูกัดได้รับความสนใจและดึงดูดเงินทุนมาสนับสนุนงานวิจัยและการรักษา องค์การอนามัยโลกจึงเพิ่มการถูกงูพิษกัดเข้าไปในบัญชีรายชื่อโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย ซึ่งรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้า โรคไข้เลือดออก และโรคเรื้อน และต่อมาในปี 2019 องค์การอนามัยโลกแถลงเป้าหมาย การลดจำนวนผู้เสียชีวิตและพิการจากการถูกงูพิษกัดในแต่ละปีให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2030 นับเป็นพันธกิจที่อาจ มีมูลค่าเกือบ 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหยื่อผู้ถูกงูกัดชาวแอฟริกันส่วนใหญ่เป็นชาวนาซึ่งเดินเท้าเปล่าหรือสวมรองเท้าแตะไปทำงานในทุ่งนาห่างไกล ทำให้พวกเขาเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เมื่อถูกงูพิษกัด การแข่งกับเวลาก็เริ่มขึ้น การพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ที่ใกล้ที่สุดอาจใช้เวลาหลายชั่วโมง แม้แต่หลายวัน ถึงตอนนั้นก็อาจสายเกินไป
พิษของงูในวงศ์งูพิษเขี้ยวหน้าซึ่งเป็นวงศ์ที่รวมถึงงูแมมบาและงูเห่า ทำให้คนเสียชีวิตได้ภายในเวลา ไม่กี่ชั่วโมง พิษที่ทำลายระบบประสาททำให้กล้ามเนื้อระบบหายใจเป็นอัมพาตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หายใจไม่ได้ แต่พิษของงูในวงศ์งูแมวเซาอาจใช้เวลาหลายวันกว่าจะทำให้เสียชีวิต โดยพิษจะไปขัดขวางการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดการอักเสบ เลือดไหล และเนื้อเยื่อตาย
เมื่อผู้เคราะห์ร้ายไปถึงมือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โอกาสรอดชีวิตขึ้นอยู่กับสองปัจจัยสำคัญ ได้แก่ มีเซรุ่ม ต้านพิษงูที่เชื่อถือได้ไหม และถ้ามี เจ้าหน้าที่เหล่านั้นรู้วิธีการฉีดไหม บ่อยครั้งในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกา คำตอบของทั้งสองคำถามคือ ไม่
เหยื่องูกัดหลายรายไม่ได้รับการพาไปโรงพยาบาลเลยด้วยซ้ำ หลายครอบครัวอาจหันไปขอความช่วยเหลือจากหมอพื้นบ้านแทน โดยหมอเหล่านั้นอาจประคบแผลด้วยสมุนไพรหรือขี้เถ้าจากการเผากระดูกสัตว์ หรือขันชะเนาะแขนขาที่ถูกงูกัด ซึ่งอาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดจนเป็นอันตราย การรักษาด้วยสมุนไพรบางชนิดอาจบรรเทาความเจ็บปวดและลดอาการบวมได้จริง แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้เคราะห์ร้ายได้
กระนั้น การป้องกันการถูกงูกัดย่อมดีกว่าการรักษา การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน จึงเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เช่น สวมรองเท้าเมื่อเดินในสถานที่ที่น่าจะมีงู และส่องไฟฉายในเวลากลางคืน
เรื่องและภาพถ่าย โตมัส นิโกลง
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2