ราชาลมกรดโลกสีคราม

ฉลามมาโกครีบสั้นขึ้นชื่อเรื่องความเป็นนักสู้ในหมู่นักตกปลา พอๆกับคุณภาพเนื้อของมัน ฉลามมาโกครีบสั้นซึ่งจำแนกจากญาติที่หายากกว่าคือฉลามมาโกครีบยาวด้วยครีบอกที่สั้นกว่าและลักษณะอื่นๆ (ในสารคดีเรื่องนี้ “มาโก” จะหมายถึงฉลามมาโกครีบสั้น) ตกเป็นเป้าของนักตกปลาเพื่อนันทนาการอย่างมาก และบ่อยครั้งยังถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) ในการประมงเบ็ดราวเชิงพาณิชย์ เนื้อของมันมีคุณภาพสูสีกับเนื้อปลากระโทงแทงดาบ และในเอเชีย ครีบของมันมีราคาสูงลิ่วสำหรับนำมาปรุงซุปหูฉลาม ปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันทำให้ฉลามมาโกเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก แต่ยังไม่มีใครแน่ใจว่าแรงกดดันมีมากเพียงใด และนำไปสู่ผลอะไรในท้ายที่สุด

ฤดูร้อนปี 2015 ผมได้รับเชิญไปร่วมการติดแถบสัญญาณดาวเทียมให้ฉลามมาโกนอกชายฝั่งรัฐแมริแลนด์กับทีมนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาตำตอบให้คำถามข้างต้น

ฉลามมาโกด้อมๆมองๆใกล้กอสาหร่ายเคลป์ที่ลอยอยู่นอกชายฝั่งแซนดีเอโก กอสาหร่ายลอยน้ำเช่นนี้เป็นที่อยู่ของระบบนิเวศขนาดจิ๋ว โดยปลาขนาดใหญ่กว่าล่าปลาขนาดเล็กกว่า และฉลามมาโกอยู่บนยอดของห่วงโซ่อาหาร

ผมติดสอยห้อยตามนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยกายฮาร์วีย์ (Guy Harvey Research Institute) ซึ่งออกติดแถบสัญญาณและติดตามฉลามมาโกในมหาสมุทรแอตแลนติกและอ่าวเม็กซิโกมาตั้งแต่ปี 2008 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษารูปแบบการเคลื่อนที่ของฉลามชนิดนี้ ฉลามมาโกทางตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนืออพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางไกล โดยเดินทางขึ้นไปทางทิศเหนือในช่วงเดือนที่อบอุ่น จากนั้นมุ่งหน้าลงใต้เมื่อฤดูหนาวใกล้จะมาถึง การออกเรือนอกชายฝั่งรัฐแมริแลนด์ในเดือนพฤษภาคมประสบความสำเร็จด้วยดี กล่าวคือในระยะเวลาสองสัปดาห์ ฉลามมาโกได้รับการติดเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียม 12 ตัว ในทางกลับกัน การออกเรือที่โรดไอแลนด์ในเดือนสิงหาคมประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะตลอดช่วงหนึ่งสัปดาห์ เราไม่ได้ฉลามมาโกเลยสักตัว แต่ความแตกต่างนี้ชี้ให้เห็นเบาะแสที่อาจกำลังเกิดขึ้นกับฉลามมาโกในมหาสมุทรแอตแลนติก

ในการศึกษาเบาะแสดังกล่าว คุณต้องรู้เรื่องหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องแรกๆที่คุณจะได้เรียนรู้จากการจับฉลามมาโก นั่นคือ พวกมันอยู่ร่วมอาณาเขตกับฉลามสีน้ำเงิน ฉลามสองชนิดนี้เป็นเหมือนสิงโตกับไฮยีนาซึ่งอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน แต่ใช้กลยุทธ์หาอาหารแตกต่างกัน ฉลามมาโกครีบสั้นเป็นฉลามที่ว่องไวที่สุดในมหาสมุทร สามารถว่ายน้ำได้เร็วถึง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะไล่ล่าเหยื่อที่มีความเร็วสูง เช่น ปลาบลูฟิชและปลาทูน่า นักกีฬาตกปลาจึงชื่นชอบพละกำลังของมัน ในทางกลับกัน ฉลามสีน้ำเงินค่อนข้างระมัดระวังและเน้นล่าเหยื่อที่ช้ากว่า เช่น หมึกกล้วย นักตกปลาคนหนึ่งเล่าว่า การตกฉลามสีน้ำเงินไม่ต่างจากการ “เย่อกับประตูโรงนา” ดังนั้นคุณคงพอจะเดาได้ว่า ในการเปรียบเปรยดังกล่าว ตัวไหนเป็นสิงโต และตัวไหนเป็นไฮยีนา ทุกคนต่างต้องการจับสิงโต

“ตอร์ปิโดมีฟัน” คือสิ่งที่ช่างภาพ ไบรอัน สเกอร์รี พูดถึงฉลามมาโกครีบสั้น “จมูกรูปกรวยนั้นพุ่งผ่านท้องน้ำไปเลยครับ” แม้เพศเมียที่โตเต็มวัยอาจมีน้ำหนักมากกว่า 600 กิโลกรัม ฉลามชนิดนี้ก็ยังว่องไวพอจะซุ่มโจมตีปลาทูน่าซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความเร็วเช่นกัน

แบรด เวเทอร์บี นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัยโรดไอแลนด์ ซึ่งมาติดแถบสัญญาณให้ฉลามมาโกตัวใด ก็ตามที่เราจับได้ อธิบายว่า แรงกดดันจากการจับฉลามมาโกนั้นหนักหน่วงรุนแรง ฉลามมาโกที่เราพยายามจับ ว่ายน้ำขึ้นไปทางเหนือเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในช่วงฤดูร้อน เข้าไปอยู่ท่ามกลางกิจกรรมการตกปลาเพื่อนันทนาการรายวัน และรายการแข่งขันจับฉลามหลายสิบรายการ นี่จึงเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยอันตรายสำหรับพวกมัน

ฉลามมาโกไม่ต่างจากฉลามอีกหลายชนิดที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการทำประมงเกินขนาด เนื่องจากการมีลูกน้อยตัวและถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุมาก (งานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ฉลามมาโกเพศเมียถึงวัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 15 ปีหรือมากกว่านั้น แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่ใช่ข้อสรุป นักชีววิทยาเห็นพ้องกันว่า ต้องมีงานวิจัยรองรับมากกว่านี้)

จากข้อมูลของสำนักงานประมงทางทะเลแห่งชาติซึ่งควบคุมกิจกรรมประมงในน่านน้ำสหรัฐฯ ฉลามมาโกถูกจับในระดับที่มีความยั่งยืน หลักๆแล้ว การประเมินนี้อาศัยตัวเลขปริมาณปลาที่จับได้ซึ่งผู้ประกอบการประมงเบ็ดราวเชิงพาณิชย์รายงานมายังองค์การนานาชาติที่ควบคุมการทำประมงปลาทูน่าและปลาผิวน้ำอื่นๆในมหาสมุทรแอตแลนติก ตัวเลขเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าปลาที่จับได้มีปริมาณค่อนข้างคงที่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งชี้ว่าประชากรฉลามมาโกมีเสถียรภาพ แต่ตัวเลขดังกล่าวเป็นวิธีประเมินที่ไม่แม่นยำ ปริมาณปลาที่จับได้ถูกบันทึกในหน่วยเมตริกตันและข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ เช่น จำนวนฉลามที่ถูกจับ และขนาดกับเพศของฉลามเหล่านั้นอาจขาดหายไป นอกเหนือจากนี้ ปริมาณปลาที่จับได้อีกจำนวนมากไม่อยู่ในรายงาน ทำให้นักวิทยาศาสตร์แสดงความกังขาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของทั้งข้อมูลและการประเมินปริมาณปลา

สเกอร์รีเล่าว่า ฉลามมาโกวัยเยาว์ตัวนี้ “รี่เข้ามาอย่างเร็ว” และทำให้บางส่วนของกล่องกันน้ำกล้องถ่ายภาพเสียหาย แม้ฉลาม มาโกแทบไม่โจมตีมนุษย์ แต่ภัยคุกคามที่มนุษย์มีต่อฉลามกลับมีมากมาย เมื่อปี 2007 ฉลามมาโกถูกจัดให้อยู่ในสถานะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงเกินขนาด

สิ่งที่เวเทอร์บีและทีมของเขารู้คือ ฉลามที่พวกเขาติดแถบสัญญาณมีชีวิตที่ไม่ดีนัก แถบสัญญาณที่พวกเขาใช้ส่งสัญญาณไปยังดาวเทียมทุกครั้งที่ฉลามขึ้นสู่ผิวน้ำ ช่วยให้นักวิจัยสร้างแผนที่การเคลื่อนที่ของพวกมันได้อย่างละเอียดเมื่อสัญญาณเริ่มมาจากบนบก พวกเขารู้ว่าฉลามถูกจับแล้ว “ที่ผ่านมา เราติดแถบสัญญาณให้ฉลามมาโกไป 49 ตัว ถูกฆ่าไปแล้ว 11 ตัวครับ” เวเทอร์บีบอกผม (ภายในหนึ่งเดือน จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 12 ตัว) ผมบอกว่า ตัวเลขนั้นดูเหมือนมากและเขาเห็นด้วย ขนาดตัวอย่างน้อย แต่อัตราการจับอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง

เมื่อกลับขึ้นฝั่ง ผมโทรศัพท์หามะห์มูด ชิฟญี นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโนวาเซาท์อีสเทิร์น ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการติดแถบสัญญาณนี้ “สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจ” เขาบอก “คือมหาสมุทรนั้นกว้างใหญ่ไพศาลและฉลามเหล่านี้ก็ว่ายน้ำเป็นระยะทางไกล แต่ร้อยละ 25 ของฉลามที่ติดแถบสัญญาณก็ยังว่ายเข้าไปหาเบ็ดตกปลาจนได้ ไม่มีการทำประมงฉลามที่ไหนจะรับได้กับอัตราการจับปีละ 25 เปอร์เซ็นต์หรอกครับ”

เรื่อง เกลนน์ ฮอดเจส

ภาพถ่าย ไบรอัน สเกอร์รี

 

อ่านเพิ่มเติม : ฉลามให้กำเนิดลูกโดยไม่ผ่านการผสมพันธุ์ฉลามขาวจอมลี้ลับฉลามแห่งตำนานเรืออัปปาง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.