เหตุใดวาฬสเปิร์มจึงยืนในน้ำ

เหตุใด วาฬสเปิร์ม จึงยืนในน้ำ

เมื่อหนึ่งในสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกงีบหลับ ภาพที่ออกมาจึงแปลกประหลาดดังที่เห็น

ภาพถ่ายดังกล่าวกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ จากในภาพแสดงฝูงวาฬสเปิร์มจำนวนหนึ่งอยู่ในสภาพหลับนิ่งไม่เคลื่อนไหวในท่าแนวตั้ง วาฬเหล่านี้มีขนาดตัวประมาณรถรับส่งนักเรียน ทั้งหมดพร้อมใจกันยืนตรง สร้างความประหลาดใจให้แก่หลายคนที่ได้ชมภาพถ่ายนี้

สเตฟาน แกรนโซโต ช่างภาพและนักสร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้บันทึกพฤติกรรมอันน่าฉงนของฝูงวาฬเอาไว้ได้ ขณะที่เขากำลังดำน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อบันทึกภาพของวาฬสเปิร์ม ลงในโปรเจค Cachalots โฟโต้บุ๊คของเขา ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวถูกส่งมายังโครงการ YourShot ของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ซึ่งสเตฟานระบุว่าวาฬเหล่านี้งีบหลับอยู่นานเกือบชั่วโมง

ผลการวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Current Biology ในปี 2008 นับเป็นรายงานชิ้นแรกที่สรุปเกี่ยวกับท่าทางการนอนหลับในแนวตั้งของวาฬไว้

ก่อนหน้านี้พฤติกรรมการนอนหลับของสัตว์จำพวกวาฬและโลมาในอควาเรียมเคยถูกสังเกตุมาบ้างแล้ว แต่สำหรับวาฬในธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์ยังคงไม่เข้าใจพฤติกรรมการนอนของพวกมันดีนัก ด้วยข้อมูลจากวาฬสเปิร์มจำนวน 59 ตัว ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซนต์ แอนดรูและมหาวิทยาลัยโตเกียวเริ่มต้นศึกษาช่วงเวลาการนอนหลับของพวกมัน

ผลการศึกษาพบว่า วาฬใช้เวลาเพียง 7% จากทั้งหมดของวันสำหรับการนอนหลับในท่ายืน ใกล้กับผิวน้ำ โดยพวกมันจะใช้เวลาในการงีบหลับประมาณ 10 – 15 นาที ซึ่งทีมนักวิจัยเสริมว่า ช่วงเวลาในการนอนหลับที่สั้นนี้ อาจส่งผลให้มันเป็นสัตว์ที่นอนหลับน้อยที่สุดในโลกเลยก็เป็นได้

สำหรับวาฬในอควาเรียมขณะนอนหลับพวกมันจะใช้สมองเพียงแค่ครึ่งเดียว นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์เชื่อว่า การนอนหลับของพวกมันช่วยหลีกเลี่ยงตนเองจากนักล่า, รักษาความสัมพันธ์ในสังคม, ควบคุมอัตราการหายใจ ไปจนถึงเพื่อช่วยให้การว่ายน้ำต่อมีประสิทธิภาพมากที่สุด

และผลการศึกษายังเสริมอีกว่า จากการสังเกตุพฤติกรรมของวาฬที่ถูกถ่ายวิดีโอไว้ ทางตอนเหนือของชิลี แสดงให้เห็นว่าพวกมันไม่ได้ตื่นจนกว่าเรือในบริเวณนั้นจะเคลื่อนตัวออก ซึ่งทีมนักวิจัยให้ความเห็นว่า วาฬในธรรมชาติน่าจะมีพฤติกรรมการนอนหลับที่เต็มอิ่ม ไม่เหมือนกับวาฬในอควาเรียม

เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์

 

อ่านเพิ่มเติม : คุณจะกินอาหารยังไงนะ ถ้าคุณตัวหนักเบาะๆ แค่เกือบสองร้อยตันฮัดเช้ย! ขอน้ำมูกหน่อยนะ : นักวิทยาศาสตร์ใช้โดรนเก็บน้ำมูกวาฬ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.