ในตัวอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนของสัตว์นักล่า สิงโตทะเล เพศผู้ตัวใหญ่ใช้กำลังเข้าทำร้ายลูกสิงโตทะเลก่อนที่จะกินมันท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่ามันอาจทำแบบนี้กับลูกสิงโตทะเลอีกหลายตัว
รายงานจากนักวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Marine Mammal Science ระบุปกติแล้วสิงโตทะเลวัยหนุ่มไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าโจมตีสัตว์อื่นๆ แต่กรณีพบได้ยากนี้เกิดขึ้นบนเกาะเมดนี ของรัสเซีย เมื่อนักวิจัยสังเกตเห็นสิงโตทะเลสเตลลาร์งับลูกสิงโตทะเลตัวหนึ่งและเหวี่ยงไปมา กัดและฟาดจนในที่สุดลูกสิงโตทะเลก็ตายลง สิงโตทะเลฉีกร่างของลูกสัตว์ที่โชคร้ายออกกลืนกินอวัยวะภายใน ก่อนที่จะนำร่างที่ถูกตัดขาดเป็นสองท่อนไปทิ้ง
ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีรายงานการกินกันเองในสิงโตทะเลมาก่อน แม้กระทั่งในวงศ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเอง กรณีแบบนี้ก็หาได้ยากมาก “ทุกคนควรพูดถึงเรื่องนี้” วลาดิเมีย เบอกานอฟ ผู้ร่วมวิจัยด้านชีววิทยาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล จากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียและหน่วยงานเกี่ยวกับมหาสมุทรแห่งชาติของสหรัฐฯกล่าว ซึ่งงานของเขาคือการวิจัยเกี่ยวกับสิงโตทะเล
ฆาตกรมือเปื้อนเลือด
แอนนา คิริโลวา ผู้ร่วมวิจัยจาก North Pacific Wildlife Consulting ก็ร่วมเป็นพยานในการโจมตีดังกล่าวที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 ด้วย นอกจากนั้นทีมนักวิจัยยังพบซากของลูกสิงโตอีก 2 ตัวในปี 2014 และตัวที่ 3 ในปี 2015 อีกด้วย โดยทุกตัวมีสภาพเหมือนกันคือถูกฆ่าและกัดกิน ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดสิงโตทะเลจึงกินลูกของสิงโตทะเลด้วยกันเอง เนื่องจากลูกสิงโตทะเลนั้นไม่ได้ให้พลังงานใดๆ ที่เพียงพอต่อสิงโตทะเลตัวเต็มวัย ลูกสิงโตทะเลมีน้ำหนักเพียง 15 – 22 กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับสิงโตทะเลตัวเต็มวัยที่หนักมากกว่า 1 ตัน
สิงโตทะเลมักต่อสู้กัน หรือแม้กระทั่งฆ่าสิงโตทะเลตัวอื่นที่บุกรุกเข้าไปในอาณาเขตของมัน เบอกานอฟกล่าว แต่ปกติแล้วสิงโตทะเลเพศผู้มักใจดีกับลูกสิงโตทะเลด้วยกัน แอนดริว ทริเทส นักชีววิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล จากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบียกล่าว “ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน” เขากล่าว
อะไรคือแรงจูงใจของการฆ่า การสังหารลูกสิงโตทะเลไม่ได้ช่วยให้แม่สิงโตทะเลที่ขณะนั้นอาจกำลังออกไปหาอาหารในขณะที่ลูกถูกทำร้ายรู้สึกว่าตัวผู้ตัวนี้มีแรงดึงดูดทางเพศขึ้นมา ปกติแล้วแม่สิงโตทะเลจะปกป้องลูกอ่อนที่อายุน้อยกว่าสัปดาห์ซึ่งตัวที่ถูกฆ่าเบอกานอฟกล่าวว่ามันมีอายุราว 9 วันเท่านั้น
ร้ายกาจมาจากข้างใน
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทราบกรณีที่สิงโตทะเลใช้ความรุนแรงกับลูกสิงโตทะเลด้วยกันเพียง 2 กรณี สำหรับกรณีก่อนหน้า เกิดขึ้นในปี 1991 บนเกาะเมดนี สิงโตทะเลตัวหนึ่งงับลูกสิงโตทะเลและเหวี่ยงเข้ากระแทกกับก้อนหินกรณีนี้เกิดขึ้นหลังสิงโตทะเลพยายามจับนกนางนวลแต่จับไม่ได้ จึงระบายความโกรธเกรี้ยวลงกับลูกสิงโตทะเลแทน
เบอกานอฟเชื่อว่าสาเหตุของการสังหารอาจมาจากบุคลิกภาพของสิงโตทะเลแต่ละตัวเอง บางตัวสงบ ในขณะที่บางตัวกระตือรือร้น และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นความผิดปกติจากสิงโตทะเลทั่วไป ด้านทริเทสเห็นด้วย พร้อมตั้งสมญานามให้มันว่า ฮันนิบาล เล็กเตอร์แห่งสิงโตทะเล เนื่องจากดูก็รู้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากอาการป่วยทางจิต
อย่างไรก็ตาม ในปี 2016 ไม่มีรายงานการพบชิ้นส่วนหรือซากของลูกสิงโตทะเล ซึ่งนับเป็นข่าวดีสำหรับสัตว์สายพันธุ์นี้ที่ลดจำนวนลงอย่างมาก โดยองค์การสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ระบุว่าจำนวนของสิงโตทะเลสเตลล่าลดลงจนใกล้ที่จะสูญพันธุ์
ยกตัวอย่างเช่นบนเกาะเมดนี ปี 2016 มีสิงโตทะเลเกิดใหม่เพียง 153 ตัว ลดลงจากปี 1999 ที่มี 340 ตัว ด้านเบอกานอฟกล่าว การฆ่าลูกสิงโตทะเลมันโหดร้ายอยู่แล้ว และคนทั่วไปทุกคนก็คงเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เรื่อง เทรซี วัตสัน
อ่านเพิ่มเติม