วิลเดอบีสต์ : ราชาในความอัศจรรย์แห่งเซเรงเกติ อาณาจักรสัตว์ป่าแห่งแอฟริกา

สัตว์ป่าที่สำคัญที่สุดในเซเรงเกติคือ วิลเดอบีสต์ แอนทิโลปหน้าตาพิลึกที่การอพยพอันเก่าแก่ของมันทำให้เกิดวัฏจักรอันซับซ้อนของชีวิต

ทันทีที่พระอาทิตย์ขึ้นในมาไซมารา ผมดื่มกาแฟจากกระติกกับเอไก เอกาลาเล มักคุเทศก์ ชาวเคนยา เรานั่งดู วิลเดอบีสต์ สองสามตัวกินหญ้าอยู่หน้ารถแลนด์โรเวอร์ พวกมันอยู่ใกล้จนเราได้ยินเสียงเคี้ยวหญ้าหงุบหงับ หนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านี้ เราเห็นสิงโตเพศเมียสองตัวฆ่าลูกควาย แต่วิลเดอบีสต์ฝูงนี้ดูไม่สำเหนียกถึงอันตรายใดๆ

ผมถามเอไกว่าเขาคิดว่า วิลเดอบีสต์ โง่ไหม “ไม่มีสัตว์ที่โง่หรอกครับ” เขาบอก “บางตัว แค่ฉลาดกว่าตัวอื่นๆ” แต่เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผมไม่ใช่คนแรกที่ตั้งคำถามนี้ วิลเดอบีสต์ทำให้มนุษย์ที่อยู่ใกล้ชิดกับมันที่สุดมาหลายร้อยปีอย่างชาวมาไซและชนเผ่าอื่นๆในภูมิภาคสับสนมึนงง ตำนานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งเล่าว่า วิลเดอบีสต์เกิดจากอวัยวะเหลือๆของสัตว์อื่น “ได้หัวจากหมูป่าวอร์ตฮอก คอจากควาย ลายจากม้าลาย และหางจากยีราฟ” เอไกเล่าให้ผมฟัง เรื่องทำนองนี้มีหลายสำนวน รวมถึงสำนวนหนึ่งที่บอกว่า วิลเดอบีสต์ได้สมองจากหมัด

แม้อาจเป็นเพียงตำนาน แต่ก็ฟังดูเข้าท่าทีเดียว วิลเดอบีสต์หน้าตาตลกและหัวทื่อจริงๆ เขาเล็กๆกับตาจิ๋วๆนั้นดูเล็กเกินควรไปหลายเท่าเมื่อเทียบกับหน้าที่ยื่นยาวเป็นพิเศษ และลำตัวของมันก็ดูผิดส่วนจนชวนอึดอัดจากหนอกหนาบริเวณหัวไหล่ที่สอบลู่ลงสู่บั้นท้าย ความกำยำเฉพาะส่วนหน้านี้ถ่วงสมดุลอยู่บนช่วงขาผอมยาวที่ทำให้ท่าเดินของมันเกะกะเก้งก้างยิ่ง

วิลเดอบีสต์กระโจนลงตลิ่งชันริมแม่น้ำมาราระหว่างการเดินทางตามหาน้ำและทุ่งหญ้าระบัด ในแต่ละปี วิลเดอบีสต์ ราว 1.3 ล้านตัวติดตามฝนที่ตกตามฤดูกาลเป็นวงรอบตามเข็มนาฬิกาจากแทนซาเนียเข้าสู่เคนยาแล้วกลับมา นับเป็นการอพยพบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

แล้วธรรมชาติสร้างแฟรงเกนสไตน์แห่งอาณาจักรสัตว์นี้ขึ้นมาได้อย่างไร

เพื่อหาคำตอบ ผมโทรศัพท์หาแอนนา เอสเตส นักนิเวศวิทยาซึ่งทำงานในแทนซาเนีย “ฉันขอหยุดคุณตรงนั้นเลยค่ะ” เธอบอกและเสริมว่า “พ่อฉันจะโกรธถ้ามีใครคิดดูถูกวิลเดอบีสต์” ผมโทรศัพท์หาเธอเพราะบิดาของเธอ ริชาร์ด เอสเตส นักชีววิทยาสัตว์ป่า เป็นผู้เขียนหนังสือ โลกของกนู [The Gnu’s World – กนู ออกเสียงว่า กู-นูว์ เป็นชื่อเรียกวิลเดอบีสต์ของชนเร่ร่อนยุคแรกในแอฟริกา จากเสียงคำรามและเสียงร้องแบบวัว] บอกเล่าประวัติชีวิตของวิลเดอบีสต์ไว้อย่างละเอียดและให้ข้อมูลโต้แย้งอย่างครอบคลุมทุกเรื่องที่พูดตลกเกี่ยวกับมัน

เธอเสนอให้พิจารณามาตรวัดความสำเร็จทางวิวัฒนาการประการหนึ่ง นั่นคือประชากร ในแง่นี้ วิลเดอบีสต์ ซึ่งมีมากกว่า 1.3 ล้านตัว ถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเซเรงเกติ ช้างมีจำนวนราว 8,500 ตัวเท่านั้น สิงโตก็มีอยู่แค่ 3,000 ตัว กาเซลล์ทอมสันและม้าลาย ซึ่งถือเป็นคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดของมัน มีชนิดละไม่กี่แสนตัว ไล่หลังวิลเดอบีสต์ทั้งคู่

เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ก่อนเริ่มการอพยพขึ้นเหนืออันทรหด วิลเดอบีสต์รวมถึงม้าลายจำนวนมากที่เดินทางร่วมฝูง รวมตัวกันกินหญ้าและตกลูกบนทุ่งหญ้าใกล้ชายแดนทางใต้ของอุทยานแห่งชาติเซเรงเกติในแทนซาเนีย ในแต่ละปี วิลเดอบีสต์วัยอ่อนครึ่งล้านตัวเกิดที่นี่ โดยเฉลี่ยแล้ววันละ 24,000 ตัว ลูกวิลเดอบีสต์เดินได้ภายในไม่กี่นาทีหลังคลอด

เอสเตสตั้งข้อสังเกตว่า ความสำเร็จนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอวัยวะหน้าตาประหลาดซึ่งล้วนเป็นการปรับตัวที่ได้รับการปรับแต่งอย่างดีตลอดหนึ่งล้านปี เพื่อช่วยให้พวกมันเดินทางได้ไกลมากๆ และใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศพิเศษเฉพาะตัวของเซเรงเกติได้เต็มที่ เขาขนาดเล็กหมายถึงการแบกน้ำหนักน้อยกว่าขณะเดินทางไกลหรือว่ายข้ามแม่น้ำ และมีแนวโน้มจะเกี่ยวพุ่มไม้รกทึบ น้อยกว่า จมูกแบนเอื้อต่อการเล็มหญ้าแบบเครื่องตัดหญ้า แผ่นหลังลาดลู่ช่วยให้ท่วงท่าการเดิน มีประสิทธิภาพสูง ส่วนข้อเท้าก็มีความยืดหยุ่นที่เอื้อให้สปริงตัวดีเวลาวิ่ง ทั้งสองอย่างช่วยประหยัดพลังงานระหว่างการอพยพครั้งใหญ่ได้ และไม่ว่าจะเงอะงะงุ่มง่ามหรือไม่ มันก็เร่งความเร็วได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วพอจะหนีไฮยีนาและสิงโตได้ มันดมกลิ่นหาบริเวณที่ฝนตกได้ดีและจะมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองไกลๆ ซึ่งกว่าฝูงของมันจะไปถึง หญ้าก็ระบัดแล้ว

แต่การปรับตัวที่น่าประทับใจที่สุดของวิลเดอบีสต์ คือกลยุทธ์การให้กำเนิดลูกหลาน เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม พวกมันจะรวมฝูงบนทุ่งราบที่ผมกับช่างภาพ ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์ นั่งเครื่องบินผ่าน ตอนนั้นหญ้าจะยังสดเขียวเพราะได้ฝนตามฤดูกาลและดินภูเขาไฟที่อุดมไปด้วยธาตุอาหาร วิลเดอบีสต์ไม่ซ่อนลูกอ่อนเหมือนแอนทิโลปชนิดอื่นๆ แม่วิลเดอบีสต์ท้องแก่จะตกลูกทันทีในพื้นที่เปิดโล่ง ลูกวิลเดอบีสต์ราว 500,000 ตัวจะทยอยเกิดในช่วงสามสัปดาห์ หรือตกวันละประมาณ 24,000 ตัว เจ็ดนาทีหลังออกจากท้องแม่ ลูกวิลเดอบีสต์ก็ลุกขึ้นยืนได้แล้ว และจะวิ่งไปกับแม่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

วิลเดอบีสต์ที่ตายเป็นจำนวนมากกลายเป็นงานเลี้ยงฉลองของจระเข้และแร้งในแม่น้ำมารา ในวันเดียว วิลเดอบีสต์ 6,000 ถึง 9,000 ตัว ซึ่งว่ายน้ำไม่เก่งและสับสนง่าย อาจเหยียบกันเองและจมน้ำตายในกระแสน้ำเชี่ยวกราก

ก่อนเดินทางไปเซเรงเกติ ผมอ่านเรื่องของนักนิเวศวิทยาหนุ่มผู้พลิกมุมมองที่นักวิทยาศาสตร์มีต่อวิลเดอบีสต์ไปตลอดกาล โทนี ซินแคลร์ เติบโตในแทนซาเนียและศึกษาด้านสัตววิทยาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จากนั้นใช้เวลากว่าสิบปีนับประชากรสัตว์ในเซเรงเกติ เมื่อเดือนเมษายน ปี 1982 เขาเดินทางไปแอฟริกาใต้เพื่อร่วมการประชุมของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขากับไมก์ นอร์ตัน-กริฟฟิทส์ นักนิเวศวิทยาอีกคน ประกาศการนับจำนวนสัตว์กีบฝูงใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกได้

แต่เพื่อนนักวิทยาศาสตร์ในพริทอเรียกลับไม่กระตือรือร้นไปด้วย “สิ่งที่ผมเจอก็คือคนพากันลุกขึ้นพูดว่า ‘นี่เป็นเรื่องไร้ความรับผิดชอบที่สุดที่ผมเคยได้ยิน’ ” เขาเล่าขณะที่เราคุยกันผ่านซูม “ ‘เราควรจะฆ่าพวกมันครึ่งหนึ่งต่างหาก’ ”

ซินแคลร์บอกว่า นั่นคือแนวคิดหลักที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยึดถือ พวกเขาเชื่อว่าประชากรสัตว์ป่าจำเป็นต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระดับสมดุล “ต้องควบคุมพวกมันไว้ครับ” เขาอธิบายความคิดดังกล่าวให้ผมฟัง “ไม่เช่นนั้นพวกมันจะบ้าคลั่งและทำลายทุกอย่าง”

ซินแคลร์ไม่เห็นด้วย “ผมคิดว่าเราสามารถสาธิตให้เห็นว่า ทำไมประชากรวิลเดอบีสต์ใน เซเรงเกติจึงไม่เป็นแบบนั้นได้ครับ”

วิลเดอบีสต์อพยพข้ามทุ่งราบในแอฟริกาตะวันออกเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว ฝูงไม่มีผู้นำตามธรรมชาติ แต่รอยทางเดินนำพวกมันไป เหมือนเป็นความทรงจำหมู่จากการเดินทางครั้งก่อนๆ ในการเดินทางประจำปี พวกมันจะรวมตัวกันเป็นฝูงขนาดมหึมา ล้อมรอบด้วยฝูงขนาดเล็กกว่าที่แยกตัวออกไปหาแหล่งหญ้าดีๆกิน

เขากลับไปเซเรงเกติ และตลอดหลายปีหลังจากนั้น ซินแคลร์กับเพื่อนร่วมงานเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ประการแรกคือประชากรสัตว์นักล่าเพิ่มขึ้น นี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร การมีเหยื่อมากขึ้นหมายความว่ามีอาหารมากขึ้นสำหรับสิงโต ไฮยีนา เสือชีตาห์ และเสือดาว แต่นอร์ตัน-กริฟฟิทส์สังเกตเห็นด้วยว่าเกิดไฟป่าน้อยลง เขากับซินแคลร์พบว่า วิลเดอร์บีสต์ฝูงใหญ่ทำให้ต้นหญ้าสั้นอยู่ตลอด ไฟป่าจึงเกิดไม่บ่อยเท่าหรือไม่ร้อนเท่าเดิม ส่งผลให้ต้นไม้เติบโตได้ แล้วจู่ๆผืนดินกว้างใหญ่ที่เป็นทุ่งหญ้ามาเกือบหนึ่งร้อยปีก็ฟื้นคืนสภาพป่า

การมีต้นไม้มากขึ้นทำให้แมลงมากขึ้น นกมากขึ้น และสัตว์กินใบไม้ ซึ่งรวมทั้งยีราฟและช้าง ก็มากขึ้นด้วย และขณะที่วิลเดอบีสต์ท่องไป มูลของพวกมันก็กระจายไปทั่ว ช่วยให้ดินดีขึ้น หญ้าก็มากขึ้นตามไปด้วยทั้งสำหรับพวกมันเองและสัตว์น้อยใหญ่อื่นๆ

วิลเดอบีสต์ซึ่งมีความหิวและแรงกระตุ้นดั้งเดิมผลักดันให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า วิ่งเหยาะๆเคียงข้างกัน ไหล่เบียดไหล่ สะโพกเบียดสะโพก กล้ามเนื้อของพวกมันมีประสิทธิภาพมากจนสามารถเดินทางนานถึงห้าวันโดยไม่ต้องหยุด ดื่มน้ำ อย่างไรก็ตาม กลิ่นของสิงโตหรือเสือชีตาห์อาจทำให้ฝูงกระจายตัวได้ในทันที

ซินแคลร์ตระหนักว่า เซเรงเกติพลิกโฉมกลายเป็นสถานที่ที่มนุษย์ตัวเป็นๆจำนวนน้อยนิด ถ้าจะมีอยู่บ้าง จดจำได้ และพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือวิลเดอบีสต์ผู้ต่ำต้อย ในตอนนั้น แนวคิดสิ่งมีชีวิตหลัก (keystone species) หรือสัตว์ชนิดเดียวที่ส่งผลสำคัญต่อโครงสร้างและ สุขภาวะของระบบนิเวศ ยังค่อนข้างใหม่ ก่อนหน้านั้น สิ่งมีชีวิตหลักที่ได้รับการระบุล้วนเป็นสัตว์ นักล่าอันดับสูงทั้งสิ้น แต่ในเซเรงเกติ สิงโตไม่ใช่เจ้าป่า เหยื่อของมันต่างหากที่ใช่

พูดกันตรงๆ ซินแคลร์บอกผมว่า “ไม่มีเซเรงเกติ อย่างน้อยก็เซเรงเกติที่เราจำได้ ถ้าไม่มี วิลเดอบีสต์ครับ”

เรื่อง ปีเตอร์ กวิน
ภาพถ่าย ชาร์ลี แฮมิลตัน เจมส์

สามารถติดตามสารคดี วิลเดอบีสต์: ราชาแห่งเซเรงเกติ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนธันวาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/536482


อ่านเพิ่มเติม ความร้อนระอุของทะเลทราย คาลาฮารี ที่ผลักสิ่งมีชีวิตให้อยู่บนขอบเหวการอยู่รอด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.