ฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดตัวเท่าไก่ฟ้าถูกค้นพบในประเทศจีน และเจ้าฟอสซิลนี้กำลังทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของการบินในสัตว์
ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้มีนามว่า Serikornis sungei ความพิเศษของมันอยู่ตรงที่ไดโนเสาร์ตัวนี้มีปีกทั้งหมด 4 ปีกด้วยกัน ต้องขอบคุณเส้นขนหนาที่ปกคลุมบริเวณขาหน้าและขาหลังของมัน จึงทำให้มีลักษณะคล้ายกับว่ามันมี 4 ปีก แต่ที่สร้างความงงงวยให้แก่นักบรรพชีวินวิทยาก็คือ ดูเหมือนว่าเจ้า Serikornis ตัวนี้จะบินไม่ได้
“เส้นขนของ Serikornis เป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นถึงขนย่อยอันสมบูรณ์แบบ มันคือโครงสร้างเล็กๆ ที่ช่วยให้ขนทั้งหมดสามารถสร้างแรงต้านอากาศขณะขยับปีกได้” Ulysee Lefevre นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติรอยัลเบลเยียม ในกรุงบรัสเซลส์ หัวหน้าการศึกษาวิจัยครั้งนี้กล่าว
“เส้นขนเรียงตัวประกอบกันเป็นปีกทั้งสี่ เหมือนกับฟอสซิลไดโนเสาร์หลายชนิดที่ค้นพบในจีน แต่เส้นขนเหล่านี้ไม่ได้เอื้อให้พวกมันโผบินขึ้นจากพื้นดิน หรือจากต้นไม้”
นอกจากนั้น Lefevre และทีมของเขาเสนอทฤษฎีว่า Serikornis น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสายพันธุ์แรกๆ ของไดโนเสาร์ที่มี 4 ปีก ซึ่งไม่สามารถที่จะกระพือปีกเพื่อโผบิน หรือแม้แต่ร่อนไปมาระหว่างต้นไม่ได้ ตรงกันข้ามเจ้าสิ่งมีชีวิตนี้มักใช้เวลาตลอดช่วงชีวิตของมันบนพื้นของป่า
ไดโนเสาร์อันละมุน
ฟอสซิลอายุ 160 ล้านปีของ Serikornis ถูกค้นพบเมื่อปี 2014 รายงานการศึกษาเพิ่งจะถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร The Science of Nature ประจำเดือนนี้ ตัวฟอสซิลถูกค้นพบในมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ภูมิภาคที่โด่งดังทางบรรพชีวินวิทยา เพราะมีการค้นพบฟอสซิลของนกในยุคแรกเริ่มและ ไดโนเสาร์มีขน มากมายที่นี่
ไดโนเสาร์มีขนที่มีสี่ปีกถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในมณฑลนี้เมื่อปี 2000 มันมีชื่อว่า ไมโครแรปเตอร์ (Microraptor) และก่อนหน้านี้ในชั้นหินเดียวกับที่มีการค้นพบ Serikornis ยังเคยมีการค้นพบไดโนเสาร์ที่มีสี่ปีกอีก 2 ชนิดได้แก่ Aurornis และ Anchiornis เมื่อมีการค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีปีกมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิทยาศาสตร์หลายคนจึงเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ว่าไดโนเสาร์มีขนเหล่านี้น่าจะมีความสำคัญในฐานะวิวัฒนาการแรกเริ่มในการบินของนก
Lefevre และทีมของเขาตั้งชื่อไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่เพื่อเป็นเกียรติแก่ Sun Ge นักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยา ในเหลียวหนิง ผู้ศึกษาฟอสซิล และชื่อนี้ยังมาจากลักษณะเฉพาะตัวของมัน เนื่องจากเส้นขนอันหนาปกคลุมมันทั้งตัวมีลักษณะอ่อนนุ่ม มันวาว คล้ายกับผ้าไหม และคำว่า Seriko เองก็มาจากภาษากรีกแปลว่า “ผ้าไหม” เช่นกัน
จากการศึกษา ไดโนเสาร์ตัวนี้มีความสูงประมาณ 1.5 ฟุต มันมีฟันซี่เล็กที่แหลมคม และร่างกายที่ปกคลุมด้วยขนเล็กๆ อ่อนนุ่มทั้งตัว อย่างไรก็ตามบริเวณขาหน้าและขาหลังเส้นขนที่ปกคลุมกลับเป็นขนอีกประเภท คือเป็นเส้นขนที่มีแกนตรงกลางคล้ายกับขนนกสมัยใหม่ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
นั่นคือสิ่งที่ทำให้เรื่องราวของ Serikornis ยังคงเป็นปริศนา รายงานจาก Lefevre ขนปีกของไดโนเสาร์ไม่เบาและแข็งแรงพอที่จะสามารถต้านแรงโน้มถ่วงได้ ดังนั้นแล้วเขาจึงตั้งสมมุติฐานว่า ไดโนเสาร์เหล่านี้น่าจะใช้ขนของพวกมันในการระบายความร้อน หรือเพื่อจับคู่ผสมพันธุ์
สะดุดขนตัวเอง?
การค้นพบนี้เป็นการเพิ่มความรู้ใหม่เกี่ยวกับเส้นขนอันหลากหลายของไดโนเสาร์ ที่มีขึ้นเพื่อวัตุประสงค์อื่นๆ นอกเหนือไปจากเพื่อการบิน Thomas R. Holtz นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ จากเมืองคอลเลจพาร์กกล่าว
ขนที่ยาวบริเวณขาและเท้าของไดโนเสาร์เป็นลักษณะที่นกในยุคแรกเริ่มและไดโนเสาร์มีขนอื่นๆ มีร่วมกัน “เส้นขนมีส่วนช่วยให้การบินมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับสัตว์ที่บินไม่ได้ เส้นขนต้องมีไว้สำหรับการใช้งานในด้านอื่นแทน” Holtz กล่าว
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยว่าเจ้า Serikornis ไม่สามารถบินได้ Mike Benton นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในสหราชอาณาจักร เชื่อว่าไดโนเสาร์ชนิดนี้ไม่ได้อาศัยอยู่แค่บนพื้นดินเพียงอย่างเดียว
“ขนที่ขาด้านหลังย่อมเป็นอุปสรรคในการวิ่งบนพื้นดิน” Benton กล่าว “ขนที่ยาวบริเวณขาหลังของมันจะถูกับก้นของมันไปมาในขณะที่มันเดินหรือวิ่ง”
ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าไดโนเสาร์มีขนที่มีสี่ปีกนี้ คือต้นแบบของวิวัฒนาการการบินในสัตว์ และในช่วงแรกเริ่ม ไดโนเสาร์อย่าง Serikornis น่าจะใช้ขนเหล่านี้ช่วยในการตะกายไปตามต้นไม้ สำหรับการไล่จับแมลงหรือสัตว์อื่นๆ เป็นอาหารหรือหากต้องการหนีให้รอดพ้นจากนักล่า มันก็สามารถกระโจนจากกิ่งไม้หนึ่งไปยังอีกกิ่งไม้หนึ่งได้
ด้าน Lefevre ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ไดโนเสาร์ตัวเล็กๆ เหล่านี้จะสามารถกระโจนจากต้นไม้ลงสู่พื้นดินได้แต่ความสามารถนั้นก็ยังห่างไกลมากจากการบิน “ขนของพวกมันไม่สามารถช่วยให้บินได้แบบนกในปัจจุบัน แต่สามารถช่วยชะลอความเร็วได้” เขากล่าว
มรดกจากญาติของพวกมัน Serikornis ยังมีกรงเล็บแหลมคมที่ช่วยให้พวกมันเกาะต้นไม้ได้ Lefevre กล่าวเสริม “ยังคงมีปริศนาอีกมากที่ต้องใช้เวลา ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับฟอสซิลนี้ให้ดียิ่งขึ้น”
โดย จอห์น พิคเรล
อ่านเพิ่มเติม : ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีมาบนโลก, พบฟอสซิลลูกนกจากยุคไดโนเสาร์อยู่ในอำพัน