สานภารกิจพิทักษ์กอริลลาสุดสายหมอก

สานภารกิจพิทักษ์กอริลลาสุดสายหมอก

ไม่นานหลังฟ้าสาง กอริลลา ภูเขาสองตัวโหนตัวอย่างสง่างามข้ามกำแพงหินที่กั้นเขตอุทยานแห่งชาติโวลเคโนส์ (Volcanoes National Park) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดา  เจ้า “หลังเงิน” (silverback – หลังเงินคือคำเรียกกอริลลาภูเขาเพศผู้ที่มีแถบขนสีขาวพาดกลางหลังเมื่อโตเต็มวัย) ทั้งสองทิ้งตัวเบาๆลงบนพื้นหญ้า และวิ่งลัดทุ่งลงเนินที่ชาวบ้านเพาะปลูกด้วยการควบสี่เท้า ก่อนจะลุกขึ้นเดินสองเท้า พวกมันขยับย่างไปทางดงต้นยูคาลิปตัส และเอาฟันหน้าครูดแทะเปลือกไม้กิน  เมื่อสมาชิกเพศเมียและพวกวัยเยาว์ในฝูงที่นักวิจัยตั้งชื่อให้ว่า ไททัส ตามมาสมทบ พวกมันก็พากันบ่ายหน้าไปยังกอไผ่สูงชะลูด

ในช่วงสายวันเดียวกัน เวโรนิกา เวเชลลิโอ ผู้จัดการโครงการกอริลลาของกองทุนกอริลลาระหว่างประเทศ ไดแอน ฟอสซีย์ (Dian Fossey Gorilla Fund International) นั่งอยู่บนท่อนไม้ในอุทยานซึ่งอยู่บนเทือกเขาวีรุงกา เธอหันไปพินิจกอริลลาหลังเงินชื่ออูร์วีบุตโซ  ผู้ชอบโดดกำแพงออกไปนอกเขตอุทยานและกำลังบรรจงพับใบทิสเซิลก่อนส่งเข้าปาก พอมันหันมาหาเธอ เวเชลลิโอ ก็ถ่ายภาพและซูมเข้าไปดูแผลที่จมูกของมัน

“มันสู้กับหลังเงินอีกตัวจากฝูงไททัสเมื่อเช้านี้ค่ะ” เธอกระซิบ

เวเชลลิโอเล่าว่า ฝูงไททัสแอบปีนรั้วออกนอกเขตอุทยานมา 10 ปีแล้ว และไปไกลขึ้นทุกปี สถานการณ์ไม่สู้ดีนัก กอริลลาไม่กินมันฝรั่งหรือถั่วที่ชาวบ้านปลูก อย่างน้อยก็ยังไม่กินในตอนนี้ แต่พวกมันทำลายต้นไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่า และเข้าไปใกล้สิ่งปฏิกูลจากมนุษย์และปศุสัตว์ซึ่งเต็มไปด้วยจุลชีพก่อโรค ความเป็นไปได้ที่เชื้อโรคจะแพร่ข้ามสายพันธุ์มีอยู่สูง และโอกาสที่กอริลลาจะรอดชีวิตจากการระบาดของโรคร้ายแรงก็จัดว่าต่ำ ดังนั้นเมื่อฝูงไททัสเข้าใกล้บ้านที่สร้างด้วยไม้และโคลนในหมู่บ้านบีซาเต ซึ่งมีประชากรราว 10,000 คน เจ้าหน้าที่อุทยานจะโบกลำไผ่ไปมาช้าๆ เพื่อไล่พวกมันให้กลับขึ้นเขา

เกษตรกรจากหมู่บ้านบีซาเต ใกล้กับอุทยานแห่งชาติโวลเคโนส์ เคยชินกับการที่กอริลลาภูเขาออกจากป่ามากินไผ่ที่พวกเขาปลูกไว้ใช้สร้างบ้านเรือน ทำให้พวกมันเสี่ยงที่จะติดโรคร้ายแรงจากมนุษย์หรือปศุสัตว์มากขึ้น

ไดแอน ฟอสซีย์ ชาวอเมริกันผู้ไม่มีประสบการณ์ในการวิจัยสัตว์ป่า เดินทางมาแอฟริกาเพื่อศึกษากอริลลาภูเขาในช่วง ปลายทศวรรษ 1960 เพราะได้แรงกระตุ้นจากหลุยส์ ลีคีย์ นักมานุษยวิทยา และด้วยทุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก พอถึงปี 1973 ประชากรกอริลลาแถบเทือกเขาวีรุงกาก็เหลืออยู่ไม่ถึง 275 ตัว แต่ทุกวันนี้ มาตรการอนุรักษ์เข้มข้นขั้นสุดซึ่งประกอบด้วยการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความพยายามต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ชนิดกัดไม่ปล่อยและการแทรกแซงของสัตวแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน ส่งผลให้พวกมันมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 480 ตัว

การมีกอริลลาเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม กล่าวคือ เป็นเวลาหลายปีที่นักวิจัยพบหลักฐานซึ่งเป็นผลของการผสมแบบเลือดชิด (inbreeding) เช่น เพดานโหว่ และพังผืดที่นิ้วมือและนิ้วเท้า แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นก็มีข้อเสียเช่นกัน “ขนาดฝูงใหญ่ขึ้นค่ะ” เวเชลลิโอบอก ฝูงปาโบลมีสมาชิก 65 ตัวเมื่อปี 2006 แต่ตอนนี้เหลืออยู่ราวๆ 25 ตัวซึ่งยังสูงกว่าฝูงกอริลลาทั่วไปในเทือกเขาวีรุงกาของยูกันดาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเกือบสามเท่า “ความหนาแน่นของฝูงในบางพื้นที่ก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน” เวเชลลิโอเสริม

ความขัดแย้งระหว่างฝูงซึ่งทำให้กอริลลามีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะบาดเจ็บ หรือฆ่าลูกอ่อนเพื่อกำจัดเชื้อสายของคู่แข่งพบบ่อยกว่าเมื่อสิบปีที่แล้วถึงหกเท่า “เราพบว่าระดับความเครียดสูงขึ้นด้วยค่ะ” เวเชลลิโอบอก และนั่นอาจส่งผลให้โรคที่เกิดจากความเครียดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ปัญหาเหล่านี้จะไม่รุนแรงมาก ถ้ากอริลลาภูเขามีพื้นที่ให้ท่องไปไม่จำกัด แต่อุทยานแห่งชาติโวลเคโนส์มีพื้นที่เพียง 160 ตารางกิโลเมตร และจำนวนผู้คนที่หิวกระหายอยากได้พื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ซึ่งนับจะมีเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านละเมิดกฎของอุทยานโดยปีนรั้วหินเข้ามาตัดฟืน ล่าสัตว์ หาน้ำผึ้ง และตักน้ำในฤดูแล้งเป็นประจำ

การตะลุยดงยูคาลิปตัสและไผ่ในช่วงเช้าบอกชัดว่า  ฝูงไททัสคุ้นชินกับการออกนอกเขตป่า แต่กอริลลามีภูมิต้านทาน  โรคของมนุษย์น้อยนิด  และความไม่อินังขังขอบกับมนุษย์ก็ทำให้พวกมันตกอยู่ในความเสี่ยง

ถ้าฟอสซีย์ไม่ปกป้องกอริลลาและถิ่นที่อยู่ของมันอย่างเกรี้ยวกราด ทุกวันนี้ เราอาจไม่ได้เห็นภาพฝูงกอริลลานั่งๆนอนๆ อยู่บนเนินสูงของเมานต์สการีซิมบี แต่วิธีการของฟอสซีย์ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนไม่น้อยเห็นเธอเป็นศัตรู

เช้าวันฟ้าครึ้มวันหนึ่ง ฉันใช้เวลาเกือบสองชั่วโมงเดินทางจากชายหมู่บ้านบีซาเต  ลุยโคลนครึ่งแข้งและฝ่าดงต้นเน็ตเทิลสูงถึงบ่าไปยังสถานีวิจัยบนช่องสันเขาสูงระหว่างเมานต์การีซิมบีกับวีโซเคที่ฟอสซีย์จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1967 สถานีที่ฟอสซีย์ตั้งชื่อว่าคารีโซคี (คารีโซกเช) นี้เริ่มต้นจากเต็นท์สองหลังจนมีบ้านพักและโรงเรือนกว่าสิบสองหลัง ทุกวันนี้ ที่นี่ยังเหมือนเมื่อครั้งที่ฟอสซีย์ยังมีชีวิตอยู่  ลำธารสายหนึ่งไหลผ่านที่โล่งกลางป่า ตอนที่ซากลูกกอริลลาหายไป ฟอสซีย์นั่งคุดคู้ตรงริมธารสายนี้หลายชั่วโมง เพื่อตรวจสอบมูลของกอริลลาตัวเต็มวัยด้วยหมายจะหาหลักฐานที่ไม่อาจโต้แย้งได้ของการกินพวกเดียวกันเอง แต่ไม่เคยพบ

หลังจากผู้บุกรุกลงมือสังหารฟอสซีย์ที่นอนหลับอยู่ในกระท่อมเมื่อปี 1985 ซึ่งยังคงเป็นคดีปริศนา นักวิจัยยังคงทำงาน ที่คารีโซคีต่อไป สถานีวิจัยปิดตัวในช่วงที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี 1994 และพวกกบฏก็บุกป่าเข้ามารื้อค้นปล้นชิง ทุกวันนี้ศูนย์วิจัยคารีโซคี (Karisoke Research Center) ที่ขยายใหญ่ขึ้นมาก บริหารจัดการและสั่งการจากสำนักงานทันสมัยในเมืองมูซันเซที่อยู่ใกล้ๆกัน

แม้เส้นทางจะลาดชัน ฝนจะกระหน่ำ และอุณหภูมิอาจลดต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง ก็ยังมีคนเดินเท้ามาถึงคารีโซคีเพื่อรำลึกถึงฟอสซีย์ราวปีละ 500 คน หลายคนรู้จักเธอจาก กอริลลาสุดสายหมอก (Gorillas in the Mist)  หนังสือที่เธอเขียนซึ่งเป็นที่มาของภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่ออกฉายเมื่อปี 1988  ทว่าช่วงที่ฉันไปที่นั่น แทบไม่มีใครอื่นเลย ขณะที่ฉันเดินสำรวจสถานที่ พยายามนึกภาพการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ของฟอสซีย์ ลูกหาบก็ขะมักเขม้นขูดไลเคนออกจากป้ายไม้หน้าหลุมศพกอริลลา 25 ตัวแค่พ้นสุสานอันเรียบง่ายนี้ไป ก็จะพบป้ายสำริดเหนือหลุมศพของฟอสซีย์แล้ว

ฟอสซีย์เดินเล่นกับโคโคและพักเกอร์ กอริลลาน้อยทั้งสองถูกจับเมื่อปี 1969 เพื่อขายให้สวนสัตว์แห่งหนึ่งในเยอรมนี และได้รับบาดเจ็บ เธอพยาบาลลูกกอริลลากำพร้าทั้งคู่จนหายดี ถึงขนาดให้พักร่วมกระท่อมด้วย แต่ท้ายที่สุด เธอก็ไม่อาจช่วยให้พวกมันรอดพ้นจากการใช้ชีวิตในสถานเพาะเลี้ยงได้

หญิงร่างสูง ปากตรงกับใจอย่างฟอสซีย์ไม่ใช่ที่รักของทุกคน ชาวบ้านหลายคนในพื้นที่เห็นเธอเป็นจอมแส่หรือแม่มดซึ่งไม่เพียงบ่อนทำลายประเพณีดั้งเดิม แต่ยังเป็นสิ่งคุกคามผู้คนที่พึ่งพาผืนป่าเพื่อยังชีพ ฟอสซีย์ประกาศสิ่งที่เธอให้ความสำคัญอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น

เธอไล่คนเลี้ยงสัตว์และปศุสัตว์ออกจากอุทยาน เพราะสัตว์พวกนั้นเหยียบย่ำทำลายพืชที่กอริลลาชอบกิน ทุกปีเธอทำลายกับดักและบ่วงแร้วหลายพันอันที่ชาวบ้านวางไว้เพื่อจับแอนทิโลปและควายป่า กับดักเหล่านี้ไม่ทำให้กอริลลาตายทันที แต่จะรัดแขนขาจนทำให้เกิดเนื้อตายหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต

ฟอสซีย์จับและทำร้ายร่างกายพวกลักลอบล่าสัตว์ ด้วยต้นเน็ตเทิลหนาม เผากระท่อมของพวกเขา ยึดอาวุธ และครั้งหนึ่งเธอถึงกับจับลูกของพรานคนหนึ่งเป็นตัวประกัน แต่กลยุทธ์ที่ได้ผลที่สุดของเธอและเป็นส่วนหนึ่งในมรดกที่ตกทอดมาจนทุกวันนี้ คือการจ้างคนพื้นเมืองให้ลาดตระเวนในอุทยานและยืนกรานให้เจ้าหน้าที่ทางการของรวันดาบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการลักลอบล่าสัตว์ แม้ฟอสซีย์จะเป็นพวกสุดโต่ง แต่ก็อย่างที่เจน กูดอลล์  ผู้เชี่ยวชาญด้านชิมแปนซี เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าไดแอนไม่อยู่ที่นั่น ทุกวันนี้อาจไม่เหลือกอริลลาภูเขาในรวันดาแล้วก็เป็นได้”

เรื่อง เอลิซาเบท รอยต์

ภาพถ่าย โรแนน โดโนแวน

 

อ่านเพิ่มเติม

ภาพถ่ายสัตว์ป่าจาก ไมเคิล ‘นิก’ นิโคลส์ ผู้เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสัตว์ป่าไปตลอดกาล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.