ตามติดชีวิตนกอพยพกับการใส่ห่วงขา ที่อาจบอกได้ถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ตามดูการทำงานของนักปักษีวิทยา เมื่อติดห่วงขานกแล้ว

วิทยาศาสตร์เล่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับนกบ้าง

เมื่อนักปักษีวิทยาติดอุปกรณ์ติดตามเข้าที่ตัวนก ซึ่งอาจจะเป็นเพียงห่วงขาที่ระบุหมายเลขประจำตัว หรือเครื่องติดตามด้วยดาวเทียม (satellite telemetry) ซึ่งสามารถติดในนกที่ขนาดใหญ่ขึ้นได้ พวกเขาจะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับนกตัวนั้นโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นวันเดือนปี สถานที่พบ ความยาวปีกและหาง ขนาดของปากและขา สุขภาพและความสมบูรณ์ของนก รวมทั้งระยะการผลัดขน เพศ อายุ และถ้าหากนกตัวนั้นถูกจับได้อีกครั้ง การเปรียบเทียบรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันก็จะช่วยให้บรรดานักวิจัยสามารถวาดภาพวงจรชีวิตของนกตัวนั้นได้ดีขึ้น

รายละเอียดและระยะเวลาของสถานที่พบยังมีความสำคัญเป็นพิเศษในชนิดนกที่อพยพ การศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายปีช่วยให้นักปักษีวิทยาทั่วโลกวาดภาพเส้นทางบินอพยพ หรือ flyways ที่บรรดานกหลายหลากชนิดใช้อพยพหนีหนาวและกลับไปทำรังวางไข่เป็นประจำทุกปี

นกนางนวลแกลบขั้วโลกเหนือ (Arctic tern, Sterna paradisaea) เจ้าของขนาดตัวเพียง 28-41 เซนติเมตร ที่เดินทางมากกว่า 70,000 กิโลเมตรระหว่างขั้วโลกเหนือและใต้ในแต่ละปี ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา, Svalbard

นกบางชนิดมีระยะทางการอพยพที่ไกลอย่างน่าทึ่ง เช่น นกนางนวลแกลบขั้วโลกเหนือ (Arctic tern, Sterna paradisaea) ที่อพยพไปกลับระหว่างขั้วโลกเหนือและใต้ หรือเป็นระยะทางมากถึง 70,000 กิโลเมตรในแต่ละปี แม้มันเองจะมีขนาดตัวเพียง 28-41 เซนติเมตรเท่านั้น ในปี 2019 มีการค้นพบซากนกนางนวลแกลบขั้วโลกเหนือที่ Forvie National Nature Reserve ในสกอตแลนด์ [1] ซึ่งมีบันทึกย้อนหลังกลับไปถึง 32 ปีนับจากถูกนักวิจัยใส่ห่วงขาตั้งแต่ยังเป็นลูกนก เท่ากับว่านกนางนวลแกลบตัวนี้อาจได้เดินทางมากกว่า 2,240,000 กิโลเมตรตลอดช่วงชีวิตของมัน หรือเท่ากับระยะทางจากโลกไปถึงดวงจันทร์ได้ 6 เที่ยวเลยทีเดียว

การขึงตาข่ายจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ตามกิจวัตรประจำวันของนก พอเริ่มสาย แดดเริ่มร้อน โอกาสที่นกจะติดตาข่ายก็น้อยลงตาม นักวิจัยในภาพคือ ฟิลลิป ดี. ราวด์ นักปักษีวิทยาชื่อดังผู้มีคุณูปการต่อวงการนกไทย นอกจากจะเป็นผู้เขียนร่วมในหนังสือคู่มือนกเมืองไทยภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในปี 1991 แล้ว ‘อาจารย์ฟิล’ ยังเป็นนักวิจัยที่มีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมออีกด้วย ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา, เพชรบุรี

การศึกษาชีวิตนกและเส้นทางบินอพยพของมัน นอกจากจะช่วยให้พวกเราอนุรักษ์พวกมันได้ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้พวกเราเข้าใกล้ความเข้าใจระบบนิเวศที่ซับซ้อนของโลกนี้มากขึ้นอีกนิด เช่น เมื่อนกชายเลนอพยพขึ้นมาจากออสเตรเลียเพื่อกลับบ้านในตอนเหนือของทวีปเอเชียและรัสเซียตะวันออกไกล พวกมันจะแวะพักที่เกาะลิบงในทะเลอันดามันของประเทศไทยเป็นเวลาสั้นๆ ซึ่งในตอนนั้นเองที่เมล็ดหญ้าทะเลที่พวกมันกินปะปนเข้าไปกับอาหารหรือติดตัวมากระจายอยู่ที่นี่ [2] ส่งผลให้เกาะลิบงในจังหวัดตรังกลายเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย และส่งผลโดยตรงเป็นบวกต่อจำนวนประชากรพะยูนในพื้นที่นั่นเอง

นักปักษีวิทยาใส่ห่วงขานกอย่างไร

 

 

 

 

 

 

ที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง ซึ่งมีการศึกษาวิจัยนกอพยพตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการที่นำโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยเป็นประจำทุกปี ตาข่ายจะถูกขึงในเทรลด้านในลึกเข้าไปของเกาะเพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้มาท่องเที่ยว และปกป้องนกจากความร้อน ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา, เกาะมันใน ระยอง

การใส่ห่วงขานกเป็นงานที่แข่งกับเวลา งานจะเริ่มขึ้นตั้งเช้าตรู่โดยกางตาข่ายซึ่งผลิตด้วยวัสดุพิเศษที่จะไม่บาดตัวนก (เป็นคนละอย่างกับตาข่ายดักจับนกทั่วไป) เมื่อกางตาข่ายแล้วก็ต้องเดินดูบ่อยๆ เพื่อรีบนำนกที่เข้ามาติดตาข่ายออกโดยไวให้พ้นจากผู้ล่า ความเครียด และความร้อน จากนั้นจึงนำไปวัดขนาดต่างๆ บันทึกรายละเอียดและภาพ รวมทั้งใส่ห่วงขาหรืออุปกรณ์ติดตามชนิดอื่น เป็นขั้นตอนที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้ห่วงนั้นแน่นหรือหลวมเกินไป หรือมีส่วนไม่สบพอดียื่นออกมาจนเป็นที่ลำบากในการใช้ชีวิตตามปรกติของนก ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ตาข่ายที่ดักนกเพื่อการวิจัยนี้ผลิตจากวัสดุพิเศษที่ไม่ทำอันตรายกับตัวนก แต่ถึงอย่างนั้นการแกะนกออกจากตาข่ายก็ต้องใช้ความระมัดระวังและทำอย่างเบามือ บางครั้ง… ก็มีการสู้กลับกันบ้างเล็กน้อย ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

 

 

อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ ตั้งแต่ตาข่ายไปจนถึงชิ้นส่วนอุปกรณ์ติดตามนกได้รับการผลิตมาเป็นพิเศษ เพื่อการวิจัยทางปักษีวิทยาโดยเฉพาะ ต้องไม่มีส่วนคมที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวนก มีขนาดที่เหมาะสมและรบกวนการใช้ชีวิตของนกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ น่ายินดีที่เทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก จนสามารถผลิตเครื่องติดตามด้วยดาวเทียมที่มีแบตเตอรี่ในตัวได้มีขนาดเล็กและน้ำหนักที่เบามากขึ้นกว่าเดิมมาก เครื่องติดตามด้วยดาวเทียมที่ใช้งานวิจัยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนและเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้น มีน้ำหนักรวมทั้งหมดน้อยกว่า 6 กรัม หรือน้อยกว่า 4% ของนกเสียอีก [3]

เทคนิคในการจับนกด้วยมือเดียวที่เรียกว่า ‘ringer’s hold’ คือใช้สามนิ้วที่มีกำลังที่สุดในการจับตัวนกไว้ โดยให้คอนกอยู่ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง และใช้นิ้วนางกับนิ้วก้อยจับขานก ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

ปัจจุบัน นกมีห่วงขาที่มีอายุมากที่สุดที่พวกเรารู้จักคือ “วิสดอม” เลย์ซานอัลบาทรอส (Laysan albatross, Phoebastria immutabilis) ซึ่งครองตำแหน่งนกในธรรมชาติที่อายุยืนที่สุดด้วย คุณแม่วิสดอมในวัยผู้ใหญ่ได้รับการติดห่วงขาเป็นครั้งแรกในปี 1956 และประมาณว่าในตอนนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี โดยทาง United States Geological Survey หรือ USGS คาดการณ์ว่าวิสดอมผ่านการเดินทางมามากกว่า 4,800,000 กิโลเมตร หรือเท่ากับการเดินทางรอบโลก 120 ครั้งด้วยกัน [4]

ใช้คีมพิเศษบีบให้ห่วงสบกันสนิทไม่มีขอบที่เกินมาจนเกะกะและอาจเกี่ยวติดกับอะไรจนเป็นอันตรายต่อตัวนก และตรวจสอบว่าห่วงไม่แน่นหรือไม่หลวมจนรูดผ่านข้อเข่าของนกขึ้นไปได้ ภาพอาจดูหวาดเสียวเล็กน้อยเพราะขานกที่ไม่มีกล้ามเนื้อแบบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นดูช่างบอบบางเสียเหลือเกิน แต่ถ้าเราใส่ห่วงได้ถูกต้อง นกก็จะเรียบร้อยปลอดภัยดี ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

เปโดร เวลาสโก นักกีฏวิทยาชาวสเปนได้กล่าวไว้ “การอนุรักษ์โดยปราศจากการศึกษาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” (‘It’s not possible to do the conservation without the study,” Pedro Velasco.) [5] และนั่นก็เป็นสิ่งที่นักวิจัยทั่วโลกเห็นต้องตรงกันว่า การทำความเข้าใจเส้นทางและสิ่งที่แต่ละชนิดพันธุ์ต้องการในระหว่างการอพยพนั้นส่งผลโดยตรงต่อการอนุรักษ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่ตามเส้นทางบินอพยพเอเชียตะวันออกที่กำลังถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากฝึมือมนุษย์ [3]

 

 


เมื่อใส่ห่วงขาแล้ว นักวิจัยจะลงมือวัดและบันทึกรายละเอียดทางกายภาพต่างๆ ตั้งแต่ความยาวปีก ปาก หาง ไปจนถึงขา รายละเอียดเหล่านี้ถ้าลำพังของนกตัวเดียวอาจดูไม่มีความหมายมาก แต่หากเรามีข้อมูลมากเพียงพอและสามารถแบ่งปันกับเครือข่ายนักวิจัยอื่นๆ ทั่วโลกได้ ข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นเครื่องบ่งชี้ที่สำคัญว่าชนิดพันธุ์นั้นมีความเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงในสภาวะแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

ระหว่างปี 2016 และ 2017 กลุ่มนักวิจัยชาวไทยและต่างประเทศ นำโดย Andrew J. Pierce ทำการติดเครื่องติดตามด้วยดาวเทียมกับเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนเพศเมีย 4 ตัว และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นเพศเมียอีก 4 ตัว ระหว่างการอพยพลงใต้ผ่านประเทศไทย พวกเขาพบว่าเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนอพยพหนีหนาวเป็นระยะทางมากกว่า 3,000 กิโลเมตรจากสุมาตราถึงติมอร์-เลสเต และใช้เวลาที่นั่นราว 84-173 วัน ก่อนจะเริ่มการเดินทางกลับสู่แหล่งทำรังวางไข่ทางตอนใต้และตะวันออกของประเทศจีน รวมระยะทางโดยสมบูรณ์  14,688 และ 9,694 กิโลเมตร ตามลำดับ สามในสี่ของเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นเพศเมียที่ถูกติดตาม ใช้เวลา 168–173 วัน ช่วงฤดูหนาวในซาบะฮ์ กาลีมันตัน และหมู่เกาะบังกาเบอลีตุง ก่อนเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง เหยี่ยวตัวหนึ่งเดินทางกว่า 7,757 กิโลเมตรใน 53 วัน และระยะทางในแต่ละวันนั้น อาจมีตั้งแต่ 382 ถึง 800 กิโลเมตร [3]

เสร็จสิ้นขบวนการทั้งหมด เจ้านกก็อาจมีความยุ่งเหยิงเล็กน้อย ตัวที่ต้องเก็บข้อมูลภาพถ่ายด้วยจึงจำเป็นต้องแต่งสวยกันสักหน่อยก่อนจะบันทึกภาพเป็นหลักฐานต่อไป ซึ่ง ‘ภาพติดบัตร’ ที่ถูกต้องของนกนั้นจะเป็นภาพโปรไฟล์จากด้านข้าง แบบเจ้าแต้วแล้วธรรมดา (blue-winged pitta, Pitta moluccensis) ตัวนี้ ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

แม้เป็นเพียงข้อมูลชุดเริ่มต้นและยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่เราสามารถจะประเมินได้ว่านกอพยพจำนวนมาก อาจใช้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของมันไปกับการอพยพมากกว่าการหากินในพื้นที่หนีหนาวและพื้นที่ทำรังวางไข่เสียอีก การอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพและให้ได้ผลจริง จึงจำต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของนานาชาติตลอดเส้นทางอพยพ มิใช่เป็นความรับผิดชอบของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

นกอพยพแวะพักที่ไหนระหว่างทาง

ทุกวันนี้ ประเทศไทยเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ หรืออนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์ทั้งหมด 15 แห่ง และเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอนุรักษ์นกอพยพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Migratory Waterbirds Conservation Committee หรือ MWCC)

บรรยากาศช่วงเช้าขณะตามนักวิจับไปขึงตาข่าย ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา, เพชรบุรี

อย่างไรก็ตาม การลดลงของพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพ ไปจนถึงการขุดทำลายพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อนกอพยพ เช่น การก่อสร้างท่าเทียบเรือบริเวณอ่าวปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและพื้นที่แรมซาร์ไซต์, การก่อสร้างในแหลมปะการัง จังหวัดพังงา และโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เกาะพระทอง (ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง, และเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนแรมซาร์เช่นเดียวกัน) ที่อาจถูกทำลายไปเงียบๆ ถ้าหากไม่เป็นข่าวขึ้นมาเสียก่อน ก็ยังนับว่าน่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง

แหลมปะการัง จังหวัดพังงา, 13 ธันวาคม 2021 ภาพโดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง

พื้นที่แวะพักผ่อนและหากินระหว่างเส้นทางบินอพยพของนก เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออัตราการอยู่รอด การลดลงของพื้นที่ที่เปรียบเสมือนเป็นปั๊มน้ำมันเหล่านี้ ทำให้นกต้องบินเป็นระยะทางที่ไกลขึ้นระหว่างแต่ละจุด นอกจากนี้ พวกมันยังต้องเผชิญกับการล่าและอันตรายจากทั้งธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ รวมทั้งการสภาพแวดล้อมและแหล่งอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกรวน มีการประมาณว่า ทุกๆ ปี กลุ่มนกจับคอน (passerine หรือ songbird) มากถึง 25 ล้านตัวเฉพาะในเส้นทางบินอพยพทะเลดำ-เมดิเตอร์เรเนียนจะไม่ได้กลับบ้านของพวกมันในยุโรป เนื่องจากการล่าอย่างล้างผลาญที่ผิดกฎหมายในประเทศระหว่างการเดินทาง เช่น ไซปรัส และอิตาลี ทำให้จำนวนนกป่าในธรรมชาติลดลงอย่างฮวบฮาบ [6]

เหยี่ยวเพเรกรินที่พบได้ในประเทศไทยมีทั้งชนิดย่อยอพยพและชนิดย่อยประจำถิ่นที่พบได้ยากกว่า ในภาพนี้เป็นเหยี่ยวอพยพพร้อมด้วยซากนกกวักที่มันล่ามาได้ ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา, เกาะมันใน ระยอง

นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (yellow-breasted bunting, Emberiza aureola) เคยเป็นนกอพยพที่พบได้มากที่สุดชนิดหนึ่งของเอเชีย ในปี 1968 เพียงปีเดียวก็มีนกจาบปีกอ่อนอกเหลืองมากถึง 194,000 ตัวถูกจับมาขายในตลาดเมืองไทย [7] โดยพวกมันจะหนีหนาวมาพักแถบอินเดีย เอเชียอาคเนย์ และจีนตอนใต้ แต่จากนกอพยพจำนวนหลักหมื่นหลักแสนในอดีต การล่าอย่างไม่บันยะบันยังทำให้ประชากรของพวกมันลดลงกว่า 90% ทั่วโลกจนถูกจัดให้อยู่ในระดับเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered) จนบางคนอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบนกจาบปีกอ่อนอกเหลืองเป็นนกพิราบพาสเซนเจอร์ (passenger pigeon, Ectopistes migratorius) ของเอเชีย ในอดีตนกพิราบของอเมริกาเหนือชนิดนี้ถูกล่าอย่างหนัก จากนกจำนวนมหาศาลที่รวมฝูงแล้วมืดฟ้ามัวดินจนที่ใครๆ ก็ไม่คิดว่าสูญพันธุ์ได้ ก็เป็นไปแล้วในที่สุด ซึ่งนอกจากนกจาบปีกอ่อนอกเหลืองแล้ว นกจาบปีกอ่อนชนิดอื่น เช่น นกจาบปีกอ่อนหัวเทา (chestnut-eared bunting, Emberiza fucata), นกจาบปีกอ่อนเล็ก (little bunting, Emberiza pusilla) นกจาบปีกอ่อนสีตาล (chestnut bunting, Emberiza rutila) ฯลฯ ก็กำลังลดลงด้วยสาเหตุเดียวกัน นอกจากการล่าโดยเจตนาแล้ว ตาข่ายดักนกที่ขึงในไร่นาเพื่อป้องกันพืชไร่ นอกจากจะเป็นสาเหตุการตายของนกอพยพจำนวนมากแล้ว ยังทำลายประชากรนกอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วยอย่างสูญเปล่า [8]

นกจับแมลงคิ้วเหลือง (Narcissus flycatcher, Ficedula narcissina) นกจับแมลงชนิดนี้ใช้เส้นทางบินอพยพที่ข้ามทะเลเป็นหลัก และเป็นนกอพยพผ่านหรือ passage migrant ที่จะแวะพักหากินเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา, เกาะมันใน ระยอง

สำหรับในเมือง สาเหตุการตายของนกอพยพจำนวนมากในแต่ละปีมาจากการบินชนกระจกและถูกสัตว์เลี้ยงทำร้าย เมื่อปี 2017 มีเหตุการณ์นกอพยพบินหลงพายุแล้วชนกระจกของตึกสูงในรัฐเท็กซัสตายในครั้งเดียวเกือบ 400 ตัว แต่ไม่ใช่เฉพาะตึกสูงเท่านั้นที่เป็นอันตรายกับพวกมัน แม้เพียงกระจกหน้าต่างตามบ้านก็อาจเป็นอันตรายกับนกที่บินมาชนเพราะมองไม่เห็น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม และเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ที่มีประชากรนกอพยพผ่านนอกเหนือไปจากนกประจำถิ่นที่อยู่เดิม ซึ่งพวกเราสามารถช่วยป้องกันได้ด้วยการติดสติ๊กเกอร์ลายเหยี่ยวที่กระจก หรือใช้ปากกายูวีขีดกระจกไว้ ซึ่งปากกายูวีนี้ไม่ปรากฏต่อสายตาของมนุษย์ แต่จะสามารถช่วยชีวิตนกได้เป็นจำนวนมาก ถ้าหากพบนกชนกระจก ในกรณีที่ไม่หนักมาก นกอาจมีอาการมึนงงสักพัก ซึ่งเราสามารถช่วยป้องกันอันตรายจากสัตว์อื่น และอาจนำนกไปไว้ในที่ปลอดภัยที่เงียบสงบจนสามารถบินต่อไปได้เอง หรือนำส่งสัตวแพทย์ถ้าหากมีอาการบาดเจ็บ

นอกจากนี้ ถ้าหากพบเจอนกป่วยหรือตายผิดปรกติ เรายังสามารถรายงานเข้าไปที่กลุ่มเฟซบุ๊ก “พันตา” PANTA (EcoHealth Detectives) (https://www.facebook.com/groups/515376388512666) เพื่อช่วยเหลือนักวิจัยไทยในการเฝ้าระวังสุขภาพสิ่งแวดล้อมของพวกเราเอง หรืออัพโหลดข้อมูลเพื่อแบ่งปันกับนักวิจัยนานาชาติผ่านแอปพลิเคชั่น iNaturalist ที่พัฒนาโดย California Academy of Sciences และ National Geographic Society เพื่อเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คของนักธรรมชาติวิทยา เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์พลเมือง และผู้ที่มีความสนใจในธรรมชาติ ในการทำแผนที่ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพจากทั่วโลก

ในวันข้างหน้า ถ้าหากเทคโนโลยีของเราดีขึ้นยิ่งกว่านี้ เราอาจได้ศึกษาติดตามการเดินทางอันยากลำบากและมหัศจรรย์ของเพื่อนร่วมโลกได้อีกหลายชนิด อย่า ฝูงวาฬสีเทาที่ออกเดินทางจากอะแลสกา ลัดเลาะลงใต้ตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือเป็นระยะทางกว่า 20,000 กิโลเมตรเพื่อให้กำเนิดลูกน้อยที่คาบสมุทรแคลิฟอร์เนียในประเทศเม็กซิโก ชีวิตลึกลับของเต่ามะเฟือง หรือตามติดแมลงปอบ้านปีกแผ่กว้าง Pantala flavescens หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “globe wanderer” เมื่อมันบินข้ามมหาสมุทรก็เป็นได้

……

เรื่องและภาพ  สิริพรรณี สุปรัชญา

อ้างอิง:

[1] “Remains of UK’s Oldest Arctic Tern Found at Nature Reserve.” BBC News, 7 July 2019, www.bbc.com/news/uk-scotland-north-east-orkney-shetland-48899961. Accessed 23 Apr. 2022.

[2] Sánchez, Marta & Green, Andy & Castellanos, Eloy. (2006). Internal transport of seeds by migratory waders in the Odiel Marshes, South-west Spain: consequences for long-distance dispersal. Journal of Avian Biology. 37. 201 – 206. 10.1111/j.2006.0908-8857.03719.x.[3] Pierce, Andrew J., et al. “Determining the Migration Routes and Wintering Areas of Asian Sparrowhawks through Satellite Telemetry.” Global Ecology and Conservation, vol. 31, Nov. 2021, p. e01837, 10.1016/j.gecco.2021.e01837.

[4] Fears, Darryl. “Albatross Named Wisdom Astounds Scientists by Producing Chick at Age 62.” Washington Post, 5 Feb. 2013, www.washingtonpost.com/national/health-science/albatross-named-wisdom-astounds-scientists-by-giving-birth-at-age-62/2013/02/05/f46a68a6-6fc5-11e2-8b8d-e0b59a1b8e2a_story.html. Accessed 23 Apr. 2022.

[5] “Cocooned – Secrets of the Spanish Moon Moth – Documentary.” www.youtube.com, 6 Feb. 2018, www.youtube.com/watch?v=DzPyp8D_87Y. Accessed 23 Apr. 2022.

[6] “Why Millions of Songbirds Never Return from Their Wintering Grounds.” www.youtube.com, 22 Apr. 2022, www.youtube.com/watch?v=_uxvdIgex8s. Accessed 23 Apr. 2022.

[7] “BirdLife International Asia – Three Months Countdown to the Convention of Migratory Species COP12 in Manila” www.facebook.com, 10 July 2017, web.facebook.com/BirdLifeInternationalAsia/photos/a.1562847693951593/1944327772470248. Accessed 23 Apr. 2022.
[8] Yong, Ding Li, et al. “The Specter of Empty Countrysides and Wetlands—Impact of Hunting Take on Birds in Indo-Burma.” Conservation Science and Practice, 8 Mar. 2022, 10.1111/csp2.12668. Accessed 23 Apr. 2022.

อ่านเพิ่มเติม

มหากาพย์นกอพยพ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.