แม่น้ำโขง หนึ่งในแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก ไหลผ่านหลายประเทศที่ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ คาดกันว่ามีปลามากกว่า 2 แสนล้านตัว แต่ปลาเหล่านี้กำลังถูกคุกคามอย่างรุนแรงจนหลายสปีชีส์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง และหนึ่งในนั้นคือกระเบนขนาดใหญ่ยักษ์ที่ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงจากประเทศกัมพูชาจับได้
มันมีความยาวกว่า 3.93 เมตรและหนักราว 180 กิโลกรัม นักวิจัยคาดว่าแอ่งน้ำลึกที่ซ่อนอยู่ภายใต้กระแสน้ำจะเป็นแหล่งหลบภัยให้กับสัตว์มากมายรวมไปถึงปลาขนาดใหญ่ด้วยเช่นกัน กระเบนตัวนี้ถูกจับโดยบังเอิญหลังจากที่มันกลืนเหยื่อจากเบ็ดของชาวบ้าน แต่พวกเขาไม่ต้องการจบชีวิตมัน จึงเรียกทีมนักกู้ภัยและนักวิจัยเพื่อจัดการแทน
“ในตอนแรก พวกเขากลัวว่าจะถูกจับหรือติดคุกหากพวกเขารายงานว่าจับสัตว์ยักษ์ได้” เจีย ไซลา (Chea Seila) จากโครงวิจัย Wonders of the Mekong กล่าว “แต่พวกเราชื่นชมที่พวกเขาทำเช่นนี้ และมองว่านี่เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์” เมื่อนักวิจัยตรวจสอบทุกอย่างเรียบร้อย ปลากระเบนขนาดใหญ่ตัวนี้ก็ถูกปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ
แม้ปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ (Urogymnus polylepis) จะได้รับการจัดให้อยู่ในรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List of Threatened Species) แต่การจับพวกมันในกัมพูชานั้นไม่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านริมแม่น้ำที่ทำประมงจำนวนมากกล่าวว่ามันควรเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง
“นี่คือปลากระเบนยักษ์” ลอง ธา (Long Tha) ชาวประมงหัวหน้าชุมชนท้องถิ่นกล่าวกับเด็กๆ ที่เฝ้ามองสัตว์ตัวใหญ่นี้ “เมื่อเธอโตขึ้น เธอควรปกป้องมัน” ในขณะที่ไซลาเสริมว่า “ฉันเชื่อว่านี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่เราจะปล่อยสัตว์ยักษ์และสัตว์ใกล้สูญพันธุ์กลับคืนสู่แหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมัน”
การวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำโขงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากระบบนิเวศได้เผชิญกับแรงกดดันมหาศาลจากหลายทิศทางไม่ว่าจะเป็นมลพิษพลาสติก ‘อวนผี’ ที่แม้จะไม่ใช้งานแล้วแต่ก็ยังทำอันตรายต่อปลาได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง และรวมไปถึงการควบคุมเขื่อนต้นน้ำให้ไหลตามความต้องการของตนเอง
แม่น้ำโขงอาจเป็นบ้านหลังสุดท้ายของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ที่หลงเหลืออยู่ ทั้งปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์นี้ โลมาน้ำจืดหายากอิรวดีและเต่านิ่มขนาดใหญ่ที่มักถูกลักลอบค้าขาย “นี่เป็นสถานที่สุดท้ายบนโลกที่เราพบสิ่งมีชีวิตเหล่านี้รวมกัน” เซ็บ โฮแกน (Zeb Hogan) นักชีววิทยาที่เป็น National Geo graphic Explorer ที่ศึกษาปลาในแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนานกล่าว
โฮแกนกล่าวว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย “หมายถึงการสูญเสียการประมง สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สูญเสียการดำรงชีวิต และมันจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่นี้ไปตลอดกาล”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา