ภายในเต็นท์สีดำใต้เมฆครึ้มผมเห็นเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังง่วนทำงานอยู่ในบ่อพักฟื้นซึ่งเป็นที่อยู่ของ “ภาระดอน” ลูกโลมาอิรวดีกำพร้าแม่ที่มาเกยตื้นและถูกช่วยเหลือมาเลี้ยงดูที่ศูนย์วิจัยเมื่อช่วงวันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม
ผมไม่ได้ถามว่าชื่อของเจ้าโลมานี้มีที่มาจากไหน แต่คงไม่ได้แปลว่า “ภาระ” ที่เจ้าหน้าที่กำลังต้องพบเจอหรอก (มั้ง) ครับ
ในช่วงแรกที่นำเจ้าภาระดอนเข้ามา มันไม่สามารถทรงตัวหรือว่ายน้ำเองได้เลย และมีบาดแผลบนตัว แต่หลังจากที่ทีมเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์สัตว์น้ำได้ผลัดเวรกันเฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลาร่วมกว่าอาทิตย์ เจ้าโลมาน้อยก็มีสุขภาพดีขึ้นจนสามารถว่ายน้ำไปมาได้เอง จนแทบจะว่าได้ว่าคึกคักจนเกินไป เพราะว่ายน้ำซนแทบไม่หยุดจนเจ้าหน้าที่ต้องคอยดูไม่ให้ว่ายน้ำไปชนขอบบ่อจนเป็นแผล อีกทั้งยังเจริญอาหารมากโดยที่จะมาคอยดูดนิ้วพี่เลี้ยงในเวลาที่หิวนมอยู่บ่อยๆ กินเล่นนอนแทบไม่ต่างอะไรกับเด็กวัยกำลังซน
แต่เนื่องจากลูกโลมาที่ยังไม่หย่านมนั้นแทบไม่มีโอกาสรอดชีวิตได้โดยปราศจากแม่ของมันในธรรมชาติทางเจ้าหน้าที่จึงต้องคอยเลี้ยงดูภาระดอนให้เติบโตแข็งแรงต่อไปอีกหลายเดือนก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับอนาคตของมัน
ในปัจจุบัน โลมาอิรวดีเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและเพิ่งได้รับการเห็นชอบจากการเสนอให้เข้าเป็นสัตว์สงวนโดยคณะกรรมการทะเลแห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ในธรรมชาติของโลมาชนิดนี้ยังน่าเป็นห่วงมากเนื่องจากพวกมันมีแหล่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่มักได้รับผลกระทบจากมนุษย์เช่นน่านน้ำใกล้ชายฝั่ง แหล่งน้ำกร่อย และแม่น้ำบางสายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
ภัยคุกคามหลักของพวกมันคือการติดเครื่องมือประมงอย่างเช่นที่เพิ่งคร่าชีวิตโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายในแม่น้ำโขงของลาวไปเมื่อต้นปีนี้ หรือที่อาจทำให้ฝูงโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลาหายสาบสูญไปตลอดกาลได้ในอนาคต
เมื่อคำนึงถึงภัยอื่นๆ ที่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมันเช่นมลพิษ การสร้างเขื่อนในแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำที่แห้งเหือดด้วยสภาวะโลกรวนด้วยแล้ว โลมาชนิดนี้จึงถูกจัดสถานภาพว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ Endangered โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
ในค่ำคืนที่ฝนตกเช่นคืนนี้ เหล่าสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลก็ยังคงทำงานกันอย่างหนักอยู่ในบ่อเลี้ยงเพื่อกล่อมภาระดอนให้นอนหลับสบาย ซึ่งผมก็หวังอยู่ลึกๆ ว่าสักวันหนึ่งภาระดอนจะเติบโตอย่างแข็งแรงและมีโอกาสได้คืนกลับสู่ฝูงธรรมชาติ และในขณะเดียวกันก็อยากเห็นว่าญาติ 14 ตัวของภาระดอนในทะเลสาบสงขลาจะยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้ด้วยการยกระดับการตรวจตราและจัดการพื้นที่ประกอบกับความร่วมมือจากชุมชน อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตของพวกเรา
เรื่องและภาพ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ติดตามผลงานเพิ่มเติมของศิรชั
Curated by เอกรัตน์ ปัญญะธารา