แมงดาทะเล : ใต้กระดองดึกดำบรรพ์ 450 ล้านปี

แมงดาทะเล ดำรงเผ่าพันธุ์มายาวนานถึง 450 ล้านปี ตอนนี้ พวกมันมีคุณูปการสำคัญต่อวงการแพทย์  แต่นั่นมาพร้อมกับราคาค่างวดที่ต้องจ่าย

แมงดาทะเล วิวัฒน์ขึ้นเพื่ออยู่ยืนยง ด้วยหางที่มีหนาม กระดองรูปร่างเหมือนหมวกเหล็กในสนามรบ และก้ามแหลมคมที่ปลายขาแปดข้างจากทั้งหมด 10 ข้าง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังดึกดำบรรพ์เหล่านี้แหวกว่ายและคืบคลาน ไปตามก้นสมุทรโดยแทบไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างเลยตลอด 450 ล้านปี

พวกมันเอาตัวรอดจากเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกที่ล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ แต่การรอดพ้นจาก เงื้อมมือมนุษย์อาจยากยิ่งกว่า เช่นเดียวกับสัตว์ทะเลมากมาย แมงดาทะเลถูกจับมากเกินขนาดเพื่อนำไปปรุงอาหาร และการพัฒนาตามแนวชายฝั่งก็ทำลายแหล่งวางไข่ พวกมันยังถูกจับคราวละมากๆ เพื่อสกัดเอาเลือดสีน้ำเงิน ที่มีสารประกอบช่วยในการแข็งตัวของเลือดอันจำเป็นต่อการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัย เลือดของแมงดาทะเลอาจช่วยชีวิตมนุษย์ก็จริง แต่การได้มามักต้องแลกด้วยชีวิตของผู้ให้ โดยเฉพาะในแถบเอเชียที่มักสกัดเอาเลือดทั้งหมด ของแมงดาทะเล แทนที่จะเป็นเพียงบางส่วน

แมงดาทะเลรูปร่างเหมือนรถถังเคลื่อนที่ไปตามแนวปะการังของเกาะปังกาตาลัน ซึ่งได้อานิสงส์จากการปลูกป่าชายเลน และการสร้างปะการังเทียม แมงดาทะเลเป็นสัตว์ในคลาสเมอโรสโทมาทา (Merostomata) ซึ่งแปลว่า “ขาติดอยู่กับปาก” พวกมันเกี่ยวดองกับแมงมุมและแมงป่องมากกว่าพวกครัสเตเชียน

แมงดาญี่ปุ่นหรือแมงดาจีน (Tachypleus tridentatus) สูญเสียประชากรไปกว่าครึ่งหนึ่งในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา แต่ในน่านน้ำรอบเกาะเล็กๆ ชื่อปังกาตาลันของฟิลิปปินส์ ชนิดพันธุ์นี้คือสัญลักษณ์ของความสามารถในการฟื้นตัว ตลอดหลายปี เกาะเนื้อที่ 28 ไร่แห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์จนเสื่อมโทรม ขณะที่แนวปะการังถูกคุกคามจากการทำประมงทำลายล้างด้วยระเบิดและไซยาไนด์ พอถึงปี 2011 แมงดาทะเลเหล่านี้ซึ่งมีขนาดยาวราว 38 เซนติเมตร เป็นหนึ่ง ในสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่หลงเหลือ

เกาะปังกาตาลันซึ่งขณะนี้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเริ่มฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง ความพยายามในการฟื้นฟู แนวปะการังและปลูกป่าทำให้สัตว์จำนวนมากหวนคืนมา รวมถึงปลาหมอทะเลขนาดใหญ่หายากที่เติบโตจนยาวได้ถึงสองเมตรครึ่ง

ปลาตะคองว่ายอยู่เหนือแมงดาทะเลตัวหนึ่งเพื่อหวังจะเก็บเศษอาหารที่ฟุ้งกระจายขึ้นจากพื้นเลน ขณะแมงดาทะเล ขุดหาหอยสองฝาและเหยื่ออื่นๆ เมื่อปลาขนาดใหญ่ขึ้นหวนคืนสู่แนวปะการังอย่างช้าๆ แมงดาทะเลอาจไม่ได้ครองระบบนิเวศอีกต่อไป แต่พวกมันยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความสามารถในการฟื้นตัว

แมงดาทะเลอาจไม่มีเสน่ห์ดึงดูดเหมือนช้างหรือแพนด้า แต่บางทีพวกมันอาจเป็นแรงบันดาลให้ผู้คน หันมาใส่ใจสัตว์ป่ามากขึ้น ผู้คนตระหนักในคุณค่าของแมงดาทะเลมากขึ้นเพราะบทบาทในการช่วยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 นักอนุรักษ์หวังว่า ความตระหนักนี้จะนำไปสู่การปกป้องถิ่นอาศัยของพวกมันอย่างจริงจัง และการหันไปใช้ตัวเลือกสังเคราะห์แทนเลือดแมงดาทะเลในวงกว้าง นั่นเท่ากับช่วยปกป้องพวกมัน เช่นเดียวกับที่พวกมันช่วยชีวิตพวกเรา มาโดยตลอด

แมงดาทะเลซุกซ่อนระบบนิเวศย่อมๆ ไว้ใต้กระดองของมัน วัตถุที่ดูเหมือนขนตามตัวของมันคือไฮดรอยด์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กที่เป็นญาติกับแมงกะพรุน และมีกุ้งอย่างน้อยแปดตัวเกาะอยู่ตามก้ามและซอกหลืบของขา แมงดาทะเลเป็นสัตว์ที่ได้รับการศึกษาค่อนข้างน้อย เรารู้น้อยมากเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของมันกับชนิดพันธุ์อื่นๆ
แมงดาญี่ปุ่นหรือแมงดาจีนตัวหนึ่งดีดตะกอนขึ้นมาจากพื้นโคลนนอกชายฝั่งเขตคุ้มครองทางทะเลเกาะปังกาตาลัน ของฟิลิปปินส์ หลังทุ่มเทความพยายามในการฟื้นฟูอ่าวอยู่นานสิบปี ท้องน้ำสีเขียวของเกาะขนาดเล็กแห่งนี้ก็อุดมไปด้วยแพลงก์ตอนและพร้อมต้อนรับสัตว์ขนาดใหญ่ขึ้นให้หวนคืนมา
นี่ไม่ใช่ภูมิทัศน์ต่างดาว หากเป็นภาพระยะใกล้เป็นพิเศษของท้องแมงดาทะเลส่วนบน ส่วนที่เป็นเหงือกอยู่ด้านล่าง ส่วนที่เห็นเป็นรอยขีดหรือรอยบากคือจุดที่เชื่อมต่อกับโครงร่างแข็งภายนอก จุดสีเข้มด้านล่างคือหนามขนาดเล็กที่อาจทำหน้าที่เหมือนหนวดแมว

เรื่อง   เอมี แมกคีเวอร์

ภาพถ่าย  โลรอง บาเลสตา

ติดตามสารคดี ใต้กระดองดึกดำบรรพ์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/553207


อ่านเพิ่มเติม แมงดาทะเล (Horseshoe Crab)

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.