จากบทความของ Psychology Today โดย คาเรน วู (Karen Wu) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ระบุเอาไว้ว่า แมวส้ม มักมีพฤติกรรม ‘เสี่ยงตาย’ และมีความ ‘เซ็กซี่’ ต่อแมวด้วยกันเองมากกว่าแมวประเภทอื่น จึงทำให้เจ้าขนปุยสีส้มอาจมีสถานะทางสังคม (ของแมว) สูงกว่า และประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์ในพื้นที่ชนบท
บทความได้อ้างอิงถึงงานวิจัยของปอนเทียร์และคณะที่เผยแพร่เมื่อปี 1995 (Pontier et al.(1995)) ที่ได้ทำการสำรวจและศึกษาแบบสุ่มกับกลุ่มตัวอย่างประชากรแมว 59 ถึง 491 ตัวในฝรั่งเศสระหว่างปี 1982 ถึง 1992 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบความถี่และความแปรปรวนของยีนที่ทำให้เกิดขนสีส้มในแมว พวกเขาได้พบกับแนวโน้มที่น่าสนใจสามประการของแมวส้ม ดังนี้
1. แมวสีส้มนั้นพบได้ทั่วไปในชนบทมากกว่าพบในเมืองที่มีจำนวนประชากรแมวต่อพื้นที่แออัดกว่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า แมวส้มอาจประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์มากขึ้นในสภาพสังคมที่มีลักษณะเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่นอกเมือง
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าในสภาพที่ประชากรแมวมีความแออัดน้อยกว่า แมวมักจะผสมพันธุ์จับคู่กันเพียงตัวเดียว ขณะที่ในสังคมเมือง แมวทั้งตัวผู้และตัวเมียต่างมีคู่ผสมพันธุ์กันหลายตัว เหตุผลข้อนี้มีความเกี่ยวโยงกับแนวโน้มที่ 2 ที่นักวิจัยพบ
2.แมวสีส้มมีความน่าสนใจทางเพศมากกว่าแมวสีอื่น ๆ ในสายตาแมวด้วยกันเอง เนื่องมาจากนักวิจัยพบว่าแมวเพศผู้สีส้มนั้นมีน้ำหนักมากกว่าแมวสีอื่น อีกทั้งยังมีขนาดโดยเฉลี่ยใหญ่กว่า เป็นผลให้พวกมันประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์ที่มากกว่าในสถานการณ์ที่ขึ้นอยู่กับการแข่งขันทางร่างกาย
แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากงานวิจัยในปี 2007 โดยปอนเทียร์เช่นเดียวกัน โดยระบุว่าแมวเพศผู้ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะมีอำนาจเหนือกว่าและก้าวร้าวมากกว่า ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการสืบพันธุ์ รวมทั้งมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า ซึ่งเชื่อมโยงไปยังแนวโน้มข้อที่ 3
3. แมวส้มพบได้น้อยกว่าในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่มีผลต่อชีวิต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แมวส้มมีพฤติกรรมที่มักจะเป็นอันตรายถึงตาย ซึ่งส่งผลให้พวกมันพบในพื้นที่เสี่ยงเช่นในสังคมเมือง (เสี่ยงจากอุบัติเหตุ หรือการต่อสู้กับแมวด้วยกันเองจากความก้าวร้าวที่แมวส้มมีมากกว่า) น้อยกว่าพื้นที่่เช่นชนบท
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมกับสีขนอาจเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่ามีความเชื่อมโยงกัน แต่ความสัมพันธ์นี้ก็สามารถพบได้ในสัตว์อื่น ๆ เช่นกันไม่ว่าจะเป็นหนูและนก ยีนบางตัวที่รับผิดชอบต่อพฤติกรรมหรือลักษณะทางกายภาพอื่น ๆ เช่นขนาดของร่างกาย อาจได้รับการสืบทอดควบคู่ไปกับยีนที่รับผิดชอบในการสร้างสีขน และในแมวก็เคยมีงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว (2021) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส ที่ระบุว่าแมวบางสี (ซึ่งประกอบไปด้วยแมวสีส้มตัวเมีย แมวสีขาวดำตัวเมีย และแมวสีเทาขาวตัวเมีย) นั้นมีความก้าวร้าวต่อมนุษย์มากกว่าแมวสีอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามงานวิจัยไม่ได้ระบุหรือยืนยันความเชื่อที่ว่าแมวสีส้มมีความน่ารักและเป็นมิตรกว่า แต่หากการเหมารวมนี้เป็นจริง ก็อาจเป็นเพราะพฤติกรรมที่ดูกล้าหาญ (รวมทั้งเสี่ยงภัยของมัน) ได้สร้างความประทับใจต่อมนุษย์และสร้างความเกรงใจต่อแมวขี้อายสีอื่น ทำให้พวกมันกล้าเข้าหามนุษย์มากกว่า กระนั้นแมวก็ยังเป็นสิ่งลึกลับสำหรับวิทยาศาสตร์ที่ต้องการศึกษาเจ้าขนปุยตัวนี้ร้ายนี้ต่อไป และดูเหมือนว่าจะไม่มีวันสิ้นสุด
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Mauro Sbicego on Unsplash
ที่มา
https://www.jstor.org/stable/3545954
https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1439-0310.2006.01320.x
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.2752/175303712X13479798785779