หมีขั้วโลก ในสายลมร้อน แห่งขั้วโลกอาร์กติก
ระหว่างฤดูร้อนที่กินเวลาสั้นๆ ในภูมิภาคอาร์กติกของแคนาดา หมีขั้วโลก ใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส
การใช้เวลาหนึ่งเดือนกับหมีขั้วโลกในฤดูร้อน เผยให้เห็นด้านอ่อนโยนของสัตว์บกนักล่าขนาดใหญ่ที่สุด
“เรามักพบเห็นหมีขั้วโลกบนนํ้าแข็งและหิมะ” ช่างภาพ มาร์ติน เกรกัส จูเนียร์ บอก “แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกมันไม่มีชีวิตใน ฤดูร้อน” ด้วยความตั้งใจที่จะเผยแง่มุมซึ่งไม่ค่อยมีใครพบเห็นนี้ของหมีขั้วโลก เขาจึงใช้เวลา 33 วันทางเหนือของเมืองเชอร์ชิล รัฐแมนิโทบา แคนาดา ในช่วงฤดูร้อนของ ปี 2020 และ 2021
ยิ่งเกรกัสศึกษาหมีขั้วโลกมากเท่าไร เขาก็ยิ่งเรียนรู้บุคลิกลักษณะของพวกมัน ลูกหมีจอมตื๊อตัวหนึ่งที่เขาตั้งชื่อว่า เฮอร์คิวลิส สูญเสียขาข้างหนึ่ง แต่ก็เอาตัวรอดผ่านสองฤดูร้อนแรกในชีวิตมาได้ ส่วนหมีเพศเมียตัวใหญ่ชื่อ แวนดา ดูเหมือนจะเป็นที่ยำเกรงของหมีตัวอื่นๆ แต่มันใช้เวลาวันๆไปกับการยืดเส้นยืดสายในทุ่งไฟร์วีด
หมีเพศเมียอีกตัวที่ชื่อ วิลมา ดูสบายๆ กับเกรกัส ถึงขนาดที่มันเลี้ยงดูลูกน้อยสองตัว ได้แก่ เพบเบิลส์ และแบม-แบม อยู่ใกล้ๆ จนเขาได้ยินเสียงครางของพวกมัน
เกรกัส ยังสังเกตพฤติกรรมที่เขาแทบไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น หมีและเล็มต้นไม้ใบหญ้าและล่าลูกนกนางนวล พฤติกรรมเหล่านี้ อาจช่วยกลุ่มประชากรหมีขั้วโลกที่นี่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่พวกมันในที่อื่นๆ กำลังอดอยาก
“ภาพถ่ายเหล่านี้แสดงให้เห็นหมีขั้วโลกตัวอ้วนพีและขี้เล่น” เกรกัสบอก แม้ในระดับ โลก สิ่งต่างๆกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทาง ที่ไม่สู้ดีต่อหมีขั้วโลก
เรื่องและภาพ มาร์ติน เกรกัส จูเนียร์
แม้จะมีโดรนบินอยู่ใกล้ๆ แต่หมีขั้วโลกเพศผู้ขนาดใหญ่ที่ช่างภาพ มาร์ติน เกรกัส จูเนียร์ ตั้งชื่อ ให้ว่า สการ์ ดูไม่เดือดเนื้อ ร้อนใจ เกรกัสบอกว่า เขาตั้งชื่อให้หมีหลายตัวเพราะอยากให้คนเชื่อมโยงกับพวกมันในฐานะปัจเจกที่ต้องการการปกป้องหมีสองตัวที่เกรกัสตั้งชื่อให้ว่า เบตตี้กับเวโรนิกา กอดรัดฟัดเหวี่ยงเหนือก้อนหินใหญ่ก้อนนี้อยู่เกือบชั่วโมง ก่อนที่เขาจะเห็นพวกมันอยู่ในตำแหน่งที่ดูเหมือนรูปหัวใจ หมีทั้งสองตัวนี้ดูเหมือนไม่ยอมห่างจากกัน โดยมักเล่นและออกล่าด้วยกันลูกหมีขนาดใหญ่สองตัวดูเหมือนกำลังคุ้มกันผู้เป็นแม่ ขณะที่หมีเพศผู้ตัวหนึ่งมาป้วนเปี้ยนใกล้ๆ แต่ไม่เห็นในภาพนี้แม่หมีออโรราและลูกของมันชื่อ บีนส์ นอนพักรอขณะที่พายุเคลื่อนเข้าใกล้ ฟ้าร้องและฟ้าผ่าเกิดบ่อยครั้งขึ้นในภูมิภาคแถบนี้อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกรกัสบอก ทุกครั้งที่ฟ้าส่งเสียงครืน พวกหมีจะเริ่มตัวสั่นเหมือนเวลาสุนัขได้ยินเสียงพลุหมีขั้วโลกใช้เวลาอยู่ในนํ้ามากเสียจนนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมองว่าพวกมันเป็นสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม มีรายงานในบางกรณีที่พวกมันว่ายนํ้าติดต่อกันนานกว่าสัปดาห์ เป็นระยะทางกว่า 650 กิโลเมตร เพื่อให้ได้ภาพถ่ายใต้นํ้าเช่นภาพนี้ที่หมีขั้วโลกตัวหนึ่งว่ายจากทะเลที่นํ้าแข็งละลายขึ้นฝั่ง เกรกัสพัฒนาอุปกรณ์พิเศษและใช้เทคนิคที่ช่วยให้เขาเข้าใกล้พวกมันได้โดยไม่ถูกมองเห็นแม้แต่หินมนใหญ่ก้อนเล็กๆ ก็ช่วยให้ทัศนวิสัยดีขึ้น ถ้าแม้นเจ้าหมีจะไม่ผล็อยหลับเสียก่อน หมีขั้วโลกรวมถึงเจ้าเวโรนิกาในภาพมักยืนบนหินก้อนนี้ เพื่อมองหาแมวนํ้าหรือไม่ก็หมีตัวอื่นที่อาจเข้ามาทำร้าย เกรกัสหวังจะกลับไปที่ชายฝั่งแห่งนี้ที่เขาเห็นหมีขั้วโลก “อยู่ดีมีสุขและปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม” แต่เขาก็รู้ดีว่าในถิ่นอาศัยส่วนใหญ่ หมีขั้วโลกกำลังตกที่นั่งลำบากจากการที่อุณหภูมิสูงขึ้น“เรามักมองไปรอบ ๆ แล้วบอกว่า ‘เจ้าแวนดาอยู่ไหนกันนะ’ เพราะถ้ามันอยู่ใกล้ๆ เราก็ไม่ต้องกังวลกับหมีตัวอื่น ๆ” เกรกัสพูดถึงหมีเพศเมียร่างยักษ์ แต่ชอบทำตัวสบาย ๆ
ติดตามสารคดี หมีขาวในสายลมร้อน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนกันยายน 2565
สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/557158
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.